แกะรอย...หอยแครงที่หายไป
ลืมน้ำจิ้มซีฟู้ดไปก่อน เพราะข้อเท็จจริง ณ วันนี้คือ หอยแครงในธรรมชาติกำลังจะหมดไปจากอ่าวไทย
หอยแครงกองใหญ่ถูกลำเลียงขึ้นจากเรือประมง ก่อนจะนำมาคัดแยกทำความสะอาดตามขั้นตอน...
"ตัวนี้เป็นหอยสุราษฎร์" ธีรพัฒน์ ใจสุข เจ้าของวินัยฟาร์ม ตำบลคลองโคน อำเภอสมุทรสงคราม หยิบหอยขนาดกำลังกินขึ้นมา และว่า...หอยแต่ละที่จะมีรูปร่างลักษณะไม่เหมือนกัน ฟาร์มของเขารับลูกหอยมาจากสุราษฎร์ธานีและมาเลเซีย ส่วนหอยเจ้าถิ่นนั้นหายากเต็มที
"หอยบ้านเรา (คลองโคน) จะออกตัวแบนๆ พันธุ์หอยที่เกิดตามธรรมชาติตอนนี้แทบจะไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ นานๆ เจอที เจอทีชาวบ้านก็ดีใจกัน แต่มันไม่ได้พอสำหรับขาย"
นั่นจึงเป็นทั้งเหตุและผลให้เขาต้องเดินทางไปซื้อ "หอยพันธุ์" หรือลูกหอยจากพื้นที่อื่น เพื่อมาเพาะเลี้ยงต่อในทะเลที่เป็นพื้นที่สัมปทานการเลี้ยงหอยแต่เดิมของครอบครัว
"ราคาแล้วแต่ความสวยกับคุณภาพของหอย ขนาดตัวเริ่มตั้งแต่เม็ดทรายไล่มาจนถึงเม็ดถั่วเขียว กระสอบละ 25,000-30,000 บาท รอบนึงลงทุนประมาณ 2-3 ล้านบาท พอมาถึงก็เอาไปเพาะเลี้ยงต่อในทะเล ต้องกะเวลาตรงกับช่วงเวลาที่น้ำดีปล่อยได้ ผิดกันไม่เกิน 2 ชั่วโมง ไม่งั้นหอยตาย"
ความเสี่ยงยังไม่จบแค่นั้น เมื่อหว่านหอยพันธุ์ในพื้นที่สัมปทานแล้วก็ต้องรอลุ้นสภาพน้ำในแต่ละเดือนแต่ละช่วงเวลาต่อไป ถ้าน้ำเสียลงมามากหอยก็จะตายเยอะ
"ถ้าเป็นสมัยก่อนยังแบ่งได้ว่าช่วงไหนๆ สมัยนี้แบ่งไม่ได้ โดนทั้งปี หนึ่ง โรงงาน สอง ฟาร์มหมู มันเยอะแยะไปหมด เราอยู่ตรงกลางระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับเพชรบุรี น้ำเสียจากบนบกไหลลงตรงนี้หมด ผลกระทบมีแต่เพิ่มขึ้น หอยก็เลี้ยงยากขึ้นทุกปี ไม่มีแบบ...ปีนี้ไม่ตายเลย" เขาว่าถึงตอนนี้ราคาหอยแครงจะค่อนข้างสูง แต่ก็ต้องลงทุนสูงมากเพราะเลี้ยงแบบเสี่ยงตาย ถ้าเป็นไปได้อยากให้อัตราการรอดเพิ่มขึ้น ถึงราคาจะถูกลงก็ไม่เป็นไร เพราะมันสามารถเป็นอาชีพของชาวบ้านที่ไม่มีทุนรอนมากนักได้
- หอยแครงคู่คลองโคน
อาชีพประมงกับคนคลองโคนเป็นของคู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หอยแครงก็เป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่ใช้เลี้ยงชีวิตของคนที่นี่ ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายที่เก็บหาหอยตามธรรมชาติ จนเข้าสู่ยุคของการเลี้ยงในพื้นที่สัมปทานในทะเล มีบ้างที่ต้องหยุดไปเพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย แต่ก็กลับมาทำใหม่อีก
"คอกหอยห้ามซื้อขายแต่เป็นมรดก เป็นอาชีพที่ยืนยาวมา อยู่ในสายเลือด เรารักในอาชีพนี้" วรเดช เขียวเจริญ วัย 53 ปี คนคลองโคนที่ยึดอาชีพเลี้ยงหอยแครงมานาน เล่าว่าตั้งแต่จำความได้ก็เห็นพ่อเลี้ยงหอยแล้ว ซึ่งเขาก็รับสืบทอดอาชีพนี้ต่อมา
"หอยแครงที่คลองโคนเป็นหอยแครงปากแบน แต่เดิมมีหอยแครงเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นพื้นที่งอกชายฝั่งทะเลเป็นแหล่งสะสมตะกอนของดินเลนที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ เหมาะกับการเจริญเติบโตของหอยแครง และน้ำที่นี่ก็เป็นน้ำกร่อย เนื้อหอยแครงจะหวานอร่อย ตัวใหญ่ และเปลือกบาง"
แต่หลังจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตของคนบนฝั่งก็ไม่เหมือนเดิม หอยแครงคลองโคนกลายเป็นของหายากและไม่สามารถเพาะเลี้ยงเพื่อขายในปริมาณมากๆ ทำให้ต้องมีการนำเข้าหอยพันธุ์จากต่างถิ่น และแม้จะต้องเผชิญกับวิกฤติในหลายช่วง แต่ก็ไม่เคยถึงขั้นตายยกฟาร์มเหมือนเมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554
