ประติมากรรับใช้ชาติ
เคยฝากผลงานประติมากรรมอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญของชาติไว้บนแผ่นดินไทยมากมาย จวบจนวันนี้ ชิน ประสงค์ ในวัย 76 ปี ยังคงทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกรมศิลปากรจัดนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปีพ.ศ. 2561
นำเสนอผลงานอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของศิลปินผู้นี้เป็นครั้งแรก ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร หลายต่อหลายชิ้นเสมือนการบันทึกชีวิตและเส้นทางงานศิลปะมายาวนานนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 จวบตนถึงปัจจุบัน
ช่างจินตนาการ
"ตั้งแต่เด็กๆ ผมเห็นท้องฟ้า ดูรูปร่างก้อนเมฆเป็นรูปพระรามสู้รบกับทศกัณฐ์ คล้ายงานเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ก็จำฝังใจมาเขียนรูปเล่น พอโตขึ้นอีกนิด ผมติดตามพ่อแม่ไปทำนาทำสวน เจอดินตามแปลงขุดมาปั้นอะไรเล็กๆ น้อยๆ เล่นไปตามประสาเด็ก ไม่ก็แอบไปดูเขาตัดกระดาษ แทงหยวก เวลามีงานวัดหรือตกแต่งตามบ้าน กระทั่งเรียนมัธยม ไม่เคยคิดถึงเรื่องศิลปะเลย จนถึงม. 6 ผมอ่านประวัติบุคคลสำคัญของโลกหลายคน มาสนใจไมเคิล แองเจลโล มันช็อกอารมณ์ แบบเฮ้ย ... เราต้องไปเรียนอย่างนี้ดีกว่า แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปเรียนได้ยังไง
พอพ่อรู้เรื่องนี้ ก็หยุดแล้วมองหน้า คงคิดว่าแย่แล้ว คงหากินไม่ได้ ไอ้นี่ไส้แห้งแน่ เพราะยุคนั้นคนมองว่าใครไปเรียนวาดเขียน มีแต่บ้ากับจนเท่านั้น แต่ผมก็ไม่ลดละ สอบเข้าช่างศิลป์ ได้เรียนศิลปะก็ชอบ วันๆ เขียนแต่ภาพทิวทัศน์ตามทุ่งนา ความที่ไว้ผมยาว ชาวบ้านก็กลัว เห็นเราเหมือนคนบ้า ไม่พูดจากับใคร หอบกระดาษไปทุ่งนา เขียนอะไรก็ไม่รู้ ไม่พูดไม่คุยกับใครด้วย คนแถวบ้านมาหาแม่ บอกว่าเนี่ย...ลูกชายไปอยู่กลางทุ่งกลางท่า เขียนอะไรไม่รู้ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรแล้ว พาไปรดน้ำมนต์นะ วัดนั้นดี แม่ก็หัวเราะแล้วมาเล่าให้ผมฟัง
จนมาถึงวันที่ผมจำได้แม่นที่สุด คือ 17 พฤษภา 2505 ถือเป็นวันที่ผมปลื้มใจที่สุด เป็นวันที่ผมก้าวเข้ามาอยู่ในคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร กระหยิ่มยิ้มย่องในใจว่าเราทำสำเร็จแล้ว ก็เรียนมาเรื่อยจนสำเร็จการศึกษา การฝึกฝนวิชาศิลปะในช่วงนั้นเราทำไปเพื่อให้ได้คะแนน อยากจะเอาชนะเพื่อนให้ได้ แต่สู้ยังไงก็ไม่มีทางชนะเลย แต่มีความใฝ่ฝันว่าอยากทำงานอนุสาวรีย์เหมือนอาจารย์สนั่น ศิลากรณ์ ผมมักแอบดูท่านทำงานอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญของชาติในโรงหล่อข้างมหาวิทยาลัย ก็ได้แต่เก็บความคิดว่า จะมีวันนั้นมั้ยหนอ
กระทั่งเรียนจบ อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ พาไปฝากที่กรมไปรษณีย์โทรเลข ก่อนไปทำงาน ท่านยังกระเซ้าว่า ไปตัดผมหน่อยนะ ไม่ถึงขั้นหล่อแค่ให้ดูเรียบร้อยก็พอ ผมไปทำงานออกแบบแสตมป์ก็ทำได้แต่บรรยากาศในที่ทำงาน หันไปดูเพื่อนรอบข้าง ใส่ชุดผูกไทนั่งเก้าอีี้ เพราะเราไม่ใช่คนเรียบร้อย เลยบอกอาจารย์ชลูดว่าผมลาออกนะ ใจผมไม่อยู่ที่นี่
