เที่ยวตามรอย ขบวนพยุหยาตราฯ เช็คอิน 7 จุดสำคัญริมเจ้าพระยา

เที่ยวตามรอย ขบวนพยุหยาตราฯ เช็คอิน 7 จุดสำคัญริมเจ้าพระยา

จากการเข้าชมขบวนพยุหยาตราฯ แล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีก 7 จุดสำคัญทางประวัติศาสตร์บริเวณเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่คนไทยไม่ควรพลาดชมเช่นกัน

หลังจากเราได้ชมความงดงามของขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี อันเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย กันไปแล้ว เชื่อว่า หลายๆ คนคงได้ชื่นชมและมีความปิติยินดีที่ได้ชมความงามของประวัติศาสตร์ไทยและสายน้ำแห่งนี้ พร้อมทั้งได้มีโอกาสเฝ้าฯ ถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์

แล้วรู้หรือไม่? จุดที่หลายคนเข้าไปชมขบวนพยุหยาตราฯ ไม่ว่าจะเป็นลานท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ท่าเรือวัดราชาธิวาส, สวนสันติชัยปราการ, ถนนมหาราช, สวนนาคราภิรมย์, ท่ามหาราช, ท่าเรือวัดราชาธิวาส ฯลฯ ล้วนแล้วแต่อยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีฯ ครั้งนี้ ขาเที่ยวก็ยังสามารถไปปักหมุดเที่ยวพระนครในพื้นที่เลียบแม่น้ำเจ้าพระยากันได้อีก โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดไปเช็คอิน 7 แห่งด้วยกัน ได้แก่

 

  • วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

เริ่มต้นที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เรียกสั้นๆ ว่าวัดมหาธาตุ ชื่อเดิมเรียก ‘วัดสลัก’ หนึ่งในวัดที่ยังคงเหลือสถาปัตยกรรมของอยุธยาสมัยรัชกาลที่ 1 อย่างคันทวยหรือเสาค้ำยันที่ยื่นออกมารับชายหลังคาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอยุธยา มีลายหน้าบันเป็นตัวบ่งบอกสกุลช่าง ถ้าเป็นของหลวงพระนารายณ์ทรงสุบรรณ แต่ถ้าวัดมหาธาตุเอกลักษณ์ของช่างวังหน้าลายหน้าบันพระนารายณ์ทรงหนุมาน

157589629480

จะเห็นได้ว่าพระอุโบสถมีขนาดใหญ่ บรรจุพระภิกษุกว่า 1,000 รูป เป็นสถานที่ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกใหญ่ครั้งแรกเลยที่วัดนี้ นับแล้วเป็นครั้งที่ 9 ของโลก เพราะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บ้านเมืองแตกแยก พระไตรปิฎกเสียหาย รัชกาลที่ 1 เลยสร้างอุโบสถขนาดใหญ่เพื่อทำการสังคายนาพระไตรปิฎก

ไฮไลต์สำคัญของวัดคือ มีการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและอัญเชิญพระสังฆราชมาสถิตที่วัดมหาธาตุแห่งนี้ โดยในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงตั้งพระทัยให้บริเวณพื้นที่วัดเป็นศาสนสถานสำคัญในการแบ่งพื้นที่คั่นกลางระหว่างวังหลวงกับวังหน้า ในสมัยก่อนมีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ล้อมรอบวัด ขยายชุมชนไปจนถึงสนามหลวงกลายเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ทั้งหมด ต่อมาเมื่อสถานปนาสร้างพระบรมมหาราชวังแล้ว ชาวจีนกลุ่มนี้จึงได้อพยพย้ายไปอยู่ทางใต้ของแม่น้ำซึ่งก็คือเยาวราชในปัจจุบัน

 

  • หอประติมากรรมต้นแบบ

อีกจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ หากคุณเดินผ่านแนวกำแพงวังหน้าเก่า ผ่านวังท่าพระ จะไปเจอกับ “หอประติมากรรมต้นแบบ” อยู่บริเวรกรมศิลปากร เดิมทีเป็นการสถานที่ปฏิบัติงานปั้นหล่อและหลอมโลหะ เรียกว่า ‘โรงปั้นหล่อ’  เวลาเททองจะเกิดควันพิษจากโลหะ จึงเป็นสาเหตุให้กรมศิลปากรย้ายพื้นที่ปฏิบัติงานทำการกองหัตถศิลปและโรงปั้นหล่อไปตั้งใหม่ ณ ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และเปลี่ยนโรงปั้นหล่อเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์หอประติมากรรมต้นแบบ

