ต้นต่อความฮา 'หมอลำมาเนีย' งานวิจัยโลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม
มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับสหมงคลฟิล์ม จัดงานนักวิจัย มข. พบสื่อมวลชน เรื่อง "หมอลำมาเนีย" การต่อยอดจากงานวิจัย จากรากเหง้าทางวัฒนธรรม สู่ภาพยนตร์แห่งจิตวิญญาณ ก่อนจะเข้าโรงพร้อมกันทั่วประเทศ 24 ม.ค.นี้
วานนี้ ( 15 มกราคม 2562) ที่คอมเพล็กซ์ ชั้น 1 ศูนย์อาหารและบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการแถลงข่าวนักวิจัย มข. พบสื่อมวลชน เรื่อง “หมอลำมาเนีย การต่อยอดจากงานวิจัย จากรากเหง้าทางวัฒนธรรม สู่ภาพยนตร์แห่งจิตวิญญาณ” ซึ่งมีศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายเทคโนโลยี รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ นายปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์จากสหมงคลฟิล์ม นายนันทวุธ ภูผาสุก นักวิจัยสาขาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ ทีมวิจัยและนักแสดง
รศ.ดร.นิยม กล่าวว่า เคยเห็นผลงานของนันทวุธ ที่คิดอะไรที่แตกต่าง ได้องค์ความรู้ที่ไม่เหมือนใคร เลยแนะให้เรียนปริญญาโท แม้จะนอกกรอบแต่ปรากฏว่าการทำ Thesis การสร้างสรรค์หลักสูตรวิจัย ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมและการออกแบบไม่ใช่ว่าจะสร้างสรรค์อะไรก็ได้ แต่เมื่อเพื่อเป็นนักวิจัยจะต้องมีการรีเสิร์ทข้อมูล การทำเรื่องหมอลำต้องรู้ทุกอย่างของหมอลำแต่การนำเสนอภาพชัด โดยการทำหนังหมอลำ ปรากฏว่าพรีเซ้นและเขียนเปเปอร์ดี สมบูรณ์หมดเลย ผลงานออกมาแบบนี้เห็นแล้วว่าเป็นคนรักอะไรก็ทำจริงจัง ก็จะเชียร์ต่อไปให้เรียนต่อปริญญาเอก
นายปรัชญา ปิ่นแก้ว กล่าวว่า ได้เห็นผลงานของนันทวุธมาหลายงาน ตั้งแต่เทศกาลหนังเมืองแคน โดดเด่นมากได้ดูมาเรื่อยๆ เป็นที่จับตาน่าจะเป็นอนาคตคนหนึ่งของหนังไทย เมื่อมาเรียนปริญญาโท และทำหนังเพื่องานวิจัย วิธีคิดของเชิงธุรกิจกับการศึกษาไม่เกี่ยวกัน วงการศิลปะ ไปกันไม่ได้กับการธุรกิจ เป็นของแสลงกัน ศิลปินที่จะทำธุรกิจไม่เข้าใจ ค่อนข้างอยู่ห่างๆ เห็นผลงานหนังสั้นหมอลำมาเนีย จึงได้เข้ามาและเปิดโอกาสให้ทำเป็นหนังใหญ่ โดยปล่อยอิสระ เรียกได้ว่าจริงแล้วตัวหินเองเป็นไปได้อยู่แล้ว ดูตัวงาน ปล่อยอิสระ คาแรกเตอร์โดนมากและยินดีที่จะถ่ายทำใหม่ทั้งหมด ถือว่าภาพยนตร์เรื่องนี้กึ่งหนึ่งเป็นส่วนของการศึกษา กึ่งหนึ่งคุณค่าของธุรกิจ เรียกได้ว่าอยู่ตรงกลางการศึกษาสู่โลกธุรกิจอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถ้าคนมาดูจะเห็นว่ามีเรื่องสาระความรู้ที่นักศึกษาปริญญาโทคนนี้นำเสนอให้สังคม กล้ายืนยันได้ว่าหนังเรื่องนี้ในบรรดาหนังอีสานทั้งหมด เป็นโมเดลเป็นตัวอย่างนี้ที่นำเอาสาระเชิงวิจัยใส่เข้าไปในภาพยนตร์เน้นรูปแบบความบันเทิง และเมื่อสัมผัสเนื้อในของงานจริงๆผลงานของผู้ชายคนนี้ไม่ธรรมดา
