มองเขา มองเรา ผ่านสิ่งที่มองไม่เห็น
อะไรคือความเป็นเยอรมัน อะไรคือความเป็นไทย นิทรรศการสิ่งที่มองไม่เห็น Invisible Things ตอบคำถามเหล่านี้ผ่านสิ่งของที่แสนจะธรรมดาจากประเทศเยอรมนี 25 ชิ้น จากประเทศไทย 25ชิ้น ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งของธรรมดาที่เราแทบมองไม่เห็นคุณค่า กลับบ่งบอกความเป็นตัวตนขอ
มาเริ่มต้นที่รู้เขา หรือ เรียนรู้จักชาวเยอรมันจากสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ Prof. Dr. Rene Spitz นักประวัติศาสตร์ และ นักทฤษฎีทางด้านการออกแบบ Dr. Sebastian Pranz นักสังคมวิทยา คัดเลือกมาให้ชมกัน
นิตยสารเมเรียน (Merien) ฉบับประเทศไทย หนังสือท่องเที่ยวเล่มนี้ไม่ได้นำมาจัดแสดงเพราะว่ามาภาพปกและเรื่องราวของประเทศไทย หากคุณค่าของเมเรียนคือการเปิดโลกที่น่าอัศจรรย์ให้กับชาวเยอรมัน
เมรียน ฉบับแรกที่ตีพิมพ์ในพ.ศ.2491 ช่วงเวลานั้นชาวเยอรมันท่องโลกอยู่ในหัว วัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้คือ ต้องการสำรวจ ความงามของเมืองต่างๆในเยอรมนีที่ถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพังของสงคราม
ต่อมาในยุคที่เศรษฐกิจเยอรมนีบูม จุดหมายปลายทางก็เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น เมเรียนพาผู้อ่านท่องเที่ยวไปกับสถานที่งดงามในต่างประเทศ กล่าวกันว่าเมเรียน ก้าวล้ำหน้าไปไกลกว่าผู้อ่านก้าวหนึ่งเสมอ
“ในบรรดาโลกทัศน์ทั้งหลายที่อันตรายที่สุดก็คือ โลกทัศน์ของคนที่ไม่เคยออกไปดูโลกภายนอก” อเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลด์ท พหูสูตรชาวเยอรมันกล่าว
นอกจากเป็นนักอ่าน นักเดินทางแล้ว ชาวเยอรมันยังเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน ยืนยันด้วยลูกกลมสีแดงทำจากฟองน้ำที่เรียกว่า จมูกตัวตลก จมูกสีแดงคือวิธีปลอมตัวที่ง่ายที่สุด เพราะมันคือเครื่องหมายอัศเจรีย์สีแดงที่ออกแบบมาเพื่อบอกใบ้ว่าทุกสิ่งที่คุณทำหรือพูดออกมา ล้วนแต่ตั้งใจจะให้ตลก
เราเห็นเด็กๆหยิบลองกลมสีแดงมาสวมลงบนจมูก น่าแปลกที่เมื่อเรามองหน้ากัน ต่างคนต่างหัวเราะออกมาพร้อมๆกัน
รองเท้าแตะเบียร์เคนชต็อก (Birkenstock sandals) รองเท้าสุขภาพในตำนานที่ในนิทรรศการนี้อธิบายได้อย่างน่ารัก คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ นักออกแบบแฟชั่นชาวเยอรมันเคยบอกว่า “คนที่ใส่กางเกงวอร์มคือคนที่ควบคุมชีวิตตัวเองไม่ได้” แต่รองเท้าเบียร์เคนชต็อกนั้นตรงกันข้าม เพราะเป็นรองเท้าที่ใส่แล้วติดดิน
คราวนี้มามองฝั่งเราบ้าง มีสิ่งของใดบ้างที่ทำให้คนเยอรมันถึงกับอะเมซิ่ง ถังสังฆทาน กระบอกตั๋วรถเมล์ รถเข็นขายผลไม้ โอ่งมังกร ชุดนักศึกษา กางเกงชาวเล แป้งเย็นตรางู เสื้อวินมอเตอร์ไซด์ รวมไปถึงสติ๊กเกอร์ติดรถยนต์ที่บอกว่า “รถคันนี้สีขาว” ขณะที่สีจริงของรถคือสีดำ อย่างนี้เป็นต้น
ฟิลิป คอนเวล-สมิธห์ หนึ่งในทีมภัณฑารักษ์ชาวเยอรมัน และเป็นผู้แต่ง Very Thai: Everyday Popular Culture หนังสือที่เล่าถึงความเป็นไทยแบบที่ไทยยังคิดไม่ถึง อธิบายถึงสิ่งของที่เลือกมาจากแสดงว่า เป็นวัตถุทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนให้เห็นถึงความอะลุ่มอล่วย ความเชื่อ และความสัมพันธ์ของคนในสังคม โดยยกตัวอย่าง สติ๊กเกอร์เปลี่ยนสีรถ ว่า
“คนไทยมีการเปลี่ยนสีให้ตัวเองและสิ่งสำคัญต่างๆ เช่น การสวมเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับสีที่สมพงษ์กับวันเกิด โดยอาศัยตามหลักอัญมณีศาสตร์แห่งดวงดาวของฮินดู ซึ่งรวมไปถึงการติดสติกเกอร์ “รถคันนี้สีขาว” “รถคันนี้สีดำ” ถือเป็นสิริมงคลต้นทุนต่ำ ที่นอกจากจะช่วยสร้างความอบอุ่นทางจิตใจของเจ้าของรถเมื่อแรกติดแล้ว ยังช่วยให้เจ้าของรถไม่ต้องไปทำสีใหม่อีกด้วย”
ในขณะที่กระบอกตั๋วรถเมล์ ชาวเยอรมันมองว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดชิ้นหนึ่งของภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการของไทย ที่มาพร้อมกับเสียงเขย่ากระบอกตั๋ว ที่ได้ยินเมื่อไหร่ก็รู้ทันทีว่าถึงเวลาจ่ายค่ารถเมล์หรือเรือโดยสารแล้ว โดยกระบอกนี้สามารถใส่ตั๋วได้ทุกราคา ใส่เหรียญได้ทุกขนาด
ส่วนกางเกงชาวเล หรือ กางเกงเล ก็เป็นดีไซน์ที่ถูกใจชาวเยอรมันเพราะว่าสวมใส่ได้ทุกเพศทุกขนาด แถมยังคล่องตัว สวมใส่สบาย แห้งเร็ว เหมาะแก่การพกพา ความนิยมกางเกงเลในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มต้นมาจากพวกแบ็คแพคเกอร์ ลายยอดฮิตต้องยกให้กับลายช้างและสไตล์บาติก มัดย้อม
ของธรรมดาที่สะท้อนความเป็นไทยและเยอรมันที่แสนจะไม่ธรรมดานี้ เล่าเรื่องในนิทรรศการสิ่งที่มองไม่เห็นได้อย่างมีรสชาติ เห็นสิ่งของหลายอย่างแล้วเราก็อดที่จะยิ้มไปกับความเป็นเรา หลายอย่างที่สะท้อนความเป็นเขาที่ช่างคิด ความเป็นระเบียบวินัย และมีอารมณ์ขัน
นิทรรศการ สิ่งที่มองไม่เห็น(Invisible Things) จัดแสดงที่ห้องแกลลอรี ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ วันนี้ – 15 กันยายน ศกนี้