'ทำดี' เดี๋ยวสวยเอง จริงหรือ?

'ทำดี' เดี๋ยวสวยเอง จริงหรือ?

จากวลีเด็ดของนายกฯ ประยุทธ์ ที่บอก "ทำดี เดี๋ยวสวยเอง" แต่ทำไมคนไทยถึงยังชอบศัลยกรรม?

กลายเป็นประเด็นที่หลายคนสนใจและพูดถึง กับคำพูดของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ที่บอกว่าคนไทยใช้เงินไปกับการทำศัลยกรรมจมูก หรือด้านความสวยความงาม

โดยเป็นการกล่าวที่งานเปิดตัว "เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนประเทศไทย" (TRBN) ในหัวข้อ พลังเอกชนจะร่วมสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ประเทศไทยได้อย่างไรและภาครัฐพร้อมสนับสนุนอะไรบ้าง

ซึ่งมีตอนหนึ่งว่า "เรื่องหนี้เสียภาคครัวเรือน คำว่าหนี้ครัวเรือนถึงมันสูงก็โอเค เราก็ต้องยอมรับว่ามันสูงขึ้น แต่สูงขึ้นด้วยอะไร ผมให้แยกแยะมาแล้วว่า อะไรคือหนี้ที่มีมูลค่า อันไหนที่เป็นหนี้เสีย อันไหนเป็นหนี้ที่เกิดจากความไม่จำเป็น"

"วันนี้ทุกคนบอกว่าเป็นเรื่องจำเป็นหมด ผมดูในโพลมา ทั้งหมดคนรุ่นใหม่เนี่ย เรียนหนังสือจบมาแล้วต้องมีบ้าน มีรถ ต้องมีทันที นั่นแหละครับ ในขณะที่รายได้เราไม่พอตรงนี้ เราจะทำยังไงในความต้องการของประชาชน เพราะนั้น เขาต้องมีรายได้ ย้อนกลับไปดูเรื่องการศึกษาจะทำยังไงกับเขา จบมามีงานทำ มีรายได้ที่เพียงพอ"

"วันนี้นอกจากการใช้จ่ายในเรื่องของคุณภาพชีวิตแล้ว ก็เรื่องความสวยงาม แต่งตัว ทำหน้าสวยๆ การเสริมจมูก อันนี้เป็นความต้องการของมนุษย์ ผมก็ไม่ติดอะไรกับท่านหรอก ก็ยินดีที่ทำแล้วสวยขึ้น ผมไม่ว่าอะไร แต่คนจะสวย คนจะงาม งามที่ใจใช่ใบหน้า ทำความดีไว้นะ เดี๋ยวก็สวยเองอะ" นายกฯ ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับเรื่องศัลยกรรมนั้น อันที่จริงแล้ว ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่นิยมศัลยกรรมเสริมความงาม เพราะ "อิมคาส" (IMCAS) องค์กรด้านอุตสาหกรรมศัลยกรรมเสริมความงามระดับโลก มีรายงานออกมาว่าการเสริมความงามเพื่อให้รูปลักษณ์ดูเยาวัยตลอดเวลายังเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก คาดการณ์ว่าประชากรโลกใช้จ่ายด้านนี้ถึง 1.07 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2561

แถมยังบอกว่า ตลาดอุตสาหกรรมศัลยกรรมเสริมความงามจะมีมูลค่าแตะ 1.16 หมื่นล้านดอลลาร์ใน 2562 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในช่วง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2564

157537168037

ด้านสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งสหรัฐ (เอเอสพีเอส) ระบุว่า สหรัฐเป็นประเทศที่ประชากรทำศัลยกรรมบ่อยที่สุดในโลก อยู่ที่ 4.2 ล้านครั้งในปี 2559 ตามมาด้วยบราซิลอยู่ที่ 2.2 ล้านครั้ง ญี่ปุ่น 1.13 ล้านครั้ง อิตาลี 957,814 ครั้ง และเม็กซิโก 923,243 ครั้ง

นอกจากนั้น ผู้ชายอเมริกันยังนิยมศัลยกรรมดูดไขมันมากที่สุด ตามด้วยการเสริมจมูก ขณะที่ผู้หญิงอเมริกันนิยมเสริมหน้าอกมากที่สุด ตามด้วยการยกกระชับหน้าอก

สำหรับประเทศไทยนั้น ติดอันดับที่ 21 ของโลก โดยมีการทำศัลยกรรมเสริมสวยกว่า 112,000 ครั้ง โดยการทำศัลยกรรมประเภทที่นิยมมากที่สุด คือ เปลือกตา ตามมาด้วยการเสริมหน้าอก และการเสริมจมูก

