'มาเรียม' ลูกพะยูนหลงฝูง เริ่มปรับตัวดีขึ้น หันหน้าตามน้ำลง ไม่เกยตื้นแล้ว
"มาเรียม" ลูกพะยูนหลงฝูง เริ่มปรับตัวดีขึ้น หันหน้าตามน้ำลง ไม่เกยตื้นแล้ว
ในช่วงเวลาเช้ามืดของวันที่ 2 ก.ค. 62 เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ร่วมกับสัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จิตอาสา กลุ่มพิทักษ์ดุหยง ได้เดินลาดตระเวนตรวจตามจุดต่างๆ ที่ มาเรียม ลูกพะยูนหลงฝูงเคยนอน เพื่อติดตามเฝ้าระวังการเกยตื้นของมาเรียม
เจ้าหน้าที่พบมาเรียมเล่นอยู่บริเวณโขดหิน ซึ่งเป็นช่วงเวลาน้ำลง จากการสังเกตพฤติกรรม มาเรียมนอนเล่นอยู่ที่ความลึกประมาณ 60 เซนติเมตร โดยไม่ปรากฎว่ามาเรียมเกยตื้นเหมือนวันที่ผ่านๆ มา และที่สำคัญ มาเรียมหันหน้าไปทางทะเลตามน้ำลง
ตลอดทั้งวัน ทีมเจ้าหน้าที่ยังคงติดตามเฝ้าระวังการอนุบาลลูกพะยูน บริเวณเขาบาตู โดยทีมสัตวแพทย์ได้ป้อนนม จำนวน 3,680 มิลลิลิตร หญ้าทะเล 100 กรัม ให้กับมาเรีย
หลังจากป้อนนมเสร็จในแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่เขตฯ ลิบง ได้พายเรือ (แม่ส้ม) พามาเรียมว่ายน้ำออกกำลังกายและในช่วงน้ำลดพามาเรียมฝึกกินหญ้าทะเล เจ้าหน้าที่เขตฯ ลิบง ได้วางตาข่ายป้องกันอันตรายจากแมงกะพรุนเวลาสัตวแพทย์ป้อนนมมาเรียม และไม่พบเรือประมงเข้ามาบริเวณอนุบาลมาเรียมแต่อย่างใด
มาเรียม เป็นลูกพะยูนเพศเมีย อายุประมาณ 6-7 เดือนที่ถูกพบเกยตื้นเป็นตัวแรกๆของปีนี้ที่บริเวณอ่าวทึง ม.4 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ในช่วงปลายเดือนเมษายน
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา -หมู่เกาะพีพี ที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้านจึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะพิจารณาร่วมกันนำลูกพะยูนไปอนุบาลในสภาพธรรมชาติในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งมีแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน
นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าฯ ลิบง เคยให้สัมภาษณ์ในช่วงแรกของการอนุบาลมาเรียมว่า เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอาสาสมัคร ยังต้องดูแลลูกพะยูนมาเรียมอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าสุขภาพจะแข็งแรง แต่เนื่องจากยังเล็ก หากปล่อยคืนสู่ทะเลอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ ซึ่งในช่วงนี้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เจ้าหน้าที่ยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
โดยในเวลากลางคืนต้องนำมาเรียมไปไว้บริเวณน้ำลึก เพื่อป้องกันการเกยตื้น ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนคอยเฝ้าระวังดูแล ส่วนในช่วงเวลากลางวันยังต้องนำมาเรียมออกมาป้อนนมและหญ้าทะเล ตามเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ต้องคอยดูแลจนกว่าลูกพะยูนจะช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งในเรื่องของการกินหญ้าทะเล และไม่ต้องการนมแล้ว โดยลูกพะยูนจะต้องเรียนรู้เรื่องการช่วยตัวเองตอนน้ำลง จะได้ไม่เกยตื้น หรือจนกว่าลูกพะยูนจะโตขึ้นและสามารถเข้ากับพะยูนตัวอื่นในฝูงได้
ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า พะยูน ได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ. ศ. 2562
อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) พะยูนได้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ลำดับที่ 86 ของบัญชีไซเตส ซึ่งเป็นสัตว์ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้น เพื่อการศึกษาวิจัย และเพาะพันธุ์เท่านั้น
นายชัยพฤกษ์ ได้เปิดเผยถึงจำนวนพะยูงในทะเลตรังว่า พะยูนในทะเลตรัง พบบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง (บริเวณแหลมจูโหยและอ่าวทุ่งจีน) มากที่สุด โดยมีไม่ต่ำกว่า 180 ตัว และพบกระจายไปบริเวณแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ในท้องที่จังหวัดตรัง
จากการบินสำรวจล่าสุดเมื่อต้นปี พ.ศ.2562 พบว่าในทะเลฝั่งอันดามัน ในแหล่งหญ้าทะเลตั้งแต่จังหวัดสตูลไปจนถึงจังหวัดกระบี่ พบพะยูนไม่น้อยกว่า 200 ตัว ซึ่งพบว่ามีพะยูนแม่ลูกอยู่หลายคู่ และมีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นทุกปี
แต่อย่างไรก็ตาม พะยูนยังเป็นสัตว์ที่ต้องมีการอนุรักษ์เพื่อให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและไม่ให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ได้