‘พาหุง’ เด็กแนว
แนวใหม่ตั้งแต่แนวคิด การนำเสนอ รวมไปถึงสถานที่ โพธิเธียเตอร์ แก่นเดิม เปลือกใหม่ของพุทธศาสน์ มหรสพดิจิทัลอาร์ต นิทรรศการศิลปะดิจิทัลครั้งแรกที่จัดแสดงในพระอุโบสถ ในรูปแบบที่ “วัด”เข้าใจ “คนยุคใหม่”เข้าถึง ชนิดที่ร้องว้าวไปเลย
มหรสพดิจิทัลอาร์ตความยาว 20 นาที ราวกับได้ดูหนังสั้น 8 เรื่องที่เกิดจากการตีความบทสวดชัยมงคลคาถา หรือ พาหุง ของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่นำเทคโนโลยี Projection Mapping ฉายภาพลงบนผนังภายในพระอุโบสถ พร้อมด้วยดนตรีที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชมอย่างคาดไม่ถึง
เหตุเกิดเพราะต้องการเปลี่ยนประสบการณ์ไปวัดให้เป็นกิจกรรมที่สนุกและเข้าถึงพุทธศาสนาได้อย่างไม่ยาก คนทำงานสร้างสรรค์ที่มีแนวคิดเดียวกัน ได้แก่ WHY_NOT Social Enterprise, Awakening Creative, Another day Another Render, Art of Hongtae, Korky และ WHAT_IF จึงมารวมตัวกันสร้างสรรค์ โพธิเธียเตอร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เอปสัน และวัดสุทธิวราราม
ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์ ผู้กำกับศิลป์ของโพธิเธียเตอร์ กล่าวถึงวิธีการนำเสนอในครั้งนี้ว่า
“การออกแบบทั้งหมดในโพธิเธียเตอร์เป็นการนำแก่นของบทสวดมานำเสนอ ไม่ได้นำเอาแนวทางพุทธศิลป์ที่เราคุ้นเคยมาใช้ เพราะเราต้องการตีความคำสอนเป็นภาพใหม่ เพื่อให้คนดูเข้าถึงคำสอนโดยไม่ติดที่ศิลปะที่เป็นเปลือกนอก เสมือนว่าเราแค่เปลี่ยนเสื้อผ้าแต่ไม่ได้เปลี่ยนตัวตนของผู้สวมใส่”
ส่วนสาเหตุที่เลือกนำบทสวดพาหุงมานำเสนอนั้น ก่อเกียรติ ชาติประเสริฐ ผู้รับผิดชอบในเรื่องดนตรี บอกกับเราว่า
“ตอนที่เราได้สถานที่ มีเจ้าอาวาสที่เปิดกว้าง เราก็คิดว่าจะหยิบเรื่องอะไรขึ้นมานำเสนอดี เราคิดว่าบท พาหุง หรือ ชัยมงคลคาถา ชัยชนะทั้ง 8 ของพระพุทธเจ้า เป็นบทที่เล่าเรื่องได้ง่ายและครบที่สุด แต่ละเรื่องไม่ได้เกิดเวลาเดียวกัน แต่ว่าตลอดชีวิตพระพุทธเจ้า พระองค์ต้องเผชิญ แต่ละเรื่องเป็นตัวแทนอารมณ์ที่ต่างกัน”
“ผมคิดว่าเป็นหลักธรรมที่เข้าใจง่ายวิฌ่วลชัด ตัวเนื้อเรื่องคิดว่าออกเป็นโชว์แล้วสนุก”ผู้กำกับศิลป์ เสริม
ก่อเกียรติ เล่าถึงการตีความธรรมะผ่านงานศิลปะว่าเป็นการทำงานไปเข้าใจธรรมะไป
“เริ่มต้นเรารู้ว่าเราทำเรื่องอะไรแต่พอมาอยู่กับมันจริงๆแล้ว เช่น เรื่องช้าง เป็นตัวแทนความโกรธแต่ละคนตีความกันไปคนละแบบ พอเรามาคุยกันก็ได้ทบทวน ยิ่งทำยิ่งทำให้เราเข้าใจมันมากยิ่งขึ้น
อีกเรื่องที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องท้าวพกาพรหม การทำงานภาพและเสียงทำไปพร้อมกัน ความสนุกอยู่ตรงที่เนื้อหาเทพเจ้าสู้กัน ผมมีภาพในหัวแบบหนึ่งว่าภาพและเพลงจะเป็นแบบนี้ แต่พอมาเห็นเทพที่พี่ป้อง(ปานปอง) ทำ โอ้ ! เทพเจ้าควรเป็นแบบนี้ใช่ไหม งั้นผมคงต้องเปลี่ยนแล้วล่ะ เป็นอะไรที่สนุก ของพี่ป้องเป็นอะไรที่ฟังกี้มากผมก็ต้องฟังกี้ตาม”
ปานปอง เล่าถึงที่มาของภาพท้าวพกาพรหมที่เต็มไปด้วยสีสันสุดจี๊ด “โจทย์ท้าวพกาพรหม มีแนวทางชัดแต่ที่แรก คิดว่าตัวเองใหญ่ที่สุด ในจักรวาล เนื้อเรื่องง่ายมาก คือ การประลองฤทธิ์กัน มันสนุกและยากมากในการเล่าเรื่อง มาจบที่วิฌ่วลเหมือนดูคอนเสิร์ต