ต่อมาผมมาทำงานในโรงหล่อ กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ตามคำชวนของรุ่นพี่ชื่ออาจารย์สาโรช จารักษ์ แล้วยังได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์สนั่นอีกด้วย ฝันนั้นไม่รู้เป็นจริงได้ยังไง ก็ทำงานเช้ากลับค่ำทุกวัน อยากจะทำแต่งานเพราะฝีมือผมสู้เพื่อนไม่ได้ เราทำงานไม่ทันเขา เลยต้องมุ่งมั่นทำให้ดีที่สุด"
ศิลปะรับใช้ชาติ
ในช่วงชีวิตราชการ อาจารย์ชินสร้างสรรค์งานประติมากรรมบุคคลสำคัญติดตั้งหลายแห่งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ค่ายลูกเสือแห่งชาติ จังหวัดชลบุรี พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทุ่งนาเชย จังหวัดจันทบุรี พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ อนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ จังหวัดแพร่ และอื่นๆ อีกมากมาย
"การออกแบบรูปทรงอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญของชาติ ผมศึกษาประวัติศาสตร์ พระราชกรณียกิจของเจ้านาย บวกกับจินตนาการของศิลปินเสริมเข้าไป เช่น งานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เราค้นคว้าตั้งแต่บริเวณประดิษฐานที่ทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งที่มีเรื่องราวตามประวัติศาสตร์ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีความกล้าหาญ ทรงเป็นนักรบที่มีความคล่องแคล่วว่องไว ดังนั้นในงานประติมากรรม เราจำลองเหตุการณ์รบโดยมีทหารเอกคอยติดตามพระองค์ท่าน เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรแล้ว เป็นที่พอพระราชหฤทัย พวกคณะทำงานปลื้มปีติเป็นอย่างมาก"
นอกจากนี้ งานอนุสาวรีย์ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างของสองแผ่นดิน ทันทีที่ทางญี่ปุ่นทราบข่าวว่าประเทศไทยจะมีการสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ความที่คนญี่ปุ่นก็รักสมเด็จย่า รักในหลวงรัชกาลที่ 9 เช่นเดียวกับคนไทย ทางสมาคมแกะสลักหินแห่งประเทศญี่ปุ่น เชิญอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น อาจารย์ชินและคณะทำงานไปศึกษาดูงานในหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพแกะสลักหิน เพื่อนำเทคนิคต่างๆ มาปรับใช้ให้เข้ากับการทำงานของฝ่ายไทย อีกทั้งยังเผยแพร่ข่าวนี้ออกไปในวงกว้าง
"งานสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จย่า จังหวัดศรีสะเกษ ผมน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ว่า สมเด็จย่าไม่โปรดให้สร้างเป็นอนุสาวรีย์ แต่โปรดให้ทำเป็นงานประติมากรรมในสวนแทน พระอิริยาบถจึงเป็นไปในลักษณะประทับบนก้อนหิน ฉลองพระองค์พอ.สว. สวมพระมาลา ครั้งต่อมาที่ผมมีโอกาสออกแบบพระราชานุสาวรีย์สมเด็จย่าที่สวนสมเด็จย่า คลองสาน ผมสะท้อนความรักความผูกพันของคนไทยมีต่อพระองค์ท่าน สลักลงไปบนหิน ด้วยริ้วขบวนสักการะ ประดับตุงปลิวไสว แล้วยังมีการแสดงระบำรำฟ้อนบนดอยตุงอย่างงดงาม
ส่วนงานที่เป็นเกียรติประวัติในชีวิตอีกงานหนึ่ง คือพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ถนนพระราม 8 เป็นงานหลังเกษียณอายุราชการ และงานประติมากรรมคุณทองแดงและคุณโจโฉในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมภูมิใจมากที่ได้ถวายงานพระองค์ท่าน โดยผมทำงานร่วมกับลูกชาย แม้ผมมีประสบการณ์ทำงานมาหลายสิบปี แต่ทุกชิ้นงานยากหมด ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เราเรียนรู้ใหม่ทุกครั้ง แต่ด้วยเพราะส่วนหนึ่งของกระแสพระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานในวันที่ผมเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรว่า
