10 ศิลปินผู้ปฏิวัติวงการดนตรีในรอบทศวรรษ
CNN คัดเลือกนักร้อง 10 รายที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหันต์ในวงการดนตรีช่วงทศวรรษ 2010 ที่ผ่านมา
การก้าวเข้าสู่ปี ค.ศ. 2020 ไม่ได้เป็นเพียงการขึ้น 'ศักราช' ใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นการเริ่ม 'ทศวรรษ' ใหม่อีกด้วย ส่งผลให้ทางซีกโลกตะวันตกมีการจัดอันดับ ‘ที่สุดแห่งทศวรรษ’ ในด้านต่าง ๆ ออกมากันมากมาย
รวมถึงสื่อยักษ์ใหญ่ของอเมริกาอย่าง ซีเอ็นเอ็น (CNN) ซึ่งได้ทำการคัดเลือกศิลปิน 10 รายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้เกิดขึ้นกับวงการดนตรีในรอบทศวรรษที่ผ่านมา (artists who transformed music this decade) โดยพิจารณาจากการที่ศิลปินเหล่านี้ได้สร้างหรือนำเสนอแนวเพลงของพวกเขา (รวมไปถึงตัวของพวกเขา) ในรูปแบบใหม่ ซึ่งส่งอิทธิพลต่อวงการดนตรีได้อย่างน่าทึ่ง
“ศิลปินเหล่านี้บีบบังคับให้วงการดนตรีต้องเปลี่ยนตามพวกเขา สร้างเสียง (sound) และสไตล์การแสดงใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการดนตรี บทเพลงของพวกเขาไม่ได้เป็นแค่นิยามของทศวรรษเท่านั้น แต่ยังผลักดันพวกเราไปข้างหน้าด้วย”
- (บียอนเซ่) Beyoncé : ผู้ครอบงำ popular music, เปลี่ยนวิธีออกอัลบั้มของศิลปิน
ในทศวรรษ 2010 ควีนบีปล่อย 3 สตูดิโออัลบั้ม (4, Beyoncé, Lemonade) 2 อัลบั้มแสดงสด (I Am.... World Tour, Homecoming) 1 อัลบั้มซาวด์แทร็ก (The Lion King: The Gift) และ 1 อัลบั้มที่ทำร่วมกับสามี เจย์-ซี (Everything Is Love) ซึ่งทุกอย่างที่เธอปล่อยออกมากลายเป็นไวรัล และส่งผลกระทบทางวัฒนธรรมตามมา อาทิ ประโยค “ฉันตื่นมาก็สวยไร้ที่ติเลย” (I woke up like, flawless) จากเพลง Flawless ของเธอที่ไปปรากฏอยู่บนทุกอย่างตั้งแต่เสื้อยืดไปจนถึงเครื่องสำอาง
- เคนดริก ลามาร์ (Kendrick Lamar) : ผู้นำพาเพลงแร็ปไปอีกระดับ
คุณไม่สามารถพูดถึงดนตรีแร็พในทศวรรษที่ผ่านมาโดยไม่พูดถึงเพลงของ เคนดริก ลามาร์ แรปเปอร์หนุ่มจาก The Compton แคลิฟอร์เนีย ผู้นี้ก้าวเข้าสู่เมนสตรีมในปี 2012 ด้วยอัลบั้ม Good Kid, M.A.A.D City แล้วทวีความดังไปเรื่อย ๆ ด้วยอัลบั้ม To Pimp a Butterfly ในปี 2015 และ DAMN ในปี 2017 ซึ่งอัลบั้มนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ไปครอง และนับเป็นครั้งแรกที่มีการมอบรางวัลนี้ให้กับนักร้องที่ไม่ได้เป็นศิลปินเพลงคลาสสิกหรือแจ๊ส
- แฟรงก์ โอเชียน (Frank Ocean) : ตัวแทนคนยุคมิลเลเนียม
แฟรงก์มาพร้อมอินเทอร์เน็ต เขาปล่อยอัลบั้มเต็มเพียง 2 อัลบั้ม แต่เป็นอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมด้วยกันทั้งคู่ นอกจากดนตรีแล้ว แฟรงก์ยังเป็นผู้สร้างทัศนคติใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องรักร่วมเพศในแวดวงฮิพฮอพ โดยหลังจากปล่อยอัลบั้มแรก Channel Orange ได้เดือนเดียว แฟรงก์ก็เขียนจดหมายเปิดผนึก ประกาศเพศสภาพของตัวเอง และความสัมพันธ์กับผู้ชายที่เขาบอกว่าเป็นรักแรก