เมื่อบวกกับคำบอกเล่าของ นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี เคยให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจ ถึงมูลค่าตลาดศัลยกรรมตกแต่งในไทยที่สูงถึง 1 หมื่นล้านบาท โดยปี 2562 มีคลินิกมากกว่า 1,000 แห่ง ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 50% เทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยิ่งสะท้อนชัดเจนถึงความนิยมในการทำศัลยกรรมของคนไทยว่า มากขนาดไหน

เพราะพร้อมๆ กับการเติบโตของคลินิกความงาม ก็คือ "สถานเสริมความงามเถื่อน" ที่เกิดขึ้นตามมาอีกจำนวนมาก มีทั้งรูปแบบคลินิกและการบริการถึงบ้าน (หมอกระเป๋า) ที่สำคัญคือ มีผู้หญิงจำนวนมากใช้บริการศัลยกรรมเถื่อนนี้ ซึ่งผู้ที่ให้บริการอาจไม่ได้เป็นแพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง ผลที่ตามมาคือ รูปทรงบิดเบี้ยว และเกิดอันตราย 

นำมาสู่คำถามที่ว่า ทำไมคนเราถึงต้องทำศัลยกรรม แค่เพราะ "อยากสวย" เท่านั้นหรือ ?

  • "ศัลยกรรม" ทั้งเจ็บตัว-เสียเงิน ทำไมถึงเป็นที่นิยม?

จากบทความ "สวยเลือกได้...สบายจริงหรือ" โดย กรณิศ รัตนามหัทธนะ​ บนเว็บไซต์ tcdc.or.th ได้อ้างถึงข้อเขียน "คนสวยได้เปรียบมหาศาล" ของนิวยอร์ก ไทม์ส ในปี พ.ศ. 2521 ได้เขียนถึงว่าช่วงนั้นนักจิตวิทยาและนักวิจัยทางสังคมวิทยาในปัจจุบัน ต่างพยายามศึกษาหาคำตอบว่า การมีรูปร่างหน้าตาดีส่งผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตของคน 

157538782557

โดย ดร.เอลเลน เบอร์ไชด์ นักจิตวิทยาระดับแนวหน้าในช่วงนั้น บอกว่า สาเหตุมาจาก การเหมารวมว่าคนที่มีรูปร่างหน้าตาดี มักจะถูกเข้าใจว่าเป็นคนดี จริงใจ อบอุ่น อ่อนโยน ตอบสนองทางเพศได้ดีกว่า สง่างาม ถ่อมตัว เข้ากับคนอื่นได้ดี เข้าอดเข้าใจ แข็งแกร่ง เป็นคนน่าคบหามากกว่า เมื่อเทียบกับคนที่ด้อยกว่า 

ส่วนนักจิตวิทยาคนอื่นๆ ก็เห็นไปในทางเดียวกัน จากการวิจัยต่างๆ พบว่าในวันทำงานนั้น หากมีการประเมินผลงาน ถ้าอีกฝ่ายได้เห็นหน้าตาผู้ถูกประเมิน และพบว่าหน้าตาี ก็จะได้รับผลการประเมินที่สูงกว่า และถูกมองว่ามีความสามารถสูงกว่าด้วย

และที่น่าทึ่งไปกว่านั้น จากการทดลองศึกษาปฏิกิริยาของคณะลูกขุนที่มีต่อจำเลยหน้าตาดี เทียบกับหน้าตาธรรมดา ก็พบว่าคณะลูกขุนจะปฏิบัติต่อคนที่หน้าดีอย่างมีเมตตากว่าด้วย เช่นเดียวกับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะการวิจัยหนึ่งด้านการรักษาคนไข้โรคจิตเวชนั้น ยิ่งคนไข้รูปร่างหน้าตาดี ก็จะได้ยิ่งออกจากโรงพยาบาลเร็วขึ้นเท่านั้น และจะมีคนมาเยี่ยมมากขึ้นด้วย 

157538747235

แต่อย่างไรก็ตามจากบทความดังกล่าวก็กล่าวถึง "ข้อได้เปรียบ" ที่ทรงพลังกว่าเรื่องรูปร่างหน้าตาที่ดี ก็ยังมีอยู่ เช่น เป็นคนทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง รู้จักพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ มีสัมมาคารวะ และเฉลียวฉลาด

รวมถึงการดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง การแต่งกายให้สะอาดสะอ้าน ต่างก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้เห็นว่า หน้าตาไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขันเสมอไป!