จิรชฎา ตรีภาณุวรรณ งานโบราณคดีใต้สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
ขุดไปทำไม ? ขุดแล้วได้อะไร? ขุดแล้วจะเจอทองหรือไม่ ? จะเจอไดโนเสาร์หรือเปล่า?
สารพัดคำถามที่นักโบราณคดีต้องตอบ ยิ่งเป็นงานขุดค้นทางโบราณคดีบนเกาะรัตนโกสินทร์เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลก่อนการก่อสร้างรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ สายสีน้ำเงินด้วยแล้ว ความก้าวหน้าทางคมนาคมขนส่งกับงานค้นคว้าหาอดีตไม่น่าจะมาพบกันได้
ในวันที่รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล เปิดให้บริการครบทุกสถานีไปเมื่อวานนี้ จุดประกายทอล์คชวน จิรชฎา ตรีภาณุวรรณ นักโบราณคดีวัยสามสิบกว่าๆมาคุยถึงสมบัติใต้ดินที่ซ่อนอยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย และสามยอด รวมถึงการทำงานที่หลายคนไม่รู้ว่ามีส่วนงานด้านโบราณคดีร่วมอยู่ด้วย
งานโบราณคดีมาเกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าได้อย่างไร
ที่ได้มาทำเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment ย่อว่า EIA) ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกำหนดของการก่อสร้างรถไฟฟ้า เนื่องจากเป็นงานก่อสร้างใต้ดินในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ในเบื้องต้น มี 2 สถานีที่อยู่ในขอบเขตงาน คือ สถานสนามไชยและสามยอด
พอทำงานไปแล้วกรมศิลปากรได้สั่งให้เพิ่มจุดที่ทำงานเข้าไปอีกที่สถานีวัดมังกร กับบริเวณปล่องระบายอากาศตรงบ้านหม้อ
ลักษณะงานของนักโบราณคดีเป็นอย่างไร
โครงการนี้เป็นงานขุดค้นก่อนการก่อสร้าง ตามหลักการเราต้องขุดค้นทางโบราณคดีก่อน เพื่อเก็บข้อมูลว่าเราจะเจออะไรอยู่ใต้ดินบ้างเพื่อให้คณะกรรมการกรมศิลปากรกับคณะกรรมการเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ พิจารณาว่าสิ่งที่เราพบมีผลกระทบต่อการก่อสร้างหรือไม่ เป็นการประเมินคุณค่าของแหล่งที่พบใต้ดินว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสําคัญระดับที่เท่าไหร่
ในเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ขุดไปตรงไหนเราจะเจอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งนั้น แต่จะมีการประเมินการให้คุณค่า อาจแบ่งประเภท เช่น ถนน ถ้าเก็บข้อมูลแล้วยังพอใช้พื้นที่ในการใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ แต่ถ้าเป็นที่สำคัญมากอาจต้องให้การก่อสร้างเปลี่ยนแบบ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่พบสำคัญมากหรือไม่
จากการขุดค้นครั้งนี้พบหลักฐานชิ้นสำคัญบ้างหรือไม่
สำหรับนักโบราณคดีทุกอย่างสำคัญหมด เพราะทุกอย่างที่พบสามารถนำมาต่อเป็นภาพให้เห็นว่าในอดีตหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นหลักฐานที่เป็นชิ้นเป็นอันอยู่ที่สถานีสนามไชย บริเวณสนามหน้ามิวเซียมสยาม พื้นที่นั้นเคยเป็นวังมาก่อนสิ่งที่พบคือฐานรากของวังที่ผุพัง วังนี้เป็นวังร้างที่ต่อมาสร้างเป็นกระทรวงพาณิชย์ (ก่อนเป็นมิวเซียมสยามในปัจจุบัน)
การขุดค้นครั้งนี้ทำให้ทราบว่าพื้นที่ของวังเป็นที่ทำงานของช่างสิบหมู่ที่ทำงานถวายรัชกาลที่ 3 มาก่อน เราพบหอยมุกจำนวนมาก บ่งบอกว่า เป็นพื้นที่ทำงานของช่างฝีมือต่างๆ เช่น งานทำประตูโบสถ์ประดับมุก นอกจากนี้เรายังพบกระจังดินเผา ลักษณะคล้ายดอกไม้สามแฉกที่ช่างจะนำไปปิดทองประดับกระจกสำหรับตกแต่งส่วนฐานของงานสถาปัตยกรรม แม้ว่าชิ้นส่วนที่พบจะไม่สมบูรณ์ แต่มันทำให้เราเห็นภาพ
นอกจากนี้พบท่อระบายน้ำในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อนำไปเทียบกับรูปเก่าๆพบว่าตรงกัน การทำงานขุดค้นทางโบราณคดีเราต้องศึกษาแผนที่และภาพถ่ายเก่าก่อนเป็นการตั้งข้อสมมติฐานว่าบริเวณที่เราทำงานเคยมีอะไรมาก่อน เมื่อมีการการขุดค้นหลักฐานที่พบ จะตอบว่ามันตรงกับสมมติฐานที่เราวางไว้หรือไม่
ส่วนที่สถานีสนามยอด พบฐานรากของตึกแถวสมัยรัชกาลที่ 4 ตึกแถวหน้าตาเหมือนร้านออนล็อกหยุ่น คือ ตึกแถวสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ว่าใต้ดินเราขุดไปเจอฐานรากของตึกแถวอีกชุดหนึ่งเป็นตึกแถวในรัชกาลที่ 4 ซึ่งตรงกับเอกสารที่กล่าวว่า ตอนสร้างถนนเจริญกรุง รัชกาลที่ 4 โปรดฯให้สร้างตึกแถวไปพร้อมๆกับการสร้างถนน เพราะให้คนเข้ามาอยู่ที่ถนนก็เลยสร้างตึกแถวเพื่อที่ให้คนเข้ามาค้าขาย
ข้อมูลตรงนี้ มีน้อยมากมีแค่ระบุไว้ในพงศาวดารที่กล่าวถึงแค่นั้นเอง หน้าตาตึกแถวมันไม่มี รัชกาลที่ 4 ให้ไปถอดแบบมาจากสิงคโปร์ ให้ไปดูการสร้างตึกแถวแบบฝรั่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน อยู่ 2 ข้างถนนให้ไปจำลองมาสร้างที่เมืองไทยเรา การขุดค้นครั้งนี้แม้ว่าจะได้เห็นแค่ฐานรากแต่เป็นการยืนยันว่ามันมีอยู่จริง
งานโบราณคดีบนเกาะรัตนโกสินทร์มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน
มีความสำคัญมากนะคะ ในหนังสือ หรือ พระราชพงศาวดาร ส่วนมากจะเป็นเรื่องของการเมืองการปกครองของกษัตริย์ แต่ว่างานขุดค้นของเราทำให้เห็นภาพชีวิตของคน เช่น ตรงสถานีสนามไชยเป็นบริเวณที่ช่างจะมานั่งทำงาน เป็นต้นตอของศิลปะอันสวยงามที่เราเห็นในวัด ก่อนที่จะเกิดขึ้นมาได้ต้องมีการรวมช่างมาทำงาน
ท่อระบายน้ำโบราณ คนปัจจุบันอาจมองว่าเป็นแค่ท่อระบายน้ำ แต่เมื่อก่อนเราไม่มีระบบสาธารณสุขต่างๆระบบสุขาภิบาล น้ำเสีย น้ำทิ้ง อยากเทตรงไหนก็เททำให้เกิดโรคระบาด อหิวาตกโรค ระบบระบายน้ำเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการว่าจ้างนายช่างจากเยอรมันเพื่อที่จะวางระบบขึ้นมาครั้งเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ตรงสามยอดจะเป็นเรื่องของชาวบ้านชัดเจนเป็นตึกย่านค้าขายที่ให้คนเข้ามาค้าขายจริงๆ ส่วนตัวที่อยู่กับข้อมูลตรงนี้มองว่าเมื่อก่อนเราจะอยู่กับน้ำกับคลองคนจะไปแน่นตามริมแม่น้ำริมคลอง สมัยรัชกาลที่ 4 มีการสร้างถนนต้องการให้คนขยับขยายเข้ามาอยู่ในแผ่นดินมากขึ้นจึงสร้างตึกแถวเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้คนเข้ามาอยู่ค้าขายเพราะถ้าเข้ามาอยู่เฉยๆอาจจะไม่อยากอยู่เพราะมันไม่มีที่สวนที่นาให้ทำ แต่ตรงนี้ทำเป็นช็อปเฮ้าส์ให้เช่าเลยโดยเฉพาะดึงคนจีนเข้ามาเพื่อให้เกิดกิจการค้าขายต่างๆขึ้น
ต่อมาจึงเริ่มมีรถรางเข้ามาเป็นจุดเริ่มต้นของการคมนาคมขนส่งจริงๆ
สิ่งที่น่าสนใจมากคือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือรถไฟฟ้าหลายๆสายในไทย ย้อนกลับไปใช้เส้นทางเดิมของรถรางมาก่อน ตัวสถานีสามยอดเองเราก็ค้นพบชิ้นส่วนของรางรถรางเดิม เป็นหลักฐานยืนยันว่ารถรางเคยอยู่ตรงนี้มาก่อน
ทราบมาว่าการทำงานครั้งนี้เหมือนเป็นงานประสานสิบทิศจริงหรือไม่
ใช่ค่ะ เป็นครั้งแรกที่ต้องคุยกับคนเยอะมากต้องไปอธิบายว่าเรากำลังทำอะไร เราจะทำอะไรต่อไปผลที่ได้จะเป็นอย่างไร เพราะว่าในพื้นที่จะมีคนอยู่เยอะมาก เราต้องอธิบายให้ตำรวจเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำมันคืออะไรต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ เพื่อให้ช่วยในการอำนวยความสะดวก บางครั้งเราต้องขุดในพื้นที่กลางถนน
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยอะมาก เช่น มิวเซียมสยาม โรงเรียนราชบพิธ ประชาชนที่อาศัยอยู่แถวนั้น รวมถึงบริษัทที่ดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้า
พยายามอธิบายต้องใจเย็นแล้วก็พูดคำซ้ำไปเรื่อยๆ คือ อาจจะทำให้เราได้ปรับปรุงวิธีการพูดด้วยเมื่อก่อนเราอาจจะอธิบายอะไรไม่ค่อยได้ แต่ระหว่างทำงานนี้ก็ไปเรียนปริญญาโทที่มหิดล ด้านการบริหารจัดการ เพื่อที่จะอธิบายสิ่งที่เราเจอให้เขาเข้าใจ บางครั้งก็ต้องหารูปมาเปรียบเทียบเพื่อให้เขาเข้าใจมากขึ้น
วันนี้ได้เห็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเปิดใช้ทุกสถานีมีความรู้สึกอย่างไร
ตื่นเต้นนะคะ รู้สึกตื่นเต้นว่าได้เป็นส่วนเล็กๆในโครงการนี้ แม้ว่างานของเราเป็นงานที่มองไม่เห็น แต่เราก็ภูมิใจที่ได้ทำ ใจจริงอยากให้ข้อมูลที่ทำไว้ได้รับการเผยแพร่
ทำไมถึงสนใจงานโบราณคดี
รู้สึกชอบตั้งแต่ตอนเรียนที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พอเรียนจบได้ทำงานกับทางคณะ เป็นความรู้สึกว่าเหมือนไม่ได้ทำงาน คือทำแล้วมีความสุข ไม่ได้รู้สึกว่าเบื่อจังเลย เมื่อไหร่จะหมดเวลางาน ชอบและทำมาเรื่อยๆ
ถ้ามีคนอยากเป็นนักโบราณคดีมีคำแนะนำอย่างไร
ต้องลองมาเรียนหรือว่าฝึกงานดูก่อน ส่วนตัวเข้ามาเรียนโดยที่ไม่ได้มีอะไรในหัวมาก่อนว่าจะเป็นอะไร หลายคนอยากเป็นนักโบราณคดีเพราะดูจากสารคดีต่างประเทศ หรือ ภาพยนตร์ พอมาเจอระบบการทำงานจริงๆอาจจะผิดหวังทำให้ไม่อยากทำงาน ถ้าจะให้ดีก่อนตัดสินใจอยากให้ลองมาฝึกงาน หรือหาข้อมูลให้รอบด้านก่อน อีกอย่างคือต้องทำใจ นักโบราณคดีเป็นอาชีพที่ทำแล้วไม่รวย ทำแล้วพอเลี้ยงตัวได้ ถ้าหากว่าอยากร่ำรวยนักโบราณคดีคงไม่ใช่คำตอบ
การเป็นนักโบราณคดีสอนอะไรเราบ้าง
สอนเยอะมากเลยนะคะ ทำให้เรา มองโลกกลางๆเห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะ มองอดีตมาถึงปัจจุบัน หรือมองปัจจุบันในเรื่องเล็กๆน้อยๆ ทุกอย่างมันค่อยๆเปลี่ยนไป บางทีเราไม่รู้ว่ามันเปลี่ยนมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ทั้งๆที่ความจริงหลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่ในจุดเดิมมาตลอด เรื่องประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเรียนรู้จริงๆ เรามาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร เราเกิดมาเราเป็นแบบนี้เลยไม่ได้ สิ่งแวดล้อมสังคมที่อยู่รอบๆตัวเรามันสั่งสมหล่อหลอมให้เราเป็นแบบนี้
ภูมิใจนะคะที่ได้เป็นนักโบราณคดี