‘ปู ไปรยา’ ความแกร่งไม่ต้องพิสูจน์ !
ชีวิต และการเดินทางของ ‘ปู’ ไปรยา ลุนด์เบิร์ก
“สไตล์การท่องเที่ยวของปูมีหลายสไตล์ ถ้าไปกับครอบครัว ก็จะเป็นสถานที่อำนวยความสะดวก เพราะไม่อยากพาพ่อแม่ไปลำบาก แต่ถ้าท่องเที่ยวเดินป่าเอง มักจะไม่เลือกแบบโหด เราไม่ไปคนเดียว เพราะเราเป็นผู้หญิง ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับเรา จะเป็นความรับผิดชอบของสังคมที่ต้องมาช่วยเหลือเราอีก ก็เข้าใจนะว่าบางครั้งบางคนชอบความโหด โดดเดี่ยว แต่ความแกร่งไม่ต้องพิสูจน์ให้ใครเห็น เอาความปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า”
‘ปู’ ไปรยา ลุนด์เบิร์ก นักแสดงนางแบบลูกครึ่งไทย-สวีเดน ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตสันถวไมตรีจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ คนแรกของประเทศไทย และคนแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อปี 2560 พูดถึงการเดินทางท่องเที่ยวในสไตล์ของตัวเอง
“ปูมองว่า คนยุคใหม่ เวลาเที่ยวก็อยากให้เที่ยวแบบมีสติ เรียนรู้สถานที่ที่เราจะไป เรียนรู้ว่าคนในพื้นที่นั้น เชื่อในศาสนาอะไร เราควรจะให้เกียรติ อย่างเช่นประเทศมุสลิม ก็ต้องแต่งตัวให้ถูกต้อง หรือถ้าเข้าวัดก็ควรจะใส่กระโปรงยาว หรือกางเกงที่ไม่รัดรูป เหมือนกับที่เราสอนชาวต่างชาติเวลามาประเทศไทย เข้าวัดพระแก้วก็ต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย เราเป็นคนไทย ไปประเทศอื่นก็ควรจะเรียนรู้วัฒนธรรมเขาก่อนไปว่า อะไรยังไง แล้วมีกาลเทศะนิดหนึ่ง ถ้ารู้ว่าพื้นที่นั้นอันตรายก็ควรจะเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ไปคนเดียว แล้วเป็นภาระของสังคม
อีกอย่างคือ การฉีดวัคซีนให้ถูกต้อง บางประเทศต้องฉีดวัคซีนก่อนไป อยากให้คนไทยเรียนรู้ดูแลสุขภาพก่อนบินไปในแต่ละสถานที่ รวมถึงการทานยาป้องกันมาเลเรีย ไข้เลือดออก คนไทยไม่คุ้นเคย คิดว่าไม่เห็นเป็นอะไรเลย แต่จริงๆ เราควรจะเตรียมยา แล้วก็พูดคุยกับโรงพยาบาลก่อนไป”
ในการท่องเที่ยวนั้น ดูเหมือนว่าเธอชอบการท่องเที่ยวที่ได้ออกกำลังกายท่ามกลางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ได้สัมผัสธรรมชาติที่สวยงาม เป็นพิเศษ
“การท่องเที่ยวของปูคือการได้เห็นโลก ปูชอบดำน้ำ ชอบปีนเขา ชอบเดินเขา ในเวลาเดียวกันก็ชอบ ช้อป กิน ชิม แล้วก็เลือกสถานที่ ดูกาลเทศะแล้วก็ความพร้อมของเราในการเดินทาง ที่ไปมาเยอะมาก ไม่ได้นับว่ากี่ประเทศ เอาง่ายๆ เลยนะ ปูชอบไปเชียงใหม่ ชอบทานข้าวซอย ชอบไหว้พระ ชอบคนภาคเหนือ ทุกคนดูชิลล์ อารมณ์ดี ใช้ชีวิตเรียบง่าย ภาคอีสานก็ชอบ ประเทศไทยนี่ชอบนะ ปูรู้สึกว่าไปแล้วเรียบง่าย เหมือนได้ไปแล้วได้ทำบุญด้วย ได้ทานอาหารอร่อยด้วย แล้วก็ไม่ได้ใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ ถ้าท่องเที่ยวบ่อยนะ คือในประเทศเรา
แต่ถ้าดำน้ำในต่างประเทศที่ชอบ ปูชอบราชา อัมพัต Raja Ampat ประเทศอินโดนีเซีย ลงเครื่องที่จากาตาร์ บินต่อไปซาลอง เสร็จแล้วก็นั่งเรือไปที่ Raja Ampat อุทยานที่เขาได้ดูแลคุ้มครองอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่คิดว่าตัวเองเกิดมาแล้วจะได้เห็นอะไรแบบนี้ใต้น้ำ ก็เลยประทับใจมาก แต่ไม่ได้ไปหลายปีแล้ว ไม่มีเวลา”
