บ้านเก่าเล่าเรื่อง บ้านเมืองมีชีวิต

บ้านเก่าเล่าเรื่อง บ้านเมืองมีชีวิต

“ถ้าจะหาของใช้ในงานพิธีจีนต้องมาที่นี่ ถ้าที่นี่ไม่มีก็ไม่ต้องไปหาที่อื่นแล้ว” เป็นคำกล่าวที่กลายเป็นคำจำกัดความไปแล้วเมื่อเอ่ยถึง ชุมชนเจริญไชย ย่านขายสินค้ากระดาษไหว้เจ้าที่ใหญ่ที่สุด

และเป็นย่านการขายสินค้าวัฒนธรรมประเพณีที่มีครบทุกอย่างในการประกอบพิธีกรรมของชาวจีนไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืองานอวมงคล

ครบเครื่องถึงขนาดรายการโทรทัศน์จากประเทศจีนเดินทางมาขอถ่ายทำสารคดีประเพณีการไหว้พระจันทร์ เพื่อนำไปออกอากาศให้คนจีนแผ่นดินใหญ่ได้ชมการจัดโต๊ะและพิธีการไหว้พระจันทร์แบบดั้งเดิมที่สืบกันมายาวนานว่าเป็นเช่นไร เนื่องจากช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีนพิธีกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้าม ทำให้ธรรมเนียมปฏิบัติเกิดความขาดช่วง

ใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีนแล้ว กรุงเทพธุรกิจ ชวนคุณลัดเลาะไปสัมผัสบรรยากาศการค้าขายอันคึกคักในย่านเจริญไชย แล้วไปทำความรู้จักกับ “ชุมชน” ผ่านพิพิธภัณฑ์เล็กๆ “บ้านเก่าเล่าเรื่อง” ที่จะพาเราย้อนไปเห็นภาพวันวาน ก่อนออกมาเชื่อมโยงกับภาพชีวิตจริงในปัจจุบันที่ตอนนี้เต็มไปด้วยสีแดงและสีทองอร่ามไปทั่วทั้งชุมชน

บ้านเก่าเล่าเรื่อง ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 23 จากสถานีรถไฟฟ้าวัดมังกรเดินมาไม่ไกล เดินเข้าซอยเล็กๆมาสุดซอยแล้วเลี้ยวซ้ายจะพบ “บ้านเก่าเล่าเรื่อง” แฝงตัวอยู่ท่ามกลางร้านค้ากระดาษไหว้เจ้า มีจุดเด่นตรงที่หน้าบ้านมีพื้นที่แคบกว่าใคร มองเข้าไปเห็นตู้จำหน่ายหนังสือและเสื้อยืด พื้นที่ชั้นล่างมีเพียงเท่านี้ เราต้องเดินขึ้นบันไดแคบๆที่นำไปสู่ชั้น 2 อันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์

157945646733

คุณศิริณี อุรุนานนท์ (ภาพ:พายุทราย พรายทะเล)

คุณศิริณี อุรุนานนท์ หนึ่งในคณะทำงานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านเจริญไชย บอกกับเราว่าบ้านเก่าเล่าเรื่อง เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนแห่งแรกและแห่งเดียวในเยาวราชที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของชุมชนที่แท้จริง

“สมัยก่อนตรอกนี้เรียกกันว่า ตงเฮงโกย หมายถึงไม้ไผ่ยาวๆ เพราะลักษณะซอยมีความยาวลึกไปข้างใน ที่มาเรียกว่าเจริญไชย สันนิษฐานว่ามาจากคำว่าเจริญกรุงกับพลับพลาไชย ถนนสองสายที่อยู่ใกล้กับชุมชน