จดหมายอีกฉบับที่แฟรงก์เขียนขึ้นหลังเกิดเหตุกราดยิงในไนต์คลับของชาวเกย์ชื่อ Pulse ในออร์แลนโด เมื่อปี 2016 ก็ทำให้กระแสแอนตี้ชาวเกย์ในวงการฮิพฮอพดีขึ้นเช่นกัน
หาก บิลลี่ ไอลิช (Billie Eilish) คือเสียงของ Gen Z แฟรงก์ โอเชียน ก็คือเสียงของหนุ่มสาวยุคมิลเลนเนียม ด้วยเนื้อเพลงที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก โปรดักชั่นที่ฉูดฉาด และการผสานทุกแนวเพลงเข้าด้วยกัน
- เลดี้ กาก้า (Lady Gaga) : ความสามารถทางดนตรีที่กว้างขวาง และความกล้าทดลองสิ่งใหม่ ๆ
หลังประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นจาก Poker Face และ Bad Romance กาก้าตอกย้ำความเป็นตัวจริงทางดนตรีด้วย Edge of Glory และ Born This Way ที่กลายเป็นเพลงชาติของเหล่า LGBTQ ไปแล้ว เท่านั้นไม่พอ กาก้ายังไปดูเอ็ตเพลง Cheek to Cheek กับ โทนี เบนเนตต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเพลงแจ๊สเธอก็ร้องได้ดี รวมถึงเพลงบัลลาดกินใจ Shallow ที่ทำให้เธอได้ออสการ์ไปครองอีกด้วย
นอกจากความสามารถด้านดนตรี กาก้ายังเป็นผู้นำแฟชั่นที่เกินจินตนาการ โดยเฉพาะชุดทำจากเนื้อสดซึ่งกลายเป็นโมเมนต์แห่งทศวรรษไปแล้ว
- เดรก (Drake) : ผู้เจือจางเส้นแบ่งระหว่างเพลงฮิพฮอพกับเพลงป๊อป, ผู้เขียนนิยามแนวเพลงขึ้นใหม่
เดรก ไม่ได้เป็นแค่แรปเปอร์หรือนักร้อง แต่เขากลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมไปแล้ว ทศวรรษที่ผ่านมา เดรกออก 5 สตูดิโออัลบั้ม 3 มิกซ์เทป ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะคิดถึงเพลงในทศวรรษ 2010 โดยที่ไม่มีเพลงฮิตของเดรกรวมอยู่ด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขากลายเป็น ‘ศิลปินที่มียอดสตรีมมิ่งสูงสุดทาง Spotify’
นิวยอร์ก ไทม์ส ได้ให้เครดิตเดรกเอาไว้ว่าเป็นคนทำให้เพลงแรปป๊อปขึ้น ซึ่งตัวอย่างของเพลงเหล่านั้น ได้แก่ Hold On, We're Going Home ซึ่งเดรกใส่บีทแบบ synth-pop เข้าไป ทำให้เพลงนี้ไม่ใช่เพลงฮิพฮอพจ๋า แต่เป็นอย่างอื่นที่แตกต่าง เพราะมันคือ ‘เพลงของเดรก’
- เมโทร บูมิน (Metro Boomin) : ผู้ผลักดันเมนสตรีมฮิพฮอพขึ้นสู่จุดสูงสุดใหม่
คุณอาจไม่รู้จักหน้าค่าตาของ เมโทร บูมิน แต่เชื่อเถอะว่าคุณรู้จักเพลงของเขาที่ครองชาร์ตต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Bad and Boujee, Mask Off, Jumpman, Congratulations หรือ Tuesday
บูมิน วัย 26 เป็นโปรดิวเซอร์ซึ่งเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่งในทศวรรษ เขาทำบีทให้นักร้องดัง ๆ มากมาย เช่น Migos, Post Malone, เดรก, Gucci Mane, Young Thug, Travis Scott
- เทย์เลอร์ สวิฟท์ (Taylor Swift) : ผู้ผลักดันขอบเขตระหว่างเพลงคันทรี่กับเพลงป๊อป และต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในเพลงของตัวเอง
สวิฟท์เริ่มทศวรรษด้วยการเป็นนักร้องเพลงคันทรี แล้วปิดทศวรรษด้วยการเป็นนักร้องผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล โดยมีรางวัลที่เธอกวาดมาครองจนนับไม่ถ้วนเป็นเครื่องการันตี
