'รอยสัก' ตราบาปแห่งความน่าละอาย
หลายคนตั้งคำถามว่า มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะประกาศยกเลิกการแบนคนที่มีรอยสักไม่ให้เข้าไปใช้บริการในสถานบริการออนเซ็น สระว่ายน้ำและสถานที่ออกกำลังกาย
รอยสัก สำหรับหลายๆ คนแล้ว มันเป็นแฟชั่นที่คูลๆ แต่สำหรับที่ญี่ปุ่นแล้ว รอยสักเป็นเหมือนตราบาป หรือเครื่องหมายแห่งความน่าละอาย เพราะมันมักจะเกี่ยวข้องกับแก๊งยากูซ่าและพวกอาชญากร
เรื่องของรอยสักกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในญี่ปุ่น โดยเฉพาะตอนนี้ที่ญี่ปุ่นกำลังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรักบี้โลก และปีหน้าโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกสากล
มีการคาดการณ์ว่า นักกีฬาและผู้ชมชาวต่างชาติหลายคนที่จะเดินทางไปร่วมแข่งขัน และร่วมชมมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ น่าจะเป็นคนที่นิยมชมชอบรอยสัก ผู้ประกอบการที่ให้บริการออนเซ็น สระว่ายน้ำและห้องยิม ก็กำลังเผชิญกับแรงกดดันให้อ้าแขนต้อนรับคนที่มีรอยสักหากเข้ามาใช้บริการ
ทำไมรอยสักถึงเป็นสิ่งน่ากลัวสำหรับญี่ปุ่น ข้อมูลจากสารานุกรมสมัยใหม่ของยากูซ่าปี 2004 ระบุว่า ในปี ค.ศ.1720 รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจลดโทษให้กับความผิดทางอาญาบางอย่าง โดยอาชญากรจะไม่ถูกลงโทษด้วยการตัดหูหรือจมูกอีกต่อไป แต่การก่ออาชญากรรมของพวกเขาจะถูกประจานด้วยรอยสักบนผิวหนัง ซึ่งมักจะถูกสักลงบนแขน
แต่การลงโทษก็แตกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น ที่เมืองฮิโรชิมา คนที่ทำความผิดครั้งแรกจะถูกสักเป็นเส้นตรงแนวนอนไว้บนหน้าผาก ใครทำผิดครั้งที่ 2 จะถูกสักเพิ่มเป็นเส้นโค้งทางด้านซ้ายของหน้าผากและกลายเป็นรูปไม้กางเขน ทำผิดครั้งที่ 3 จะถูกสักเพิ่มอีก 2 เส้น โดยเส้นแรกจะยาวลงมาจากแกนของไม้กางเขน ส่วนอีกเส้นที่เล็กกว่าจะถูกสักไว้ทางด้านขวาเหนือเส้นสักที่เป็นแนวนอน ซึ่งรอยสักชุดนี้จะตรงกับตัวอักษรคันจิที่แปลว่า "สุนัข"
พวกแก๊งวายร้าย มักจะเรียกพวกสายสืบหรือคนให้ข้อมูลว่า "อินุ" ซึ่งแปลว่าสุนัข และบางครั้งคำนี้ก็ใช้หมายถึงตำรวจด้วย
รอยสักได้รับความนิยมจากแก๊งอันธพาลในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกด้วยเหตุผลหลายประการ หากพูดในเชิงสัญลักษณ์แล้ว รอยสักแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะตัดสัมพันธ์กับสังคมคนทั่วไปและใช้ชีวิตอยู่กับแก๊งอาชญากรรม
มันเหมือนกับการถูกตราหน้าว่าเป็นตัววายร้ายที่ไม่อาจลบล้างออกได้ สมาชิกแก๊งบางคนถึงกับสักชื่อแก๊งที่ตัวเองสังกัดหรือชื่อหัวหน้าแก๊งลงบนตัวเลยทีเดียว