“ปีนั้นน้ำเสียออกมาจากคลองมหาสวัสดิ์ เขาผันน้ำมาลงแม่น้ำมหาชัยแล้วพัดกระจายทั่วไป จนทำให้เกิดแพลงก์ตอนบูมทั้งอ่าว ในคลองนี่น้ำดำหมดเลย กุ้งหอยปูปลาลอยตายหมด หอยทะเลตายหมด เป็นเวลาเกือบครึ่งปี ทำอะไรกันไม่ได้ ชาวบ้านไม่มีงานทำ”
จากรายงานสถิติผลผลิตการเลี้ยงหอยแครงของกรมประมง พบว่า ในปี พ.ศ. 2551-2553 มีปริมาณผลผลิตระหว่าง 4,017-5,065 ตัน แต่ในปี พ.ศ. 2554-2555 ปริมาณผลผลิตหอยแครงลดลงเหลือเพียง 2,613-2,518 ตัน
“พอปี 56 น้ำเริ่มดี แต่ก็ยังเลี้ยงอะไรไม่ได้ ปล่อยหอยไปก็กระเสาะกระแสะ เริ่มมีหอยตายอีก ทีนี้พอเริ่มปี 57 หอยตายเยอะผิดปกติ คือไม่ได้ตายแค่ช่วงน้ำเสีย ต้นปีก็ตาย กลางปีก็ตาย มันทำให้เรารู้สึกว่าไม่ใช่แล้วล่ะ ก็พยายามสืบเสาะว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เวลาไปถามหน่วยราชการ เขาก็หาว่าเราจะเอาค่าเยียวยา จริงๆ เราแค่อยากจะรู้ อยากจะแก้ปัญหา”
วรเดช ย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัย ‘โครงการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาดและการป้องกันการตายหมู่ (ยกฟาร์ม) ของหอยแครงตำบลคลองโคนโดยมีส่วนร่วมของชุมชน’ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
- คืนน้ำใสให้หอยแครง
กระบวนการหาสาเหตุการตายของหอยแครงเริ่มต้นขึ้นโดยมีสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นฝ่ายวิชาการนำทีมออกเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำและคุณภาพดินร่วมกับชาวบ้าน ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็ได้คำตอบ ที่แม้จะไม่ต่างจากสมมติฐานที่ตั้งไว้ในใจ แต่ก็ทำให้มีหลักฐานประกอบการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหา
“โดยทั่วไปน้ำเสียไม่ได้ทำให้หอยตายโดยตรง แต่เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการติดเชื้อของหอย ทำให้หอยเกิดโรค พอหอยอ่อนแอจึงเป็นสาเหตุให้หอยตาย” ดร.ไพฑูรย์ มกกงไผ่ นักวิทยาศาสตร์ จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าว พร้อมอธิบายต่อว่า ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเลี้ยงและการตายของหอยแครงโดยตรง คือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณตะกอนสารแขวนลอยในน้ำทะเล และปริมาณไนโตรเจนสูงเกินปกติ ส่วนปัจจัยคุณภาพดินคือ ดินมีการสะสมของสารอินทรีย์ในปริมาณมาก ส่งผลให้หอยแครงอ่อนแอและตายเป็นจำนวนมาก
“พอเอาผลมาแปล ส่วนหนึ่งมันเป็นเพราะผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน... ทำให้ทุกคนรู้ตัวเองว่า เราเองด้วยนี่หว่าที่มีส่วนทำให้น้ำเสีย มีรีสอร์ท มีร้านอาหารมากขึ้น จากเดิมที่เคยคิดว่าสาเหตุเกิดจากโรงงานและฟาร์มเลี้ยงหมูที่อยู่ด้านบนปล่อยน้ำเสียลงมาอย่างเดียว มันทำให้เราต้องมาทบทวนตัวเองด้วย” วรเดช บอก ซึ่งคำตอบที่ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามต่อไปว่า...แล้วจะแก้ไขปัญหานี้กันอย่างไร
“ผมเอางานวิจัยเข้าไปนำเสนอในอบต. นายก อบต.ท่านวิสัยทัศน์ดี ก็เริ่มทำข้อบัญญัติ คุยกับร้านอาหาร รีสอร์ท ทำบ่อบำบัดน้ำเสีย บ่อดักไขมัน มีเรือออกเก็บขยะ เกิดการตื่นตัวและหันมาร่วมมือกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนตัวเอง”
ไม่เพียงความร่วมมือของคนชุมชน กรมชลประทานได้ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยนี้ปรับเปลี่ยนการปล่อยน้ำเพื่อช่วยเจือจางสารอินทรีย์ที่ปะปนอยู่ ส่งผลให้สถานการณ์การตายยกฟาร์มของหอยแครงคลองโคนเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และนั่นทำให้ชาวบ้านผู้เลี้ยงหอยแครงและองค์กรที่เกี่ยวข้องจับมือกันคิดการใหญ่โดยมีอ่าวไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญ
- ยกระดับสู่หอยพรีเมี่ยม
“ถ้าน้ำกร่อยมีหิ่งห้อย น้ำเค็มก็มีหอยแครง” คนคลองโคน เอ่ยขึ้นระหว่างสาธิตการตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณคอกหอยในทะเล
หอยแครงเปรียบเสมือนดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ การกลับมาของหอยแครงสำหรับพวกเขาจึงเป็นมากกว่ารายได้ เพราะนั่นหมายถึงความมั่นคงทางอาหารของคนในอ่าว ก. ไก่
"ถ้าหอยแครงอยู่ได้ ส้ตว์น้ำอื่นก็อยู่ได้ ธรรมชาติก็อยู่ได้"
ดังนั้น หลังจากโครงการวิจัยสิ้นสุดลง พร้อมๆ กับการส่งต่อข้อมูลความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนสำนึกรักสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่รูปธรรมในทางปฏิบัติ แนวคิดในการสานต่อโครงการระยะที่ 2 จึงเกิดขึ้นภายใต้ชื่อโครงการใหม่ "การพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน กรณีศึกษา : กลุ่มผู้เลี้ยงหอยแครง และสัตว์น้ำอื่นๆ และชาวประมงพื้นบ้าน ในพื้นที่คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ, คลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม, บางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี, บ้านน้ำเชี่ยวและอ่าวมะขาม จังหวัดตราด"
เป้าหมายคือเพื่อสร้างนวัตกรรมและทางเลือกให้แก่เกษตกรผู้เลี้ยงหอยแครง โดยต่อยอดองค์ความรู้จากโครงการแรกสู่ช่องทางในการสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย อาชีพเพาะพันธุ์หอยแครง, อาชีพเพาะแพลงก์ตอนเพื่อเป็นอาหารของหอยแครง, อาชีพเลี้ยงหอยแครงในบ่อปิด และอาชีพขนส่งหอยแครงหรือโลจิสติกส์
ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม สกสว. ขยายความว่า "ในแง่ของผลลัพธ์ ถ้าเราเข้าใจเรื่องระบบนิเวศและการที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีผลกระทบกับทะเล มันก็จะฟื้นฟูเรื่องหอยขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันเราก็จะมาจัดการเรื่องการผลิตในฟาร์ม ในบ่อระบบปิด แต่ต้องมีองค์ความรู้เพิ่มเรื่องการผลิตอาหารเสริมให้กับหอยที่เลี้ยงในระบบปิด เพื่อให้เกิดหอยคุณภาพ เชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่ในระบบการผลิต
ใน 4 ไซท์ของโครงการวิจัยนี้ คลองโคนจะเป็นการต่อยอด ยกระดับจากงานเฟสที่ 1 ทำอย่างไรให้เกิดการผลิตหอยพรีเมี่ยม สร้างแหล่งอาหารให้หอยแครงที่จะเพาะเลี้ยงในบ่อ บางตะบูนเป็นเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ คลองด่าน-ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและเชื่อมโยงการจัดการน้ำเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการเพาะเลี้ยงหอยแครง ตราด-ฟื้นฟูดูแลพื้นที่สาธารณะในทะเล และการเพาะพันธุ์ลูกหอยในระบบปิด
การผลิตหอยแครงต้องเชื่อมโยงเป็นระบบให้ได้ แต่ละไซท์ทำหน้าที่เป็นแต่ละห่วงโซ่การผลิตเพื่อเอามาร้อยกันให้เกิดรายได้เหมือนกัน จริงๆ หอยแครงมันเป็นพื้นฐานของห่วงโซ่การผลิต ถ้าหอยแครงอยู่ได้ ส้ตว์น้ำชนิดอื่นก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นที่เราทำ คือระดับล่างที่สุดแล้วของตัวสัตว์น้ำ ถ้าเราทำให้หอยแครงอยู่ได้ สัตว์น้ำอื่นๆ ก็ฟื้นตัวกลับมาได้”
ท้ายที่สุด...การกลับมาของหอยแครงตามธรรมชาติ และการอยู่รอดของพวกมันในวงจรการผลิต จึงเป็นมากกว่าการส่งเสริมอาชีพดั้งเดิม แต่เป็นการโจทย์ใหญ่ของการคืนความสมบูรณ์ให้อ่าวไทยในฐานะแหล่งอาหารที่สำคัญของประเทศ
ภาพ : พัชรี ชาติเผือก