157623083644
ภายในหอประติมากรรมต้นแบบ

 

157589227280
ภายในหอประติมากรรมต้นแบบ

 

ปัจจุบันจัดแสดงนิทรรศการวิธีการหล่อทองตั้งแต่กระบวนการเริ่มแรก จบด้วยปะติมากรรมต้นแบบที่สมบูรณ์ ภายในหอมีผลงานต้นแบบรูปพระพุทธรูป อนุสาวรีย์สำคัญและประติมากรรมอื่นๆ รวบรวมไว้จำนวนมาก มีปฏิมากรรมต้นแบบสำคัญที่เรียงรายระหว่างทางเดินฝีมืออบรมครู อาทิ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี, พระทศพลญาณแห่งพุทธมณฑล, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1 และพระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกรมศิลปากร

ไม่ใกล้ไม่ไกลจากที่นี่ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี ภายในจัดแสดงผลงานแบบร่างอนุสาวรีย์ ประติมากรรม จิตรกรรม ภาพพิมพ์ อุปกรณ์เครื่องเขียน เครื่องมือ เครื่องใช้ จำลองบรรยากาศห้องทำงาน ห้องปฎิบัติการสอนเดิมของศาตราจารย์ ศิลป พีระศรี บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ให้ความคลาสสิกผสมกับงานโชว์แบบโมเดิร์น เก็บเรื่องราวของท่านและผลงานศิลปะมากมาย

157623090017
ภายในหอประติมากรรมต้นแบบ

  • ประตูช่องกุด

เดินต่อมาอีกหน่อยทางไปตลาดท่าเตียนจะเห็นประตูสั้น แคบ เตี้ย ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ประตูช่องกุด” คนในวังเรียกประตูดิน เป็นประตูที่สนมนางในออกมาชอปปิงที่ตลาดเรียกว่าตลาดท้ายสนม ขุนนางสมัยก่อนเมื่อเสร็จราชการแล้วอยากมองหานางสนมฝ่ายในที่มีกริยามารยาดี เย็บปักถักร้อย ร้อยพวงมาลัยและทำกับข้าวเก่ง ก็มักจะมาเจอกันที่ประตูแห่งนี้ จนเป็นที่มาของคำว่า “เจ้าชู้ประตูดิน” นั่นเอง ปัจจุบันตลาดท้ายสนมกลายเป็นย่านการค้าที่คึกคักอยู่ในบริเวณตลาดท่าเตียน

157589499655

   

  • วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

เดินมาไม่ไกลรอข้ามเรือที่ท่าเตียนไปวัดอรุณฯ ในราคาแค่ 4 บาท คนที่อ่านมาถึงตรงนี้เชื่อว่า 90 เปอร์เซ็นต์เคยไปเที่ยววัดอรุณ​ฯ มาก่อน จุดเด่นคือพระปรางค์องค์ใหญ่ซึ่งเป็นศิลปกรรมที่สง่างามและโดดเด่นที่สุด มีความสูงเป็นแบบไทยคือ 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว หรือประมาณ 67 เมตรเศษ สร้างด้วยภูมิปัญญาขั้นสูงสุดได้รับมาตั้งแต่สมัยอยุธยา รวมรวบเอาศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนชาวอยุธยามาแสดงไว้ได้อย่างครบถ้วน เช่น จะเห็นได้ว่าบริเวณพระปรางค์มี “วัวกระทิง” สัตว์ที่ให้คุณที่มีความผสมผสานระหว่าง จีน ฮินดู ไทย

157589227160

อีกทั้งวัดอรุณฯ มีความผูกพันกับราชวงค์จักรีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงปั้นพระพักตร์ของพรุพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในวัดด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง

เมื่อเดินเข้ามาชมภายในพระอุโบสถ จะพบกับพระประธานชื่อว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" ประดิษฐานอยู่ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกไฟไหม้เสียหาย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการทำนุบำรุงพระองค์นี้ขึ้นมาใหม่ นอกจากนั้นแล้วก็จะมีภาพจิตรกรรมในกรอบกระจกที่เรียกว่า “กระจังกระจก” เป็นภาพเขียนสีกระจกแสดงให้เห็นเครื่องตั้งโต๊ะหมู่บูชาแบบจีน ซึ่งในรายละเอียดจะพบว่ามีการตั้งกระจกเงาวางไว้ใกล้แจกัน ซึ่งแปลความหมายได้ว่า “ความปลอดภัย”

