เรื่องย่อ การแสดงโขน 'พิเภกสวามิภักดิ์' จัดแสดง3พ.ย.-5ธ.ค.นี้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทอดพระเนตรการแสดงโขน ประจำปี 2561 รอบปฐมทัศน์ ตอน "พิเภกสวามิภักดิ์" โดยจัดแสดงระหว่าง 3 พ.ย. – 5 ธ.ค.นี้
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทอดพระเนตร การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2561 ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” รอบปฐมทัศน์ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันอังคารที่ 30 ตุลาคม 2561
ภายในงานมีบุคคลสำคัญ เฝ้ารับเสด็จฯ และชมการแสดง อาทิ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภรรยา รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา, ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล, หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา, ม.จ.มงคลเฉลิม ยุคล, ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์, ดร.จิรายุ - ท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยุธยา, คุณหญิงกิ่งแก้ว เอื้อทวีกุล, ม.ร.ว.ดิลก - จุฬาลักษณา วรานนท์ จุฑาธุช, อาสา สารสิน, ท่านผู้หญิงสุจิตคุณ สารสิน, ท่านผู้หญิงอินทิรา พลธร, ม.ล.อรจิตรา สนิทวงศ์ , ม.ล.ยุวันวรี กิติยากร, สัณหพิศ โพธิรัตนังกูร, ชนินทธ์ - วิภาดา โทณวณิก, พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์, นวลพรรณ ล่ำซำ ฯลฯ
ซึ่งการแสดงโขนครั้งนี้ ได้นำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่างๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 6 นำมาสอดประสานปรับปรุงการดำเนินเรื่องให้กระชับเหมาะสมกับปัจจุบัน แต่ยังคงอนุรักษ์ศิลปะการแสดงแบบโขนหลวงไว้อย่างครบถ้วน โดยแบ่งเป็นตอนต่างๆ ได้แก่ องก์ที่ 1 สุบินนิมิต ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พิเภกถูกขับ, ตอนที่ 2 พิเภกลาชายาและธิดา, ตอนที่ 3 เนรเทศ
และ องก์ที่ 2 ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พบนิลเอก, ตอนที่ 2 สวามิภักดิ์, ตอนที่ 3 มณโฑทูล ตัดศึก, ตอนที่ 4 สนามรบ และ ตอนที่ 5 แก้หอกกบิลพัท โดยมีฉากไฮไลต์ยิ่งใหญ่อลังการ อาทิ ฉากท้องพระโรงกรุงลงกาที่สวยงามขึ้นด้วยการเพิ่มพระที่นั่งบุษบก, ฉากพิเภกถอดมงกุฎฝากนางตรีชฎาไปคืนทศกัณฐ์ก็ไม่เคยมีมาก่อน, ฉากเรือสำเภาโล้ไปปล่อยพิเภกขึ้นฝั่งก็จัดสร้างอย่างวิจิตรตระการตา พร้อมด้วยฉากที่ใช้เทคนิคสมัยใหม่ ทั้ง รอก สลิง แสง สี และเสียง ที่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจหลายฉากและสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมตลอดการแสดง
หลังจากจบการแสดงแล้ว ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการ จัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ กล่าวว่า“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการแสดงแล้วทรงตรัสชมว่า ฉากสวยงามมากทุกฉาก การแสดงสนุก ดนตรีและเพลงไพเราะ” ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์กล่าว และฝากบอกว่าอยากให้ทุกคนได้มาชมโขนที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงโขนขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เลือกโขนรามเกียรติ์ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” มาจัดแสดง เพื่อสื่อถึงความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยทุกคนที่มีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ยังสื่อถึงการรักษาความเที่ยงธรรมสุจริต
นำแสดงโดยศิลปินระดับแนวหน้าจากกองการสังคีต กรมศิลปากร, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และวิทยาลัยนาฏศิลปกรุงเทพฯ นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ทางคณะกรรมการยังได้จัดให้มีการคัดเลือกนักแสดงตัวเอกรุ่นใหม่ เมื่อปี 2559 ในบท พระ, นาง, ยักษ์ และลิง โดยผู้เข้ารับการคัดเลือกทั้งหมดเป็นนักเรียน นักศึกษา จากวิทยาลัยนาฏศิลป์และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมแสดงในครั้งนี้ด้วย
การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2561 ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน ถึง วันที่ 5 ธันวาคม 2561 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา โทร.02-262-3456 หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 420, 620, 820, 1,020, 1,520 และ 1,820 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 200 บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
....