สำหรับสถานที่ๆ เธอไปดำน้ำนั้นก็คือ หมู่เกาะราชาอัมพัต ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรเบิร์ดเฮดของปาปัวนิวกินี อยู่บนดินแดนสามเหลี่ยมปะการังที่สมบูรณ์กว่า 500 ชนิด มีสัตว์ทะเลสวยๆ กว่า 1,200 สายพันธุ์และฉลาม ส่วนประเทศที่เธออยากไปแต่ยังไม่ได้ไปก็มีไม่น้อย
“ที่ๆ อยากไป มีเยอะมาก อยากไปแอฟริกา อยากไปเคนย่า อยากไปเซาท์แอฟริกา อยากไปเห็นวัฒนธรรมอื่นๆ อยากเห็นเผ่าพันธุ์อื่นๆ แล้วอีกที่ที่อยากไปคือ อยากไปเห็นอเมริกาในรัฐอื่นๆ เพราะอเมริกาเป็นประเทศที่กว้างและใหญ่มาก ปูอยากไปนิวออลีนส์ อยากไปยูทาห์ อยากจะไปเรียนรูู้ เพราะเวลาเราเห็นประเทศหนึ่งอย่างอเมริกา เราไม่เห็นว่าแต่ละรัฐเขาก็มีความเชื่อ มีวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีกลุ่มคนที่แตกต่าง ก็อยากจะไป อยากเห็น”
ส่วนการเดินทางที่ผิดพลาดผิดคิวนั้น ไม่มี จะมีก็แต่ความรู้สึก ความห่วงกังวล ความพะวงในสิ่งต่างๆ ของตัวเอง
“การเดินทางมีผิดพลาดตลอดเวลา ไฟลท์ที่ไปไม่ทัน ไม่ถือว่าเลวร้าย ก็จองใหม่ โชคดีที่ไม่มีเรื่องเลวร้าย ปูชอบไปแอร์พอร์ตก่อนเวลา 4 ชั่วโมง บ้าบอมาก ไปนั่งรอในแอร์พอร์ต รู้สึกเป็นคนระแวง ส่วนเวลาก่อนเดินทาง จะห่วงเรื่องลืมของ แบบพะวงมาก คือตั้งแต่เดินทางมาไม่เคยไม่จ่ายค่ากระเป๋าเกิน เพราะรู้สึกว่ากลัวไม่ได้เอาของไปครบ ต้องเปลี่ยนนิสัยตรงนี้เพราะ ชอบแพ็คเกินแล้วก็ไม่ได้ใช้ แต่รู้สึกว่าต้องเอาไปให้หมด เสียนิสัยมาก ต้องหยุด”
สิ่งที่เธอห่วงและให้ความสำคัญในการเดินทางมากๆ คือ เพื่อนร่วมโลก การเคารพกติกา ความเป็นอยู่ในประเทศที่แตกต่าง
“การท่องเที่ยวของปูคือ การเรียนรู้ เราต้องให้เกียรติพื้นที่และกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น อย่างเช่น ถ้าเราไปทะเลไทยที่เขาปิดไป เหมือนอ่าวมาหยา เราควรจะทำตัวยังไง ควรจะเก็บขยะไหม ควรรู้ไหมว่าไม่ควรเหยียบปะการัง ถ้าเราไปในพื้นที่ชาวมุสลิม หรือเคร่งศาสนา เราควรแต่งตัวเคารพสถานที่ ถ้าไปในพื้นที่สงวนไม่ให้ใช้เสียงดัง ก็อย่าใช้เสียงดัง ถ้าสถานที่ที่ไหนไม่ให้ถ่ายรูป ก็อย่าได้ถ่ายรูป กฎพวกนี้มีมาด้วยเหตุผล เราก็ควรจะเคารพเหตุผลเขา ไม่ว่าเราจะเข้าใจมันหรือไม่”
กับการทำงานร่วมกับ UNHCR ก็เป็นการเดินทางอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้ได้ไปเห็นโลกในอีกด้าน ที่ไม่คิดว่าจะมีเกิดขึ้น
“การเป็นทูตสันถวไมตรีของยูเอ็น ไปมา 3-4 ประเทศ แต่ละประเทศมีความโหดไม่เหมือนกัน จอร์แดน ซีเรียก็โหดแบบทะเลทราย พื้นที่ทุรกันดารมาก สภาวะอากาศกลางวันก็แห้ง ร้อนมาก กลางคืนก็หนาวมาก ไปบังคลาเทศ ก็ฝนตกตลอดเวลา มีมรสุมเกือบครึ่งหนึ่งของปี บางประเทศได้เห็นคนจน จนมาก การเดินทางลำบาก ไปละตินอเมริกา ไปโคลอมเบีย ก็เป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง ไม่สามารถพูดได้ว่าที่ไหนลำบากกว่ามากกว่ากัน”
แม้จะมีงานต้องทำมากมาย แต่เธอก็ยังคงมีความฝันถึงสถานที่ที่อยากไป เพียงแต่รอเวลาให้ว่างและสุขภาพให้พร้อมก็เท่านั้นเอง
“อยากไปดูแสงเหนือมาก อยากไปดำน้ำในหลายๆ ที่ ที่ยังไม่ได้ไป แต่รอให้สุขภาพดีกว่านี้แล้วค่อยไปดีกว่า อยากไปขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ อยากเห็น รอร่างกายไหว อยากไปดูมาก อยากไปนั่งรถลากเลื่อนโดยสุนัข แล้วก็มีอีกเยอะแยะ แต่ไม่มีเวลาเลย”