157623097489

  • วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

จากนั้นเดินลัดตรอกสะพานข้ามคลองบางกอกใหญ่เข้าสู่ย่าน “กุฎีจีน” เดิมบริเวณนี้เป็นบ้านของ “เจ้าสัวโต” ขุนนางจีนผู้ดูแลเกี่ยวกับการเก็บภาษีของการค้าขายในย่านนี้ ซึ่งเจ้าสัวโตมีเพื่อนสนิทคือ “พระองค์เจ้าทับ” หรือ “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” หรือ “รัชกาลที่ 3” ทั้งสองท่านทำธุรกิจการค้าสำเภาร่วมกันมายาวนาน ประกอบกับรัชกาลที่​ 3 ทรงโปรดเรื่องวัดเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นในบทประพันธ์หนึ่งความว่า “ทูลเรื่องอื่น มิได้ชื่น เหมือนเรื่องวัด” 

157589227195
รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานสไตล์จีนเข้าไว้ในวัดไทย ทำให้อาคารไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ 

มาวันหนึ่งเจ้าสัวโตได้ตัดสินใจซื้อที่ดินแถวคลองบางกอกใหญ่และสร้างวัดเพื่อถวายรัชกาลที่ 3 เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่อง จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างพระวิหารหลวงทั้งหมดในวัด และสร้างพระพุทธรูปใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ มีความสูง 14 ม. 75 ซม. หน้าตักกว้าง 11 เมตร และทรงพระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หมายความว่าเป็นเพื่อนที่ดีหรือมหามิตรที่ดี 

จุดเด่นของวัดกัลยาณมิตร คือ วิหารหลวงขนาดสูงใหญ่ที่ภายในประดิษฐานหลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก หรือที่คนจีนเรียกว่า “ซำ ปอ กง” จึงเป็นวัดไทยผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบจีนเข้าไป  ซึ่งอาคารจะไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ทำให้การใช้งานคงทนมากกว่า

  • ศาลเจ้าเกียนอันเก็ง

เมื่อเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามาอีกหน่อย ก็จะเจอกับ “ศาลเจ้าเกียนอันเก็ง” ในชุมชนกุฎีจีนซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ มีลักษณะเป็นศาลเก่าแก่ มีอายุมากกว่าร้อยปี ภายในประดิษฐานรูปเจ้าแม่กวนอิม อีกทั้งยังมีสิ่งของทรงคุณค่าอย่างงานไม้แกะสลักของตระกูล สิมะเสถียร ซึ่งเป็นการสลักไม้เป็นเรื่องราวของ “สามก๊ก” ที่มีความประณีตและสมบูรณ์ที่สุด นอกจากนี้ภายในยังมีภาพจิตรกรรมแบบภาพวาดปูนเปียก อยู่ตามฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวของสามก๊กอีกเช่นกัน ส่วนแถวล่างจะเป็นภาพจิตรกรรมแสดงเรื่องราววรรณกรรมจีนที่สำคัญๆ อีกหลายเรื่อง

157589227210
หน้าต่างแกะสลักไม้

157623121954
เจ้าแม่กวนอิม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ศาลเจ้าเกียนอันเก็ง

157623130499
ภาพวาดปูนเปียกเล่าเรื่องสามก๊ก

  • วัดซางตาครู้ส (SANTA CRUZ CHURCH)

ปิดท้ายกันที่ “วัดซางตาครู้ส” เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โดยคำว่า “ซางตาครู้ส” เป็นภาษาสเปนที่แปลว่า “ไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์” ที่นี่เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิก เอกลักษณ์ภายในอาคารใช้เสาลอยรับน้ำหนักของฝ้าเพดานแบบโค้ง รวมถึงกระจกสีที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา ใครที่ได้เข้ามาชมเป็นต้องตะลึงไปกับความงดงามภายในโบสถ์แห่งนี้แน่นอน

157589227183

ทั้งหมดนี้เป็นแลนด์มาร์กทางการท่องเที่ยวชุมชนที่สำคัญในย่านเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ใครอยากมาเที่ยวชิลๆ ในเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนเก่าแก่ เชื่อว่า 7 สถานที่สำคัญเหล่านี้น่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด