มะล่องก่องแก่ง ฟีเวอร์ กับ 'ลัทธิคัฟเวอร์' ที่แรงกว่าต้นขั้ว
ถอดรหัสหาคำตอบกับ "ลัทธิคัฟเวอร์" จากเพลงดังชั่วข้ามคืนอย่าง "มะล่องก่องแก่ง" ทำไมเพลงลูกทุ่งเสียงอีสานสไตล์ร็อคนี้ เมื่อถูกคัฟเวอร์จึงดังเปรี้ยงกว่าต้นฉบับ
สองสามวันมานี้ สื่อออนไลน์หลายสำนัก จับประเด็นเพลงชื่อแปลกๆ ท่อนฮุคโดนๆ มาเล่นข่าวสีสัน ส่งผลให้เพลง "มะล่องก่องแก่ง" ดังชั่วพริบตา
ไม่น่าประหลาดใจ หากวัดจากยอดวิวในยูทูบเมื่อ 21 มกราคม 2563 ปรากฏว่า เพลงมะล่องก่องแก่ง ที่คัฟเวอร์โดย มอส จารุภัทร Feat.แฮปปี้ ปริญญา พุ่งขึ้น 3 ล้านวิว ส่วนต้นฉบับเพลงมะล่องก่องแก่ง ร้องโดย "พจน์ สายอินดี้" เพิ่งได้ 1.8 ล้านวิว
นับแต่เพลงอินดี้อีสาน กลายเป็นกระแสหลัก ได้เกิดกลุ่มผู้ประกอบการทำธุรกิจเพลงรายย่อยเกิดขึ้นมากมาย มีการสร้างงานเพลงรายวัน พร้อมประกาศไม่จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ อยากนำไปร้อง ไปคัฟเวอร์ลงยูทูบ เชิญทำตามสบาย ยิ่งมีคนร้องมากเท่าใด เพลงยิ่งดัง และยอดวิวก็ทะยานขึ้นหลักร้อยล้านวิว
ค่ายสิงห์มิวสิคของหนุ่มไทบ้านขอนแก่น เป็นต้นแบบที่ให้มีการคัฟเวอร์เพลงดัง ส่งผลให้เกิด "ลัทธิคัฟเวอร์" เพลงฮิตระบาดไปทั่ววงการ และไม่ใช่เรื่องแปลก ที่คนคัฟเวอร์จะดังกว่าต้นฉบับ มียอดวิวสูงกว่า มีเอฟซีมากกว่า
จริงๆ แล้ว คนเหล่านี้ก็เป็นสตาร์ทอัพลูกทุ่ง เพราะโตมาจากโมเดลธุรกิจเพลงดิจิทัล และมีรายได้จากยูทูบ บวกกับการรับงานแสดงโชว์หน้าเวที
"พจน์ สายอินดี้" หรือสุพจน์ กุลสอน ชาว ต.พระบาทนาสิงห์ อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย หลังจบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (ทรัพยากรเกษตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร พจน์กลับทำสวนยางที่บ้านเกิด
ตามสูตรสำเร็จของนักล่าฝันยุคดิจิทัล พจน์แต่งเพลง ร้องเอง เผยแพร่ผลงานทางแฟนเพจ Supot Koonson เพื่อสร้างฐานแฟนคลับ และคัฟเวอร์เพลงดังลงยูทูบ
วันที่ 13 มกราคม 2563 พจน์ สายอินดี้ ปล่อยเพลง "มะล่องก่องแก่ง" ลงยูทูบ โดยการทำงานร่วมกับอินดี้อีหลีเรคคอร์ด และศรีบุญเพ็ง ศรีเอเชีย
แค่วันแรกปล่อยของออกไป ก็มีเสียงตอบรับดีเกินคาด เพราะคนทำดนตรีมีการผสมผสานระหว่างเพลงลูกทุ่งอีสานกับเพลงร็อกได้อย่างลงตัว กับทำนองที่เร้าใจใช้กีตาร์เป็นพระเอก
สำหรับเนื้อเพลง "มะล่องก่องแก่ง" เป็นการพูดถึงความรู้สึกผีเข้าผีออก เมื่อผู้หญิงมีเจ้าของอยู่แล้ว ยังจะดึงตัวเองเข้าไป ทั้งที่เป็นคนนอกสายตา เข้ามาให้รู้สึกดี แล้วก็ตีจากไป จึงเกิดความรู้สึกเจ็บปวดหัวใจ อยากจะถอยคืนกลับมาแต่จิตใจพังไปหมดแล้ว
"เจ้ามีเขาอยู่แล้ว ยังดึงอ้ายเข้าไปหา อ้ายคนนอกสายตา เจ้าบ่แคร์บ่สน อ้ายมันใจง่ายที่เจ้าบ่หลูโตน เบื่อนำคำเว้าคน เฮ็ดให้เฮาเปลี่ยนไป เจ้ามาเฮ็ดให้ฮู้สึกดี แล้วกะย่างหนีไป เจ็บแท้หนอใจอ้าย อยากถอยคืนกลับมา แต่ใจมันพังไปเบิ๊ดแล้ว เฮ็ดได้แค่เหลือใจเจ้าของ"
ด้วยคำร้องแปลกหู ดนตรีเร้าใจ จึงเริ่มมีนักร้องหรือหมอลำนำไปคัฟเวอร์ โดยเฉพาะ "มอส จารุภัทร" และเพื่อนที่มาพร้อมลีลาการร้องและการเต้นกวนโอ๊ย คอสตูมสุดเจ็บ สีสันแสบตามสไตล์แหยม ยโสธร
ที่สำคัญ ทีมงานโคกสูงอินดี้เลือกหยิบท่อนฮุกมาขยายแล้วขยี้ "ขอโทษที่เข้าไปเป็นมะริ่งกิ่งก่อง สะระน๊องก่องแก่ง มะน่องมะแน่งมั๊บ ปะล่องป่องแป่ง ง้องแง้งง้องแง้งในชีวิตเธอ" ต่างจากทีมงานของพจน์ สายอินดี้ ที่มองข้ามจุดนี้ไป
เพียงแค่ปล่อยเพลงมะล่องก่องแก่ง คัฟเวอร์โดยมอส จารุภัทร กระแสมะล่องก่องแก่งก็มาแรงทันที แถม #สะมารองก๊องแก๊ง ติดเทรนด์ทวิตเตอร์
จากนั้น สำนักข่าวออนไลน์ก็ไล่ขยี้ข่าวเพลง #สะมารองก๊องแก๊ง จนกลายเป็นเพลงแห่งชาติไปชั่วข้ามคืน ซึ่งมอส จารุภัทร สังกัดโคกสูงอินดี้ มีผลงานเพลงมาแล้วหลายซิงเกิลไม่ดังเปรี้ยง ก็ได้อานิสงส์มะล่องก่องแก่ง รับงานโชว์เพียบ
ส่วนต้นฉบับ "พจน์ สายอินดี้" เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ได้โพสต์แจ้งข่าว "ขอบพระคุณทุกๆ คิวงานนะครับ "เพลงมะล่องก่องแก่ง" อย่าลืมพากันไปฟังเด้อครับ #มื้อนี้ผมขอเคลียร์งานของผมก่อนเด้อ"
แสดงว่าคิวงานโชว์มาแล้ว นี่แหละสูตรสำเร็จของหนุ่มอีสานยุคดิจิทัล เพลงแปลก ดนตรีปัง ก็ดังสิบทิศ