เดิมมีร้านขายยาจีน ปากซอยเป็นโซลิดการแพทย์ สมัยก่อนคนจีนจะไม่นิยมไปโรงพยาบาลเพราะว่าพูดไทยไม่ได้ จะไปร้านที่เป็นหมอจีนที่พูดกันรู้เรื่อง โซลิดการแพทย์จะดังมากมีคนจีนมารักษาเยอะ ทำให้ในตรอกนี้มีร้านขายยา ขายสุราจีน มีร้านโพยก๊วน ที่ให้บริการฝากเงินไปให้ญาติที่เมืองจีน มีร้านขายเสื้อผ้าร้านตัดเย็บ ร้านขายกระดาษไหว้เจ้าในช่วงแรกจะมีแค่ร้านสองร้านมาช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แต่ชุมชนจีนที่เข้ามาอาศัยในที่นี้อยู่กันมา 90 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5”

157945694497

 คุณศิริณี กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ตรอกตงเฮงโกย หรือ เจริญไชย กลายเป็นศูนย์รวมของการค้าขายกระดาษไหว้เจ้าที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันว่า น่าจะมาจากที่ตั้งของชุมชนที่ล้อมรอบไปด้วยวัดและศาลเจ้าสำคัญ 5 แห่ง ได้แก่ วัดมังกรกมลาวาส ศาลเจ้ากวางตุ้ง ศาลเจ้าหลีตีเบี้ยว ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ และศาลเจ้าไต้ฮงกง

“ ตอนนี้มีประมาณ 80 ครอบครัวที่ประกอบกิจการค้าขายของไหว้เจ้า โดยมีกระดาษไหว้เจ้าเป็นสินค้าหลัก เรียกว่ามีลูกค้ามาซื้อจากที่นี่แล้วนำไปขายทั่วประเทศ กระดาษไหว้เจ้าของที่นี่จะมีจำหน่ายตลอดทั้งปี มีสินค้าสำหรับทุกเทศกาล

นอกจากกระดาษแล้ว มีร้านค้าที่ขายของกินสำหรับไหว้เจ้าด้วย ส่วนมากเป็นของแห้ง เช่นเห็ดหอม แปะก๊วย พุทรา คือมีครบทุกอย่างสำหรับของไหว้เจ้า เมืองจีนยังมีไม่เท่าเรานะ เพราะว่าช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ศาลเจ้าถูกปิด ประเพณีขาดไปเลยคนจีนเลยไม่รู้เรื่อง เขาต้องมาหาจากที่นี่ หลายปีก่อนสถานีโทรทัศน์ CCTV ประเทศจีน มาขอถ่ายทำประเพณีการไหว้พระจันทร์ จากชุมชนเรา”

คุณศิริณี เล่าพร้อมกับนำชมการจัดโต๊ะสำหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดมาให้เห็นเพียง 1 ใน 7 ของโต๊ะวางของไหว้เทพเจ้าที่กล่าวได้ว่าเป็นประเพณีที่ใช้กระดาษมากที่สุด มีสีสวยงามที่สุด และมีการพับประดิษฐ์เป็นรูปทรงต่างๆที่สวยที่สุด โดยรูปแบบการพับขึ้นอยู่กับฝีมือแต่ละร้าน

157945704040

โต๊ะเครื่องไหว้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ (ภาพ :พายุทราย พรายทะเล)

ส่วนนิทรรศการหลักของพิพิธภัณฑ์ นำเสนอเรื่องราว หลังบ้านงิ้ว เพื่อรำลึกถึงผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ในห้องนี้มาก่อน นั่นก็คือ ครอบครัวนักแสดงงิ้วคณะเฮียเฮง รับแสดงตามงานเทศกาลต่างๆของศาลเจ้า ว่าจ้างกันข้ามปี รวมทั้งการแสดงที่เรียกว่า จั๋วเอี้ย เป็นการขับร้องเพลงงิ้วพร้อมกับบรรเลงดนตรี 3 ชิ้น ขิม ซอ และกลองเล็ก แต่งตัวธรรมดา คณะหนึ่งมี 15 คน นิยมเล่นตามสถานที่เล่นไพ่นกกระจอก เจ้าของจ้างไปเล่น