นายนันทวุธ ภูผาสุก นักวิจัยและเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราไม่ได้มีความอินกับหมอลำพอ แต่พอเราศึกษาไป เราอยากทำหนังสักเรื่องหนึ่ง เราก็เลยไปอ่านพวกประวัติหมอลำดู เออมันดูน่าสนใจ เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าหมอลำมันมีหลายทำนองมีหลายแบบ จนเราได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เราก็เลยเลือกหัวข้อหลักหัวข้อที่จะทำ Thesis ของเราเป็นเรื่องหมอลำ แต่ว่าที่สาขาที่เรียนปริญญาโทเขาจะมีเป็นศิลปะนิพนธ์ ก็คือมีผลงานด้วย แล้วก็มีตัวเล่มวิจัยด้วย เราเลือกที่จะทำศิลปะนี้ หลังจากนั้นก็พัฒนามาเป็นภาพยนตร์สั้น จนเป็น Thesis จบก็เป็นเรื่อง“หมอลำมาเนีย” จนมามีโอกาสคือ พี่ปรัช ปรัชญา ปิ่นแก้ว ได้เห็นตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องหมอลำมาเนียของเรา เขาเห็นแล้วเขาก็เลยชวนมาทำโปรเจกนี้ เรื่องนี้เป็นคอมเมดี้อีสาน พี่ปรัชสนใจในเรื่องหมอลำและให้พัฒนาต่อกลายเป็นหนังใหญ่ แล้วก็ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์นิยม ซึ่งเป็นหัวหน้าประธานหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอกของที่คณะ ซึ่งอาจารย์พยายามผลักดันเราตลอด สุดท้ายภาพยนตร์เรื่องหมอลำมาเนีย จึงเกิดขึ้นโดยมีพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว เป็นโปรดิวเซอร์ และอาจารย์นิยมควบคุมดูแลเรื่องของการผลิต ใช้เวลานานปีกว่า โดยนักแสดงก็เป็นนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข.เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะฉายพร้อมกันทุกโรงทั่วประเทศ ในวันที่ 24 ม.ค.นี้
“หมอลำมาเนีย” เป็นเรื่องของความฝัน ความฝันของเด็กบ้านนอกมีความฝันที่อยากทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่มันเหมือนกับเป็นภาพสะท้อนความฝันของวัยรุ่นยุคใหม่ อยากทำอะไรที่มันประสบความสำเร็จ เล่าเรื่องผ่านตัวละครหลัก 3 คนที่เป็นเพื่อนกัน ซึ่งมีความฝันเดียวกัน นั้นคือ การก่อตั้งวงดนตรีหมอลำที่คนทั้งโลกเข้าถึง อยากทำในสิ่งที่มันเกินตัว ที่ดูแล้วมันไม่น่าจะทำได้ แต่มันคือเป้าหมายที่คนเราต้องมี คืออยากเอาหมอลำไปเผยแพร่ในในระดับโลก พวกเขาสามคนกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง พอดีกับที่ในหมู่บ้านก็มีจัดออดิชั่นวงดนตรีขึ้น สามคนก็เลยไปตามหาไปรวบรวมสมาชิกมาสร้างวงด้วยกัน ก็เหมือนเป็นภาพสะท้อนของเรา ที่เราเองก็เป็นคนทำหนังแล้วก็อยากจะเผยแพร่ผลงานของเราให้คนทั่วประเทศคนทั่วโลกได้เห็นเรื่องราวของหนังหมอลำ
ชื่อ หมอลำมาเนีย คำว่า “มาเนีย” มาจากภาษาอังกฤษแปลว่า “คลั่งไคล้ หลงใหล บ้าคลั่ง” ในขณะที่พวกคนรอบข้างพวกไทบ้านชาวบ้านเขาก็จะมองว่าพวกนี้เป็นพวกบ้าผีบ้า แต่เขา 3 คนนี้เขาก็ไม่ได้สนใจว่าคนอื่นจะมองยังไง
มีฉากที่คนอีสานเขาดูเขาเห็น อย่างในหนังเราก็จะมีอย่างพวกฉากดีดลูกแก้วหยอดขนมสายไหมอะไรพวกนี้ มันจะเป็นมันเป็นฉากที่คนอีสานดูแล้วรู้สึกได้ พอรู้สึกถึงมันแล้วก็อาจจะทำให้คนอีสานเหมือนคิดถึงบ้านขึ้นมาว่าความทรงจำในวัยเด็กของเราเป็นยังไงซึ่งความทรงจำสมัยเด็กๆที่เราเอามาใช้ในหนัง เป็นภาพสะท้อนการโหยหาอดีตของเราเอง แต่เราก็ไม่ได้เทิดทูน ความอีสานจ๋าขนาดนั้น เพราะในความคิดของเรา วัฒนธรรมที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนมันก็คือ วัฒนธรรมที่ตายแล้ว เพราะฉะนั้นภาษาหนังของเราก็จะเป็นอีกแบบ มีความเอดการ์ ไรต์ มีความโจวชิงฉือ มีจังหวะที่หนังอีสานไม่ค่อยทำกัน การเปลี่ยนคัตเปลี่ยนซีน เราก็ออกแบบให้มันเชื่อมกัน