‘ใช้ความรู้ความสามารถ มารับใช้ชาติ’
และรับใส่เกล้ามาตั้งแต่บัดนั้น ความสำเร็จในหน้าที่การงานจึงเกิดผลสำเร็จเช่นทุกวันนี้"
สร้างสรรค์งานศิลปะส่วนตัว
"ผมทำงานราชการมาเต็มอิ่มเหมือนนักมวยสมัครเล่น ชกแม่นกติกา แต่พอมาทำงานศิลปะส่วนตัวทุกอย่างคืออิสระ ผมพร้อมจะถ่ายทอดวิญญาณความรู้สึกออกมา มีงานชุดหนึ่งที่เป็นตัวตนของผมผ่านประติมากรรมรูปสุนัข เปรียบเสมือนช่วงเรียนรู้ชีวิตการทำงาน งานปั้นหมูป่า เป็นชีวิตการฝึกฝนฝีมือจากอาจารย์ผู้สั่งสอนอย่างหนัก แล้วยังมีงานปั้นรูปม้า เป็นช่วงการทำงานที่มีเกียรติ ได้รับการยกย่องในวงกว้างมากขึ้น โดยรูปทรงของงานประติมากรรม เน้นการคลี่คลายรูปเหมือนให้เหลือแต่แก่นแท้ของรูปทรง ไม่สนใจความผิดถูก ว่าซ้ายขวาต้องเท่ากันอีกต่อไป เป็นเรื่องจิตวิญญาณของคนสร้าง ไม่มีกฏเกณฑ์มาบังคับมากมาย เว้นแต่เราบังคับตัวเอง คนเราต้องทำงาน อาจารย์ศิลป์สอนว่า
‘นายรักฉัน นายไม่ต้องไปทำอะไร นายทำงาน’
เรายึดคำ คำนี้ เหมือนเป็นคำสอนของศาสดาทางศิลปะที่เราเคารพนับถือมาก เราช้าไม่ได้ ขี้เกียจไม่ได้ พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว" ศิลปินคนเดิม กล่าว
บูชาครูบาอาจารย์
ท่ามกลางงานศิลปะที่มีกว่า 70 ชิ้น จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เป็นผลงานชวนให้ผู้ชมฉุกคิดถึงสิ่งที่เป็นไป ได้แก่ งานวาดเส้นที่เกิดขึ้นจากห้วงอารมณ์แบบฉบับพลัน ภาพบันทึกใบหน้าของศิลปิน ภาพชุดการเดินทางเที่ยวเชียงแสนเคียงคู่ถ้อยคำระหว่างศิษย์กับครูเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 54 ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสีสันของการเกิดดับของธรรมชาติ นำไปสู่สัจธรรมแห่งพระพุทธศาสนา อันเป็นต้นแบบให้นำไปสู่งานศิลปะรูปแบบต่างๆ
งานไม้แกะสลัก งานเซรามิก งานสร้างลวดลายบนกระดาษ ล้วนเป็นสื่อศิลปะแทนการร่ายกวี งานประติมากรรมเกี่ยวกับสัตว์ในท่วงท่าอันอ่อนช้อยทว่าสง่างาม สะท้อนความผูกพันของศิลปินกับสิ่งรอบตัว รวมทั้งภาพขณะปฏิบัติงานและรูปสำเร็จผลงานประติมากรรมสุนัขทรงเลี้ยงคุณทองแดงและคุณโจโฉ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเมื่อปีที่ผ่านมา
"ผมจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการไหว้ครู นั่นคืออาจารย์ศิลป์และบรรพบุรุษ ครูบาอาจารย์ที่โรงหล่อ รวมทั้งคนที่ทำให้เราเกิดในแวดวงศิลปะทั้งที่บางคนไม่ได้สอนเราโดยตรง แต่เรียนรู้จากงานของท่าน ปั้นเราให้เป็นต้นกล้าขึ้นมา เช่น อาจารย์สนั่น ศิลากรณ์ อาจารย์อำนาจ พ่วงเสรี อาจารย์แสวง สงฆ์มั่งมี อาจารย์สิทธิเดช แสงหิรัญ สิ่งที่ท่านพร่ำสอนหรือหลายๆ ท่านพูดเสมอว่า แม้จะเกษียณราชการแล้วก็หาที่ทำงาน เรารับปากท่านไว้แล้วก็มุ่งมั่น ทำงานทุกวัน ความสุขของผมคือการได้ใช้จินตนาการบันทึกด้วยตาที่เราเห็นดู สมองสั่งการ แล้วทำมันออกมา ผลก็คือความสุข แล้วอยากแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ไปสู่ผู้อื่นได้ชื่นชมกัน"