กฎหมายกับการเปิดโปงการกระทำความผิด

กฎหมายกับการเปิดโปงการกระทำความผิด

วันนี้กฎหมายไทยให้ความคุ้มครองกับผู้แจ้งเบาะแสที่พบเห็นการกระทำความผิดอย่างไรบ้าง

การเปิดโปงหรือการแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด (Whistleblowing) เป็นเรื่องใหญ่ในระดับสากลในหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องของการร้องเรียนที่ได้นำไปสู่กระบวนการไต่สวนเพื่อขอถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ แห่งสหรัฐ ออกจากตำแหน่ง

ย้อนกลับไปในอดีต ก็มีกรณีสำคัญๆ ที่ผู้เข้าถึงข้อมูล นำข้อมูลนั้นออกเผยแพร่ต่อสายตาของสาธารณชน เช่น แดนเนียล เอลส์เบิร์ก (Daniel Ellsberg) เปิดเผยข้อมูลของกระทรวงกลาโหมอเมริกันเรื่องสงครามเวียดนาม ที่รู้จักกันดีในนาม Pentagon papers ถูกดำเนินคดีในปี 2516 โดยศาลตัดสินให้ถอนคำฟ้องในปีนั้นเอง

หรือ เชลซี แมนนิ่ง (Chelsea Manning) ที่เปิดเผยข้อมูลให้จูเลียน อาซานจ์ (Julian Assange) นำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ที่เรียกกันว่า WikiLeaks และต้องหนีหัวซุกหัวซุนไป โดยเชลซีปัจจุบันยังคงจำคุกอยู่แม้ว่าจะถูกลดโทษและปล่อยตัวมาก่อนหน้า เนื่องจากปฏิเสธที่จะให้การปรักปรำจูเลียน อาซานจ์

หรือ เอดเวิร์ด สโนเดน (Edward Snowden) ซึ่งเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐ (National Security Agency) ในปี 2556 และหนีไปรัสเซียเพื่อหาที่พักพิง

แต่กรณีที่ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ แต่อาจน่าสนใจกว่าสำหรับการบัญญัติกฎหมายไทย คือกรณีของแคเธอรีน กัน (Katharine Gun) ที่อังกฤษ ซึ่งแอบเปิดเผยข้อมูลที่สหรัฐส่งอีเมลขอให้หน่วยข่าวกรองของอังกฤษกระทำการผิดกฎหมาย นั่นคือให้ขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวของสมาชิกสภาความมั่นคง (Security Council) ของสหประชาชาติ ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามกับอิรัก เพื่อใช้ในการบีบบังคับให้เปลี่ยนท่าที ในปี 2546

ทั้งกรณีแคเธอรีน กัน กับแดนเนียล เอลส์เบิร์ก สรุปว่าไม่มีความผิดทั้งคู่ ต่างกันตรงที่กรณีแดนเนียล ซึ่งถูกดำเนินคดีนั้น ศาลมีมติยกฟ้องด้วยเหตุผลว่าฝ่ายโจทก์ได้ข้อมูลมาโดยผิดกฎหมายและกระบวนการแสวงหาหลักฐานไม่ถูกต้อง เลยกลายเป็นฮีโร่ในทันที

ด้านกรณีของแคเธอรีนนั้น กฎหมายอังกฤษเปิดโอกาสให้จำเลยสามารถอ้างเหตุความจำเป็นเรื่องอันตรายต่อชีวิตในการต่อสู้คดีได้ และมีสิทธิขอคำสั่งศาล (subpoena) ให้โจทก์เปิดเผยข้อมูลซึ่งเป็นเหตุแห่งอันตรายนั้นๆ อัยการของรัฐจึงถอนฟ้อง โดยอ้างว่าหลักฐานไม่เพียงพอสำหรับการเอาผิด แต่ข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่าสิทธิ์ของจำเลยที่จะขอหมายศาลให้เปิดเผยข้อมูลนั้น หมายความว่ารัฐบาลจะต้องเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ต้องการจะเปิด เห็นได้ว่าการเขียนสิทธินี้ไว้ในกฎหมายแม้กระทั่งเรื่องคดีความมั่นคงน่าจะเป็นประโยชน์สาธารณะ

หันมาดูกฎหมายไทย ตามมาตรา 63 และ 278 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 การทำร่างกฎหมายเรื่องนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณา พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ แต่ได้ใส่รายละเอียดเรื่องนี้ไว้เพิ่มเติมในหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เช่น การคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสเช่นเดียวกับการคุ้มครองพยานในคดีอื่นๆ หากผู้ชี้เบาะแสเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ให้เสนอ ครม.พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษได้ แม้ผู้นั้นจะเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดก็จะกันไว้เป็นพยาน