สวิฟท์ยังยืนหยัดต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลในวงการเพลงอย่างกล้าหาญ ทั้งเรียกร้องผู้ให้บริการสตรีมมิ่งจ่ายค่าตอบแทนให้ศิลปินมากขึ้น และการต่อสู้กับ Scooter Braun เจ้าของค่ายเพลงเก่าที่ไม่ยอมให้เธอมีสิทธิ์ในเพลงที่เธอทั้งแต่งและร้องเอง
- โซแลง (Solange) : ผู้ชุบชีวิตเพลง R&B, ผู้ทรงอิทธิพลต่อศิลปิน alternative R&B
ในช่วงแรก ๆ โซแลงต้องต่อสู้กับการถูกพะยี่ห้อว่าเป็น ‘น้องสาวบียอนเซ่’ แต่พอมาในทศวรรษ 2010 เธอได้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ ในเพลง R&B แล้วยังอ้าแขนรับเพลง neo-soul, electronic, funk ให้เข้ามามีอิทธิพลในงานของตัวเอง ดังนั้น ไม่ใช่แค่อัลบั้มเท่านั้น แต่ MV ของโซแลงได้กลายเป็น performance art ไปเป็นที่เรียบร้อย
อัลบั้ม A Seat at the Table (2016) ซึ่งพูดถึงอัตลักษณ์ของคนดำ ได้ส่งผลกระทบทางวัฒนธรรมมากมาย เพลงอย่าง Don't Touch My Hair และ Cranes In The Sky ส่งอิทธิพลไปทั่ว ไม่เฉพาะแค่ในหมู่คนดำ แถมเพลงหลังยังคว้ารางวัลแกรมมี่สาขา Best R&B Performance ไปครองด้วย
- บีทีเอส (BTS) : ผู้ทำให้ K-pop เป็นที่นิยมในสหรัฐฯ
คุณอาจไม่เคยฟังเพลงของบีทีเอสมาก่อน หรือคุณอาจจะเป็นแฟนตัวยงของพวกเขาก็ได้ แต่ไม่ว่าจะแบบไหน คุณก็ไม่อาจปฏิเสธแรงกระเพื่อมในวงการดนตรีที่ 7 หนุ่มเกาหลี อันประกอบไปด้วย RM, JIN, SUGA, JHOPE, JIMIN, V, JUNGKOOK สร้างขึ้นมาได้
อัลบั้ม Love Yourself: Tear ของพวกเขาที่ออกมาเมื่อปี 2018 เป็นอัลบั้มเคป๊อปอัลบั้มแรกที่ได้ครองอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard 200 นอกจากนี้ บีทีเอสยังเป็นศิลปินมี 3 อัลบั้ม ครองอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard 200 ภายในปีเดียว เทียบเท่ากับวงในตำนานอย่าง The Beatles
เคป๊อปได้รับความนิยมในเอเชียแต่ยากที่จะเจาะตลาดสหรัฐฯ เคยมีวง Wonder Girls นำเพลง Nobody ติดชาร์ตบิลบอร์ด Hot 100 ที่อันดับ 76 มาแล้วเมื่อปี 2009 ตามด้วยเพลง Gangnam Style ของ Psy ที่อันดับ 10 เมื่อปี 2012 แต่บีทีเอสทำได้มากกว่านั้น เพราะพวกเขาทำให้มันเข้าสู่กระแสหลักได้
- คานเย่ เวสต์ (Kanye West) : บทเพลงที่เป็นนิยามแห่งทศวรรษ, ผู้สร้างความตื่นตะลึงไม่หยุดหย่อน
ความแน่นอนของคานเย่คือความไม่แน่นอน และธรรมชาติที่ขัดแย้งกัน เขาเริ่มทศวรรษด้วยการเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจเพราะขึ้นไปขวาง เทย์เลอร์ สวิฟท์ ไม่ให้รับรางวัล VMAs แต่กลับปิดทศวรรษด้วยการทำอัลบั้มโอเปรา และกอสเปลอันงดงาม แถมยังประณามการใช้ถ้อยคำหยาบโลนลามกอนาจารที่เคยมีอยู่ดาษดื่นในเพลงของตัวเอง
ปี 2018 คานเย่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไบโพลาร์ แต่แทนที่จะหดหู่ เขากลับนำมันมาเป็นแรงบันดาลใจในการผลิตงาน ไม่นับรวมเรื่องการออกแบบรองเท้า Yeezy ที่ปฏิวัติวงการรองเท้ากีฬา และกลายเป็นไอเท็มยอดฮิตในวงการแฟชั่นไปแล้ว!