รอยสักที่มีความซับซ้อนและเป็นที่ต้องการของแก๊งอันธพาลนั้นมีราคาแพง ดังนั้นการสักรอยเช่นนั้นบนร่างกายก็เป็นวิธีโชว์ความร่ำรวยอย่างหนึ่ง และยังเป็นประเด็นเกี่ยวกับความอดทนด้วย นักเลงที่มีรอยสักบนตัวมากก็จะยิ่งมีโอกาสได้รับการเคารพจากยากูซ่าคนอื่นๆ มากขึ้นด้วย
นักเลงวัยเกษียณคนหนึ่งบอกว่า ความสามารถในการอยู่นิ่งๆ และทนความเจ็บปวดอย่างเงียบๆ ในห้องสัก จะแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นผู้ชายแบบไหน
"มันอาจต้องใช้เวลาหนึ่งหรือสองปี กว่าจะสักเต็มตัว และนั่นแสดงให้เห็นว่าคุณสามารถรับมือกับความเจ็บปวดได้ คุณสามารถทุ่มเทให้กับเป้าหมายระยะยาวและเป็นที่ไว้วางใจได้ และถ้าคุณมีรอยสักที่ข้อเท้าและข้อมือ (ซึ่งเป็นจุดที่มีความอ่อนไหวสูง) ผู้คนจะวางใจได้ว่า คุณจะไม่ทรยศแน่"
และไม่ต้องสงสัยเลยว่า พวกอันธพาลมักจะใช้รอยสักเพื่อข่มขู่ผู้อื่น
"คุณสามารถกินฟรีและดื่มฟรีหากคุณโชว์รอยสัก บางครั้งคุณสามารถดูหนังฟรีได้ด้วย ผู้คนเกรงกลัวคนที่มีรอยสัก และผมเดาว่าตอนนี้พวกนั้นก็ยังใช้วิธีนี้อยู่" อดีตนักเลงกล่าว
จากการศึกษาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วงต้นปี 1990 พบว่าร้อยละ 73 ของสมาชิกแก๊งมีรอยสักอย่างน้อยหนึ่งแห่ง มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนดังกล่าวลดลงตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 เมื่อกฎหมายต่อต้านแก๊งนักเลงฉบับแรกมีผลบังคับใช้ พวกเขาเริ่มปกปิดตัวตน ในจำนวนสมาชิกแก๊งราว 30,000 คนที่เหลืออยู่ในญี่ปุ่น ครึ่งหนึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ แน่นอนว่า ถ้าใครต้องการปลอมตัวเป็นนักธุรกิจ รอยสักก็เป็นสิ่งไม่จำเป็น
ปัจจุบันนี้สมาชิกแก๊งรุ่นใหม่ไม่มีการสักตัวอีกต่อไป อาชญากรที่ต้องรับโทษด้วยการถูกสักก็มีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่ที่อื่นๆ ในโลกกำลังอ้าแขนรับรอยสักในฐานะศิลปะบนเรือนร่าง หลายคนจึงตั้งคำถามว่า มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะประกาศยกเลิกการแบนคนที่มีรอยสักไม่ให้เข้าไปใช้บริการในสถานบริการออนเซ็น สระว่ายน้ำและสถานที่ออกกำลังกาย
ในอดีต กฎการแบนดังกล่าวอาจถูกตั้งขึ้นมาเพื่อยับยั้งไม่ให้คนเข้าร่วมแก๊งยากูซ่าหรือตัดสินใจออกจากแก๊ง แต่ตอนนี้มันไม่มีผลเช่นนั้นแล้ว
และถ้าญี่ปุ่นหวังที่จะรวบรวมสมาชิกแก๊งยากูซ่าราว 50,000 คน ที่กลับมาดำรงชีวิตอย่างสุจริตหลังจากก่ออาชญากรรมตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 ให้กลับเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปกติ มันจำเป็นที่จะต้องอนุญาตให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้
ที่มา : เว็บไซต์เจแปนไทมส์