ล้ำๆ ที่ซาอุฯ​ เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดด้วย 'โซลาร์โดม'

ล้ำๆ ที่ซาอุฯ​ เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดด้วย 'โซลาร์โดม'

ตามไปทำความรู้จักวิธี “อัจฉริยะ” ในการเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ NEOM เมืองใหม่ของซาอุดีอาระเบีย

ไอเดียดีๆ นี้เกิดขึ้นที่ NEOM เมืองใหม่แห่งอนาคตของซาอุดีอาระเบีย ที่อ้างว่า สามารถผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยี "โซลาร์โดม" โดยเทคโนโลยีใหม่นี้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน 100% และจะกำหนดอนาคตของการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในเมืองใหม่ NEOM รวมถึงในซาอุดีอาระเบียและทั่วโลก

ทั้งนี้ NEOM ได้ประกาศเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า จะผลิตน้ำโดยใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นการตอกย้ำชื่อเสียงของ NEOM ในฐานะศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและการอนุรักษ์แห่งใหม่ โดยลงนามข้อตกลงกับ บริษัท Solar Water Plc. จากสหราชอาณาจักร เพื่อสร้างโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลเทคโนโลยี “โซลาร์โดม” ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย โครงการนำร่องนี้จะปฏิวัติการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วนที่สุดของโลกปัญหาหนึ่ง นั่นคือ การเข้าถึงแหล่งน้ำจืด

การสร้าง “โซลาร์โดม” แห่งแรกจะเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2020

ต้นทุนการผลิตน้ำโดยใช้เทคโนโลยี “โซลาร์โดม” คาดว่าจะอยู่ที่ราว 0.34 ดอลลาร์/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิตน้ำด้วยวิธีรีเวอร์สออสโมซิส นอกจากนั้นยังช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำเกลือความเข้มข้นสูง อันเป็นผลพลอยได้ที่เป็นอันตรายซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

158057988932

H.E. Abdulrahman Al-Fadli รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรน้ำ และการเกษตรของซาอุดีอาระเบีย กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า “โครงการนำร่องของ NEOM ถือเป็นการสนับสนุนเป้าหมายที่ยั่งยืนของซาอุดีอาระเบีย ตามที่ระบุในยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศปี 2030 และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ”

น้ำทะเลจะถูกสูบเข้าสู่ “โซลาร์โดม” ที่ทำจากกระจกและเหล็ก ก่อนที่จะได้รับความร้อนยวดยิ่งจนเกิดการระเหยกลายเป็นน้ำจืดในที่สุด

ด้าน Nadhmi Al-Nasr ซีอีโอของ NEOM กล่าวเสริมว่า “NEOM เข้าถึงแหล่งน้ำทะเลและแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้อย่างเต็มที่ จึงพร้อมผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนต่ำและมีความยั่งยืน เทคโนโลยีนี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งนี้ การทำงานร่วมกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรน้ำ และการเกษตร จะช่วยให้เราสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในวงกว้างนอกเหนือจากในเมือง NEOM”

158057990522

ทั้งนี้ บริษัท Solar Water ได้พัฒนาแนวทางใหม่ที่มหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ในสหราชอาณาจักร โดยเป็นการนำเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบรวมแสงอาทิตย์ (Concentrating Solar Power: CSP) มาใช้ในการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในระดับมหภาคเป็นครั้งแรก โดยน้ำทะเลจะถูกสูบเข้าสู่ “โซลาร์โดม” ที่ทำจากกระจกและเหล็ก ก่อนที่จะได้รับความร้อนยวดยิ่งจนเกิดการระเหยกลายเป็นน้ำจืดในที่สุด

ทีมงานอ้างว่า “โซลาร์โดม” สามารถผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลได้ในเวลากลางคืน เพราะมีการกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ตลอดช่วงกลางวัน นอกจากนั้นยังช่วยลดปริมาณน้ำเกลือที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งโดยทั่วไปแล้วน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นสูงทำให้กระบวนการผลิตมีความยากลำบากและใช้ต้นทุนสูง ขณะเดียวกัน โซลาร์โดมยังช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลเพราะไม่มีการปล่อยน้ำเกลือลงทะเล

158057992233

ปัจจุบัน ประชากรโลกกว่า 1 พันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้ โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของ NEOM จะเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและต้องพยายามหาแหล่งน้ำจืดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

“ปัจจุบัน โรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลหลายพันแห่งทั่วโลกต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิต และน้ำเกลือที่เกิดจากการผลิตได้สร้างมลพิษในมหาสมุทร ต่างจากเทคโนโลยีพลิกเกมของเราที่มีความยั่งยืนและเป็นกลางทางคาร์บอน 100% ทั้งนี้ เราพบว่า NEOM เป็นพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลเกี่ยวกับอนาคตใหม่ที่กลมกลืนกับธรรมชาติ” David Reavley ซีอีโอของ Solar Water Plc กล่าว

จึงต้องจับตามองว่า "NEOM" ซึ่งเป็นโครงการสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์การกระจายธุรกิจหลังยุคน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย​​ ที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ 26,500 ตารางกิโลเมตรทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแห่งนี้ จะเพิ่มบทบาทที่สำคัญในระดับโลกได้จริงหรือไม่ และอย่างไร!?