“ห้องนี้เป็นที่อยู่ ที่ซ้อมของนักแสดงงิ้ว เท่าที่รู้มาสมัยก่อนอยู่กัน 4-5 ครอบครัว เพราะคนจีนสมัยก่อนอยู่กันแบบพอมีที่หลับที่นอน ตื่นเช้าก็แยกย้ายกันไปทำงาน อีกเหตุผลที่ทำเรื่องหลังม่านงิ้วเพื่อที่จะบอกว่าสมัยก่อนเยาวราชมีโรงงิ้ว 10 กว่าโรง คนที่มีอาชีพที่เกี่ยวกับงิ้วทั้งหลายอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนตัดเย็บชุด คนทำอาวุธสำหรับนักแสดง ช่างทำเครื่องดนตรีอยู่ซอยแปลงนามอยู่ใกล้กัน รวมถึงคนทำ เราทำขึ้นเพื่อที่จะรำลึกถึงคนเหล่านั้น”

       

157945721490

นิทรรศการหลังม่านงิ้ว (ภาพ:พายุทราย พรายทะเล)

นิทรรศการหลังม่านงิ้วจำลองบรรยากาศ บริเวณเตรียมตัวก่อนการแสดงประกอบด้วย ศาลเจ้าสำหรับไหว้เทพ “ชั้งห่วงส่วย” ซึ่งเป็นเทพที่นักแสดงเคารพนับถือ มีอาวุธใช้ประกอบการแสดง เครื่องดนตรีจีน หีบใส่เครื่องแต่งตัว อุปกรณ์แต่งหน้า โต๊ะแต่งตัว ตะเกียงรวมทั้งชุดนักรบหรือชุดเกราะของตัวละครหญิง ใช้แสดงเวลาออกรบ มีหมวกและธงปักลายหงส์ 4 ผืนอยู่ด้านหลัง ชุดที่เหลือเป็นชุดธรรมดาที่ใช้ในงานแสดง 40 ปีมาแล้ว

ส่วนมุมด้านล่างของโรงงิ้วจำลอง จัดแสดงห้องประวัติศาสตร์ของชุมชม จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ รวมไปถึงภาพถ่ายโบราณที่มีผู้ส่งมาให้ทาง เฟสบุ๊ค : บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย เป็นภาพถ่ายมุมสูงของตึกแถวเมื่อปี 2493 โดยช่างภาพชาวต่างประเทศ

157945728551

และที่สะดุดตาผู้มาเยือนมากถึงขนาดบางคนมารอพบเจ้าของนั่นคือ มุมหมอดูปึงเต็งลั้งเซียน ของ เฮียฮก แซ่ปึ หมอดูโหราศาสตร์จีนโบราณผู้ล่วงลับและเป็นตำนานของชุมชนมากว่า 80 ปี เฮียฮก เป็นหมอดูที่ใครๆมักจะมาให้ดูดวงชะตา ดูฤกษ์อยู่เสมอ ป้ายลักษณะโหงวเฮ้งของเฮียฮกเป็นภาพคุ้นตา เมื่อไม่มีผู้สืบทอดกิจการ ภรรยาของเฮียฮกจึงนำป้ายทั้งหมดของร้านรวมทั้งตำราและรูปถ่ายนำมามอบให้พิพิธภัณฑ์จัดแสดง

บ้านเก่าเล่าเรื่อง เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนขนาดเล็กๆที่บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในย่านนี้ได้อย่างมีเสน่ห์ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจของชุมชนที่นำเอาจุดเด่นและประวัติศาสตร์ชุมชนมาแสดงให้สังคมเห็นถึงความสำคัญ หลังจากได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินตั้งแต่ปี 2551 แม้ว่าปัจจุบันรถไฟฟ้าใต้ดินสายนี้จะเปิดให้บริการแล้วก็ตาม หากข้อกังวลในเรื่องสัญญาเช่าบนพื้นที่ของมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ยังคงมีอยู่

อย่างไรก็ตาม บ้านเก่าเล่าเรื่อง ในวันนี้ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่มีชีวิตอย่างแท้จริง เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่ 7.30 -18.30 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม