เคล็ดลับเที่ยวเทศกาลวันหยุดให้รอด 'ภัยคุกคามไซเบอร์'
ในขณะที่หลายคนกำลังเตรียมพร้อมสำหรับทริปที่กำลังจะมาถึงช่วงสิ้นปี สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องไม่ลืมคือ การระมัดระวังเอาใส่ใจในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ท่ามกลางภัยคุกคามไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า คนกรุงเทพฯ เกือบ 77% วางแผนท่องเที่ยวในประเทศในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
ในช่วงต้นปีนี้ IBM X-Force รายงานว่า อุตสาหกรรมคมนาคมขนส่งได้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของบรรดาอาชญากรไซเบอร์ โดยเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกโจมตีมากที่สุดเป็นอันดับ 2 สาเหตุเพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการคมนาคมขนส่งเป็นดั่งเหมืองทองของบรรดาแฮคเกอร์ที่ต้องการเสาะหาข้อมูลสำคัญ ๆ เช่น หนังสือเดินทาง ข้อมูลการชำระเงิน แผนการเดินทาง รายชื่อผู้โดยสารเที่ยวบิน หรือแม้แต่ผังการสร้างเครื่องบิน
อันที่จริง มีเหตุด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมนี้อยู่บ่อยครั้ง และอุตสาหกรรมนี้ก็เป็นช่องทางที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ เนื่องจากบรรดานักเดินทางมักไม่ทันระวังตัว หรือเลือกทำสิ่งง่าย ๆ ไม่เปลืองแรง เช่น การโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย หรือการชาร์จสารพันอุปกรณ์ด้วย quick charger มากกว่าการให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่บรรดานักเดินทางต้องหันมาเพิ่มความระมัดระวังเพื่อปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของตน โดยผลการสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมอร์นิงคอนซัลต์ ในนามของไอบีเอ็ม ซิเคียวริตี้ พบว่า
บรรดานักเดินทางมักชอบตัดสินใจแบบเสี่ยง ๆ เพื่อแลกกับความสะดวกสบาย: ผู้ตอบแบบสอบถาม 7 ใน 10 คนระบุว่าพวกเขาเชื่อมต่อกับไวไฟ (Wi-Fi) สาธารณะ หรือชาร์จอุปกรณ์โดยใช้แท่นวางชาร์จยูเอสบี (USB) แบบสาธารณะ หรือเปิดใช้งานการเชื่อมต่ออัตโนมัติในอุปกรณ์ของตน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนทำให้ข้อมูลของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง
นักเดินทางไม่มั่นใจว่าสามารถปกป้องข้อมูลของตนเองได้: มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 25% เท่านั้นที่บอกว่า พวกเขามั่นใจมากถึงมากที่สุดในความสามารถในการปกป้องตนเองจากอาชญากรรมไซเบอร์ในขณะเดินทาง
ทั้งนี้ ทีมไอบีเอ็ม ซิเคียวริตี้ ได้ให้คำแนะนำสำหรับนักเดินทางเกี่ยวกับวิธีการป้องกันข้อมูลของตนในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวไว้ดังนี้
- พึงระวังเกี่ยวกับโปรแกรมสะสมแต้ม: ข้อมูลในโปรแกรมสะสมแต้มและแลกรางวัล มีค่าเปรียบดังเงินสดสำหรับบรรดาอาชญากรไซเบอร์ นักเดินทางควรหมั่นตรวจดูบัญชีของตัวเองเพื่อระวังกิจกรรมที่ไม่น่าไว้ใจ และควรตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก หรือตั้งค่าการพิสูจน์ตัวตนแบบหลายปัจจัยถ้าทำได้
- เลือกใช้บริการ Wi-Fi อย่างระมัดระวัง: เป็นเรื่องง่ายมากที่บรรดาอาชญากรไซเบอร์จะทำการโฮสต์เครือข่ายไวไฟในที่สาธารณะเพื่อรวบรวมข้อมูลสำคัญ เช่น ข้อมูลบัตรเครดิต และอื่น ๆ แม้แต่เครือข่ายที่ถูกกฎหมายซึ่งโฮสต์โดยองค์กรต่าง ๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจเปิดช่องให้มีการโจรกรรมข้อมูลดิจิทัลได้ คุณจึงควรหลีกเลี่ยงเครือข่ายสาธารณะหากทำได้ และพิจารณาการใช้เครือข่ายเสมือนส่วนตัว หรือ "วีพีเอ็น" (VPN) เพื่อเพิ่มการรักษาความปลอดภัย
- นำแบตเตอรี่สำรองติดตัวไปด้วย: แท่นชาร์จยูเอสบีที่ให้บริการฟรี อาจทำให้คุณมีต้นทุนที่สูงลิ่วอย่างคาดไม่ถึง บรรดาอาชญากรไซเบอร์อาจดัดแปลงแท่นชาร์จยูเอสบี เพื่อดาวน์โหลดข้อมูลจากมือถือของคุณ หรือติดตั้งมัลแวร์โดยที่คุณไม่ทราบเลย ดังนั้น คุณควรนำแบตเตอรี่สำรองของตัวเองติดตัวไปด้วยเพื่อชาร์จแบตเตอรี่เมื่อแบตฯ เหลือน้อย หรือใช้เต้าเสียบปลั๊กติดผนังแบบเก่าแทนการใช้พอร์ตยูเอสบี
- ปิดการเชื่อมต่อที่ไม่จำเป็น: หากคุณไม่จำเป็นต้องใช้การเชื่อมต่อ ก็ควรปิดไปเลย ทั้งนี้ รวมถึงไวไฟ บลูทูธ และการเชื่อมต่อเครือข่ายอัตโนมัติด้วย
- ฉีกทำลายตั๋วเดินทางของคุณ: เศษกระดาษเล็ก ๆ อาทิ ตั๋วเดินทาง บัตรผ่านขึ้นเครื่อง ป้ายติดกระเป๋าสัมภาระ หรือใบเสร็จค่าใช้จ่ายในโรงแรม อาจดูเหมือนไร้ประโยชน์และไม่เป็นอันตรายใด ๆ เมื่อคุณจบการเดินทางนั้นแล้ว แต่รู้ไหมว่าอาชญากรไซเบอร์สามารถรวบรวมข้อมูลมากมายเหล่านี้เพื่อเข้าถึงข้อมูลรางวัลในโปรแกรมสะสมคะแนนของคุณได้ ดังนั้น คุณควรเก็บเอกสารเหล่านี้เอาไว้จนกว่าจะสามารถทำลายทิ้งอย่างเหมาะสม เช่น การนำเข้าเครื่องทำลายเอกสารหรือฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ
- รอบคอบก่อนจ่ายเงิน: อย่าใช้บัตรเดบิตที่ร้านค้าหรือร้านอาหารที่ไม่มีเครื่องมือรักษาความปลอดภัยสำหรับป้องกันระบบ ณ จุดขายของพวกเขา ถ้าคุณต้องใช้บริการจากตู้เอทีเอ็ม ให้เลือกตู้ที่อยู่ในสำนักงานสาขาของธนาคารหรือภายในสนามบิน เพื่อลดโอกาสการถูกโจรกรรมข้อมูลจากตู้เอทีเอ็ม
เพียงแบ่งเวลาสักนิดเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้เอาใจใส่และระมัดระวังกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ก็อาจจะช่วยให้เทศกาลวันหยุดของคุณมีความสุขสนุกสนานครบรสยิ่งขึ้น