เรื่องย่อ การแสดงโขน ชุด พิเภกสวามิภักดิ์
การแสดงโขน ชุด พิเภกสวามิภักดิ์ในการจัดทำบท ผู้จัดทำบทได้นำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่างๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๑, รัชกาลที่ ๒, รัชกาลที่ ๖, และบทโขนของกรมศิลปากรที่เคยจัดแสดงมาประมวลในส่วนที่มีชั้นเชิงในการแสดง และความไพเราะของบทเพลง มาเรียงร้อยปรับปรุงขึ้นใหม่ ดังนี้
องก์ที่ ๑ สุบินนิมิต
ตอนที่ ๑ พิเภกถูกขับ
กล่วงถึงทศกัณฐ์สุบินนิมิตว่า มีแร้งขาวบินมาแต่ทิศตะวันออก แร้งดำมาแต่ทิศตะวันตก เมื่อพบกันได้เข้าต่อสู้ แร้งดำแพ้ ร่างตกลงมากลายเป็นพวกยักษ์ และฝันอีกหนึ่งเรื่องว่า ตนเองถือกะลามีสายชนวนพาดอยู่ในมือ และมีหญิงรูปร่างอัปลักษณ์เข้ามาจี้จุดไฟที่สายชนวน จนไฟลุกติดมาไหม้มือ ทศกัณฐ์กลุ้มใจจึงเสด็จออกว่าราชการ และให้พิเภกน้องชายทำนายฝัน พิเภกผู้ถือความซื่อสัตย์สุจริต จึงทำนายว่าเป็นลางร้ายจะเกิดสงคราม ฝ่ายยักษ์จะพ่ายแพ้ ส่วนฝันอีกข้อนั้นเพราะนางสำมะนักขาจะชักโยงให้ศึกครั้งนี้มาล้างอสุรพงศ์พรหม วิธีแก้คือ ให้ทศกัณฐ์ส่งนางสีดามเหสีของพระรามที่พาตัวมา คืนกลับไป ทศกัณฐ์พิโรธเข้าไล่ทำร้าย แต่กุมภกรรณและอินทรชิต ขอพระราชทานโทษ ทศกัณฐ์จึงขับไล่ออกจากลงกาและริบทรัพย์สมบัติ ให้นางตรีชฎาไปเป็นข้านางสีดาที่สวนขวัญ ในการสร้างฉากท้องพระโรงนี้ ผู้ออกแบบฉากได้จินตนาการขึ้นใหม่ ให้มีความวิจิตรงดงามยิ่งขึ้น ในส่วนของการแสดงได้นำการขับร้องเพลงวา ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ คุณหญิงไพฑูรย์ กิติวรรณ นำมาใช้แทนเพลงร้องช้าปี่ของเดิม
ตอนที่ ๒ พิเภกลาชายาและธิดา
ในตอนนี้ได้นำบทพระราชนิพนธ์ ตอนพิเภษณ์ถูกขับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักในการทำบทผสมผสานกับ บทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ของรัชกาลที่ ๒ ดำเนินเรื่องตั้งแต่พิเภกกลับไปยังตำหนัก ลานางตรีชฎาและนางเบญจกาย (บทรัชกาลที่ ๖ นางเบญจกายมีชื่อว่า นันทา) สุดท้ายพิเภกก็ถอดมงกุฏเครื่องยศ ให้ตรีชฎาไปคืนทศกัณฐ์ ซึ่งในตอนนี้มิได้นำมาแสดงบ่อยครั้งนัก เพราะตัวพิเภกจะต้องถอดมงกุฏกลางเวที หัวพิโขนเภกนี้สูญสลายไปหมดแล้ว จึงต้องคิดจัดทำขึ้นใหม่ โดยอาศัยข้อมูลจากบันทึกเรื่องราวในสาสน์สมเด็จ ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวิดติวงศ์ เคยทอดพระเนตร
ตอนที่ ๓ เนรเทศ
ผู้จัดทำบทได้นำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ของรัชกาลที่ ๒ มาเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากบทรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๖ ที่ทำให้พิเภกเหาะข้ามไปจากกรุงลงกา บทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ให้มโหธร เชิญเสด็จพิเภกลงสำเภาออกไปจากกรุงลงกา เมื่อถึงร่องน้ำฝั่งแผ่นดินที่พระรามพักพลอยู่ จึงใช้เรือสำปั้นโล้ไปปล่อยขึ้นฝั่ง ในการแสดงครั้งนี้นับว่าเป็นฉากสำคัญที่งดงามที่สอดประสานกับการขับร้องที่แสดงความโศกสลด ความเที่ยงตรงในสัจจะสุจริต อันเป็นคุณธรรมของพิเภก
