โยคะในเรือนจำ ทางเลือกผู้ต้องขัง
ช่วงเวลาที่อยู่บนเสื่อ พวกเธอมีอิสรภาพในการเคลื่อนไหว ลืมความทุกข์ไปชั่วขณะหนึ่ง
เพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ ทุกข์ระทมจนเกินไป จึงต้องมีกิจกรรมสำหรับคนที่ไม่มีอิสรภาพ โดยมีอาสาสมัครจำนวนหนึ่งเข้าไปทำโครงการในเรือนจำ ไม่ว่ากิจกรรมศิลปะ ถักไหมพรม การทำเครื่องเรือน ปั้นพระ รวมไปถึงโยคะ
โครงการโยคะในเรือนจำ เป็นหนึ่งในกิจกรรมจากแนวคิดของ อาจารย์ ธีรวัลย์ วรรธโนทัย อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.) เริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 ที่เรือนจำกลางราชบุรี จากนั้นพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกครูโยคะให้เรือนจำอื่นๆ และปัจจุบันถ้ามีความพร้อม ก็จะริเริ่มโครงการฝึกโยคะให้ผู้ชายในเรือนจำด้วย
-1-
หลังจากโครงการโยคะในเรือนจำทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 8 ปี และเป็นที่รู้จักแล้ว อาจารย์ธีรวัลย์ก็ยังไม่ได้เลิกลา มุ่งมั่นทำเรื่องนี้ต่อไป เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้ต้องขัง หากพ้นโทษไปแล้วคิดจะยึดเป็นอาชีพ แม้จะมีโอกาสน้อยมาก แต่พวกเขาก็ดีใจที่มีโอกาสได้ฝึกโยคะ
“90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังที่มาฝึกโยคะ มีความสามารถเฉพาะตน แล้วจะทำยังไงให้สังคมยอมรับ ทำให้พวกเขายึดเป็นอาชีพได้หลังจากพ้นโทษ เพราะส่วนใหญ่สตูดิโอที่พวกเขาไปสมัครงาน แม้ทดสอบแล้วว่ามีความสามารถ ก็จะไม่ค่อยรับเข้าทำงาน จึงอยากให้สังคมเปิดโอกาสให้คนก้าวพลาดบ้าง เคยมีกรณีผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่งอยู่อุดรธานี มีแฟนเป็นชาวสวิส แล้วเดินทางไปอยู่สวิส แฟนเปิดสตูดิโอโยคะให้ เธอก็ภูมิใจที่เรียนโยคะมาจากเรือนจำ" อาจารย์ธีรวัลย์ เล่า และย้อนถึงช่วงที่เริ่มฝึกโยคะว่า ช่วงนั้นทำงานเยอะ รู้สึกเครียด นอนไม่หลับ ไม่อยากกินยา จึงหาแนวทางอื่น โดยไปเรียนโยคะกับชาวอินเดียในเมืองไทย
“เมื่อได้เรียนโยคะทุกๆ วัน รู้เลยว่ามีความสุขมาก ไม่เคยมีความสุขแบบนี้มาก่อน สารเอ็นโดรฟินหลั่ง ฝึกโยคะแล้วรู้สึกเลยว่า วิธีการมองโลกเปลี่ยนไป มองในแง่บวกมากขึ้น และเมื่อเราได้ไปสัมผัสผู้ด้อยโอกาสและให้โอกาสพวกเธอ ทำให้ชีวิตเรารู้สึกมีคุณค่ามากขี้น
จำได้ว่า ตอนที่ติดตามเพื่อนอาจารย์ไปช่วยงานชีวิตที่ถูกลืมในเรือนจำ ชีวิตเราก็เครียดอยู่แล้ว มาฟังเรื่องของผู้ต้องขังหญิงเยอะๆ กลับบ้านมาเครียดหนักกว่าเดิม จึงอยากช่วย โดยขอให้มีการสอนโยคะในเรือนจำ ตอนแรกก็ไม่มีใครเห็นด้วย แต่ถ้าไม่มีโยคะ เราก็ไม่อยากทำโครงการต่อ
เราพบว่า เด็กบางคนอายุ 18 แทนที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข กลับต้องมาติดคุก และต้องอยู่ในเรือนจำไปจนถึงอายุ 50 เพราะโดนคดียาเสพติด เนื่องจากไปเที่ยวกับเพื่อน แล้วในกระเป๋าเพื่อนมียาเสพติด เธอก็เลยโดนข้อหาไปด้วย ตั้งแต่วันนั้นเธอก็ไม่ได้เจอแม่ เราก็คิดว่า อยากให้ผู้ต้องขัังมีความสุขบ้าง ก็เลยเอาโยคะเข้าไป โดยวางแนวทางให้ครูอินเดียเข้าไปสอน”
ไม่ได้เน้นสอนแบบเรียบๆ เนิบๆ แต่สอนขั้นแอดวานซ์ โดยให้เหตุผลว่า เพราะผู้ต้องขังหลายคนเคยติดยามาก่อน ถ้าให้เล่นโยคะท่าเรียบๆ คงหลับหมด เราก็ให้เล่นท่าผาดโผน เพราะเด็กๆ พวกนี้ มีนิสัยกล้าได้กล้าเสีย บางท่าก็บอกไปว่า ตีลังกาได้เลย
แม้จะไม่ใช่ครูโยคะโดยตรง แต่อาศัยว่าเรียนโยคะมาเยอะ อาจารย์ ธีรวัลย์ ก็เลยเข้าใจเทคนิคต่างๆ เป็นอย่างดี จึงนำมาสอนต่อได้
“เราให้เจ้าหน้าที่คัดเยาวชนอายุน้อยๆ โทษสูงๆ มาฝึกโยคะ และถ้าจะปั้นให้เป็นครูโยคะต้องเรียนตั้งแต่ 9.00-14.00 น.ทุกวัน เรียนหลายเดือน อย่างคนที่เรียนทุกวัน ก็ซึมซับ บางคนเป็นเบาหวานอาการก็ดีขึ้น ถ้าเรียนสักสามอาทิตย์ขึ้นไปจะอยากเรียนต่อไปเรื่อยๆ เพราะร่างกายปรับตัวแล้ว เราก็ดูคนที่มีทักษะ มีร่างกายยืดหยุ่น มีความตั้งใจและมีความพร้อมทางสรีระ เราคัดมา 25 คนเพื่อสอนให้เป็นครูโยคะ เพราะส่วนใหญ่ต้องโทษกว่า 20 ปี และหลายปีที่ผ่านมา ผู้บริหารเรือนจำและเจ้าหน้าที่ให้ความร่วมมือจัดคลาสโยคะตอนเช้าให้ผู้ต้องขังหญิง"
-2-
ว่ากันว่าหลายประเทศให้ความสนใจนำโยคะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการฟื้นฟูผู้ต้องขัง โดยเฉพาะในอินเดีย อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย มีการศึกษาพบว่า ผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกโยคะ ได้รับผลทางบวกทางสุขภาพกายและใจและจิตวิญญาณ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในเรือนจำของอเมริกา พบว่า การฝึกโยคะช่วยให้เกิดสมาธิ ทำให้ร่างกายจิตใจรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ความวิตกกังวลได้ ยิ่งควบคุมลมหายใจเข้าออกได้ คนที่เครียดเรื้อรังก็จะอาการดีขึ้่น
พัชรี มุ่งหมาย วัย 30 ปี อดีตผู้ต้องขัง ที่เคยฝึกโยคะในเรือนจำ และมีโอกาสไปสอนโยคะผู้ต้องขังคนอื่นๆ เธอบอกว่า โยคะมีประโยชน์ต่อเธอมาก เพราะตอนอยุู่ในเรืือนจำแทบเป็นบ้า
“ตอนอยู่ในเรือนจำ สิ่งที่กลัวที่สุด ไม่ใช่การถูกทุบตี แต่อยู่ที่เราจะคุมสติตัวเองได้ไหม โยคะทำให้เรามีสติมากขึ้น จริงๆ โดนตัดสินจำคุก 16 ปี 8 เดือน แต่เหลือ 8 ปี 1 วัน ถ้าปฏิเสธไม่ยอมรับจะโดนโทษ 33 ปี ตอนนี้พ้นโทษแล้ว และอยู่ระหว่างคุมประพฤติ จำได้ว่า โดนจับตอนเรียนปี 4 ตอนนั้นแวะไปนั่งเล่นบ้านเพื่อน ไม่รู้ว่ามีการส่งยาในบริเวณนั้น ก็เลยโดนจับไปด้วย”
และตอนนี้เธอได้ทำหน้าที่วิทยากรเกี่ยวกับการรณรงค์และป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดที่สำนักงานคุมประพฤติ จ.อุบลราชธานี และมีโอกาสใช้โยคะเพื่อการทำงานบ้างในบางโอกาส เพราะเธอเองมีโอกาสฝึกโยคะขั้นแอดวานซ์
“รู้สึกว่าลมหายใจมีค่า ก็ตอนเล่นโยคะ ทำให้ใจเย็น มีสติ และไม่คิดว่าจะฝึกท่ายากๆ ได้ แต่ก็ทำได้ " พัชรี เล่า หลังจากสาธิตท่าโยคะ
ส่วนคนต้นคิดโยคะในเรือนจำ เล่าต่อว่า ก่อนหน้านี้ ก็มีกรณีตบตีกันในเรือนจำ แต่มีหลายคนฝึกโยคะไปนานๆ เริ่มมีสติมากขึ้น
“มีคนเหยียบเท้าก็เฉย มีความนิ่งมากขึ้น เพราะเวลาฝึกโยคะ ถ้าไม่นิ่งจะร่วง อย่างท่าการต่อตัว ถ้าไปคิดเรื่องอื่น ลมหายใจไม่สัมพันธ์กับร่างกาย ก็ร่วง”
ส่วน ชลดา สอดส่อง หลังจากอยู่ในเรือนจำกว่า 2 ปี 6 เดือน ได้รับอิสรภาพกลับมาใช้ชีวิตปกติที่จังหวัดอุบลราชธานี และดีใจที่มีโอกาสดูแลพ่อที่ป่วยด้วยโรคร้าย
“ตอนนี้อยากดูแลพ่อให้ดีที่สุด หลังจากพ้นโทษ ก็ออกมาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ทำงานร่วมกับแฟน มีโอกาสเป็นครูโยคะสอนตามเรือนจำบ้าง และมีโอกาสสาธิตท่าโยคะให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในอาเซียนที่มาแลกเปลี่ยนความรู้กันที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จำได้ว่า ตอนเรียนแรกๆ ยากมาก พอเล่นไปนานๆ ก็ทำได้" เธอเล่า และบอกว่าอยากเปิดสตูดิโอโยคะเล็กๆ สอนคนที่อยากเรียนโยคะ และจะไม่เอาคำดูถูกของคนที่มองว่าเป็นคนคุกมากดดันชีวิต แต่จะเอาคำสบประมาทมาพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น
-3-
สำหรับผู้คลุกคลีกับโยคะมานานมั่นใจว่า ผู้เข้ารับการฝึกโยคะ เริ่มตระหนักถึงความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่การตระหนักว่า เราคือมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งของไร้ค่า อาจารย์ธีรวัลย์ บอกว่า จากชีวิตที่ถูกลืม ชีวิตตัวตนแทบไม่มี ท้อแท้สิ้นหวัง อยากฆ่าตัวตาย จึงต้องหาวิธีลดความเครียดให้ผู้ต้องขังด้วยโยคะ
“ผู้ต้องขังส่วนใหญ่บอกว่า เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว โอกาสที่จะได้กลับมาอยู่กับพ่อแม่ลูกน้อยมาก และสักวันเมื่อโอกาสมาถึง ตายายหรือพ่อแม่อาจเสียชีวิตไปแล้วก็ได้ ดังนั้นโยคะจะช่วยให้พวกเขากลับมามีตัวตน มีอิสรภาพทางกาย
ผู้กระทำผิดหลายคน พ้นโทษแล้วก็เข้าไปอีก เราตามเก็บสถิติคนที่ฝึกโยคะในเรือนจำหลายคน พบว่า โยคะทำให้พวกเธอมีสติ ไม่อยากทำผิดอีก จะทำอะไรก็คิด ไม่ใช่ว่าอยากทำอะไรก็ทำเหมือนเมื่อก่อน เพราะหลายคนไม่รู้เรื่องกฎหมาย ไม่รู้ว่าโทษของการติดคุกเป็นไง"
อาจารย์ธีรวัลย์ เล่าถึงสิ่งที่ภูมิใจที่สุดในชีวิตว่า ตอนปี 2558 อินเดียจัดแข่งขันโยคะในประเทศไทย ทางเราก็ทำเรื่องถึงทางกระทรวง ขออนุมัติให้ผู้ต้องขังที่เป็นครูโยคะไปลงแข่งขัน ปรากฎว่า พาไปแข่งขัน 12 คน เป็นครั้งแรกที่ผู้ฝึกโยคะเมืองไทยได้รางวัลเหรียญเงิน 2 เหรียญ รางวัลเหรียญทองแดง 4 เหรียญ และรางวัลชมเชย 12 รางวัล ทำให้โยคะในเรือนจำเริ่มเป็นที่ยอมรับจนกระทั่งปัจจุบัน
“อยากให้ผู้ต้องขังทุกเรือนจำ มีโอกาสสัมผัสกับการฝึกโยคะ ต้องยอมรับว่า เราให้เล่นท่าแอดวานซ์ เพราะเหมาะกับผู้ต้องขัง บางท่าคนอินเดียยังไม่เล่น แต่ทางยุโรปนิยมฝึกโยคะแบบนี้ ประเทศไทยมีโยคะในเรือนจำแห่งเดียวที่เล่นแบบนี้ เพราะผู้ต้องขังมีทั้งเวลาและความกล้า เราก็ให้ฝึกโยคะท่าต่างๆ ไปเรื่อยๆ เมื่อเล่นได้ พวกเขาก็อยากทำอีก”
................................
หมายเหตุ : ส่วนใครอยากเปิดโอกาสให้ครูโยคะจากเรือนจำสอนหรือสาธิต ติดต่อได้ที่อาจารย์ธีรวัลย์ทางไลน์ Teerawan