แนวทางคือเราไม่อยากทำภาพเทพเจ้าแบบเทพเจ้าลายไทย เรามองภาพเทพเจ้าในที่นี้เป็นเทพเจ้าที่มีพลังไม่มีที่สิ้นสุด รู้สึกว่าเป็นตัวตนของจักรวาลเลยดีไซน์ให้ครอบคลุมเป็นมิติของเขา”
ด้านท่านเจ้าคุณพระสุธีรัตนบัณฑิต(สุทิตย์ อาภากโร ร.ศ.ด.ร.ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กล่าวถึงนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“ทางวัดสุทธิฯมีแนวคิดหาทางส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าวัดมากขึ้น และศิลปะสมัยใหม่แบบนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้วัดเปิดกว้างเข้ากับกลุ่มคนมากขึ้น ทั้งนี้ก่อนเริ่มจัดนิทรรศการดังกล่าว ได้มีการสอบถามและหารือหลายฝ่ายถึงความเหมาะสมแล้ว ยืนยันว่าการใช้พื้นที่โบสถ์จัดแสดงนิทรรศการดิจิทัล ไม่ผิดตามหลักพระธรรมวินัย
ทางวัดยินดีอย่างมากหากจะมีวัดใดนำแนวคิดเดียวกันนี้ไปทำขยายผล เพราะไม่ได้เป็นลิขสิทธิ์ ยิ่งมีคนสนใจเข้าวัดมากขึ้น มีคนเข้าใจถึงคำสอนในพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ถือเป็นหน้าที่ในฐานะสงฆ์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา”
โพธิเธียเตอร์ แก่นเดิม เปลือกใหม่ของพุทธศาสน์ มหรสพดิจิทัลอาร์ต เริ่มฉายให้ชมวันแรกในวันวิสาขบูชา และจะฉายทุกวันเสาร์และอาทิตย์ 7 รอบต่อวัน จนถึง 9 มิถุนายน ที่พระอุโบสถวัดสุทธิวราราม สามารถเข้าชมฟรี (รอบแรก 14.00 น. รอบสุดท้าย 17.30 น.) จองตั๋วได้ทาง www.BodhiTheater.com ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง facebook :bodhitheater
ถ้าเป็นไปได้เราอยากเห็นมรสพดิจิทัลอาร์ตนี้ สัญจรไปแสดงที่วัดต่างๆโดยเฉพาะในต่างจังหวัด เชื่อว่าให้ “เด็กแนว” สื่อถึง “เด็กแนว” น่าจะเข้าใจกัน
เรื่อง : ปิ่นอนงค์ ปานชื่น
เนื้อหาการนำเสนอ ชัยชนะ 8 ประการอันเป็นมงคลของพระพุทธเจ้า
Episode 1 ความไม่รู้ – บารมี ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ กองทัพพญามาร “วสวัตดี”ขี่ข้างครีเมขละนำพลพญามารพร้อมสรรพวุธก่อนทานบารมีจะนำพระแม่ธรณีมายุติศึก
Episode 2 บ้าคลั่ง – อดทน อาฬวก ยักษ์ดุร้ายที่สั่งให้เจ้าเมืองเอาคนมาเป็นอาหารทุกวัน ก้าวร้าว ดุร้ายก่อนที่ดวงตาเห็นธรรม
Episode 3 โกรธ – เมตตา อุบายของพระเทวทัตผู้คิดร้านต่อพระพุทธเจ้า ปล่อยช้างนาฬาคีรีที่ตกมันให้พระพุทธเจ้าเผชิญหน้ากับความเมามายในอารมณ์โกรธ
Episode 4 หลงผิด – เตือนสติ 999 นิ้วโป้งบนสร้อยคอ เหลือเพียงนิ้วสุดท้าย ดูเหมือจะไม่มีสิ่งใด”หยุด”ความหลงขององคุลีมาลได้
Episode5 ใส่ร้าย-สงบนิ่ง นางจิญจมาณวิกาแสร้งทำเสมือนว่าท้อง ใส่ร้ายป้ายสีพระพุทธเจ้า แต่สุดท้ายความจริงก็มาถึงในแบบที่คาดไม่ถึง
Episolde6 บิดเบือน-ปัญญา สัจจกนิครนถ์ นักบวชที่ต้องการประลองปัญญากับพระพุทธเจ้า แต่หารู้ไม่ว่าปัญญาไม่ได้มีเพื่อแข่งขันเอาชนะ แต่มีเพื่อเข้าถึงความจริง ซึ่งความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว
Episode7 เผชิญภัย-รู้บทบาท นันโทปนันทนาคราช พญานาคผู้มีฤทธิ์มากมาย หากจะแพ้พ่ายก็ต้องเจอคู่ตอสู้ที่สมน้ำสมเนื้อ
Episode8 ยึดมั่นในตัวตน- เห็นธรรม ท้าวพกาพรหมที่เชื่อมั่นว่าตนบริสุทธิ์ เหนือใคร อมตะเหนือกาลเวลา เมื่อหลงตนคิดเช่นนั้นจึงพ่ายแพ้ต่อความจริงอันเป็นนิรันดร์