--- พักครึ่งเวลา ---
องก์ที่ ๒ หอกกบิลพัท
ตอนที่ ๑ พบนิลเอก
นิลเอก เป็นหนึ่งในทหารเอกของพระรามมีหน้าที่เป็นกองตระเวน พาพลวานรมาปฏิบัติหน้าที่ จนได้พบกับพิเภก พิเภกยอมให้นิลเอกจับตัวได้ และได้พาไปเข้าเฝ้าพระราม
ตอนที่ ๒ สวามิภักดิ์
นิลเอกพาพิเภกเข้ามาเฝ้า พระรามซักถามถึงสาเหตุในการมาจากลงกา พิเภกก็ทูลสนองตามความจริง มิได้ทูลถึงความดีของตนและให้พระรามนั้นพิสูจน์ดูความจงรักภักดีของตนต่อไปในอนาคต และเปรียบเทียบตนเองว่า “ชนธรรมดาย่อมเห็นว่าสูญสิ้นมูลค่า ต่อเมธีมีปัญญาจึงเห็นว่าค่าทองคง” ซึ่งทำให้พระรามพอพระทัย จึงให้สุครีพนำพระแสงศรไปประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาให้พิเภกดื่มสาบาน แล้วท้ายสุดได้พระราชทานแต่งตั้งให้พิเภกเป็นราชา พร้อมทั้งสวมมงกุฏพระราชทาน
การแสดงในช่วงนี้ เป็นการตัดทอนเนื้อเรื่องให้มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับพิเภกโดยดำเนินตาม หลังจากทศกัณฐ์ทูลเชิญท้าวมาลีวราช ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระอัยกามาตัดสินความ แต่ด้วยเหตุผลและความจริงปรากฏว่า ทศกัณฐ์เป็นฝ่ายผิด ท้าวมาลีวราชสั่งให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดา แต่ทศกัณฐ์ลุอำนาจและพาลผิดไม่ยอมคืน ทั้งไปประกอบพิธีเผารูปเทวดาที่หาดทรายกรด ให้เหล่าเทวดาที่มาเป็นพยานนี้สิ้นชีพ สุดท้ายพระอิศวรให้เทพบุตรพาลีแปลงกายมาทำลายพิธีได้
ตอนที่ ๓ มณโฑทูลตัดศึก
เมื่อทศกัณฐ์เสียพิธีมิอาจเผารูปเทวดาที่หาดทรายกรดได้ เพราะเทพบุตรพาลีมาทำลายพิธี จึงกลับเข้าปราสาทชัย นางมณโฑมเหสียุยงว่า การเสียพิธีครั้งนี้น่าจะเกิดจากพิเภกเป็นไส้ศึกบอกความลับ เพื่อให้สิ้นเสี้ยนศึกควรฆ่าพิเภกเสีย ทศกัณฐ์เห็นจริงตามคำทูล จึงสั่งมโหธรให้เร่งจัดทัพ ทศกัณฐ์เองจะออกไปทำศึก ได้ท่วงทีจึงพุ่งหอกกบิลพัทฆ่าพิเภกเสีย
ตอนที่ ๔ สนามรบ + แก้หอกกบิลพัท
กองทัพของทั้งสองฝ่ายยกมายังสนามรบ ก่อนยกทัพมาพิเภกทูลพระรามว่า ศึกครั้งนี้ทศกัณฐ์ต้องการที่จะฆ่าตน พระรามจึงสั่งพระลักษมณ์ให้คอยป้องกัน
ทศกัณฐ์ทำอุบายให้พิเภกออกมาหาตน โดยเสกสรรค์ปั้นความถึงสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่มิอาจตัดขาดจากกัน ในครั้งนี้จะได้เพิ่ม “ทางเล่น” ของบทตลกฝ่ายยักษ์ให้คอยห้ามพิเภก แต่ในที่สุดเมื่อทศกัณฐ์ได้ท่วงทีก็พุ่งหอกกบิลพัทหมายให้ถูกพิเภก แต่พระลักษมณ์ถลันออกมาป้องกัน จึงถูกหอกล้มสลบลง ฝ่ายทัพทศกัณฐ์ได้ชัยชนะจึงยกกลับเข้าเมือง พิเภกทูลพระรามถึงวิธีแก้ไข โดยให้ไปนำสรรพยา “สังกรณีตรีชวา มูลโคอศุภราช แม่หินบดยาจากท้าวกาลนาด และที่สำคัญคือ ลูกหินบดยาที่ทศกัณฐ์ทำเป็นเขนยหนุนนอนอยู่” หนุมานรับอาสาไปนำสรรพยาสิ่งต่างๆ มาแก้ไข
หนุมานนำสรรพยาแม่หินบดและลูกหินมาถวายพระรามได้ทันเวลา พระรามกล่าวชมหนุมาน ซึ่งในบทโขนไม่ปรากฏบ่อยครั้งนัก และมอบสรรพสิ่งต่างๆ ให้พิเภกประกอบพิธีบดและผสมยาแก้พิษหอกกบิลพัทได้สำเร็จ
พระราม พระลักษมณ์พญาวานรพร้อมกองทัพจึงกลับคืนไปยังพลับพลาที่เขาคันธกาลา ด้วยความสวัสดี
--- จบการแสดง ---