แต่ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ อีก เช่น มาตรา 132 กำหนดว่า ผู้ที่ให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หากการปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดเดิมต่อไปอาจถูกกลั่นแกล้งได้ ก็ให้ ป.ป.ช.เสนอต่อนายกฯ สั่งการให้คุ้มครอง โดยอาจเสนอตำแหน่งและสิทธิประโยชน์อื่นในหน่วยงานอื่น เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสการทุจริต กลับดูเหมือนจะเพิ่มอุปสรรคให้กับผู้ชี้เบาะแส เช่น การกำหนดให้ผู้ชี้เบาะแสต้องเป็นเครือข่ายต้านทุจริต ที่มีสมาชิก 15 คน และจะต้องขอ "คำรับรอง" จากรัฐก่อน (มาตรา 20 และ 35) ทำให้ผู้พบเห็นการทุจริตทั่วไปไม่สามารถได้การคุ้มครอง

หรือการกำหนดให้เครือข่ายที่จะยื่นคำขอคำรับรองต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น (มาตรา 20 ก.1) ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีประชากรที่ยังไม่มีสัญชาติกว่า 4 แสนคน มีคนสัญชาติอื่นจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามารับจ้างทำงานกว่า 1 แสนคน และยังมีชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในไทยเพื่อประกอบธุรกิจ อาศัยอยู่กับครอบครัว เกษียณอายุมา หรือมาท่องเที่ยวอีกเป็นจำนวนมาก

ในทางตรงกันข้าม ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสฯ ดูเหมือนจะมุ่งเน้นข่มขู่เอาผิดผู้ชี้เบาะแส หากแจ้ง "ข้อมูลอันเป็นเท็จ" (มาตรา 54) มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท นอกจากนี้มาตรา 53 ยังกำหนดว่าผู้ใดอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนตาม พ.ร.บ.นี้ไปบิดเบือนเพื่อประโยชน์ในทางมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท

อีกทั้งการแจ้งเบาะแสต้องยื่นที่ศูนย์ประสานความร่วมมือ ของ ป.ป.ท.เท่านั้น (มาตรา 30) หมายความว่า ผู้ที่พบเห็นการทุจริตที่ใช้วิธีการอื่น เช่น แจ้งตำรวจ จัดแถลงข่าว ส่งข้อมูลให้สื่อมวลชน โพสต์สิ่งที่พบเห็นบนเฟซบุ๊ค ฯลฯ จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามร่างกฎหมายนี้

กรณีทุจริตต่างๆ โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ ที่มีรายละเอียดมากและประชาชนอาจเข้าไม่ถึง หากมีการแจ้งเบาะแสฯ  จะสามารถป้องกันความเสียหายต่อประเทศได้มาก ถ้าวิเคราะห์คดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายสถานที่ก่อสร้าง เช่น กรณีทุจริตคลองด่าน ที่ย้ายสถานที่จากบางปูใหม่และบางปลากดไป ต.คลองด่าน หรือการเขียนสัญญาเอื้อประโยชน์ต่อการกระทำการทุจริต เช่น กรณีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และอื่นๆ อีกมาก 

เรียกได้ว่าแทบทุกกรณีที่มีการทุจริตเกิดขึ้นจะต้องมีผู้รู้ในหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งมิได้อยู่ในเครือข่ายผู้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิด เห็นข้อมูลแต่ไม่กล้าเปิดเผยข้อเท็จจริง หากการเปิดเผยข้อมูลเพื่อสาธารณประโยชน์กระทำได้ง่ายขึ้น ประเทศชาติจะได้ประโยชน์ในการป้องกันความเสียหายต่างๆ ที่ตามมา

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะมาสะสางความคิดให้ตกผลึกและกำหนดนิยามให้ชัดเจนไว้ล่วงหน้า ว่ากรณีใดจึงจะเป็นเรื่องความมั่นคงที่การเปิดเผยคือการกระทำความผิด และกรณีใดที่เป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งควรได้รับการยกเว้นและคุ้มครอง

หรือเขียนกฎหมายให้มีช่องทางที่ผู้แจ้งเบาะแสสามารถใช้ปกป้องตนเองได้อย่างกรณีแคเธอรีน กัน