4 ฤดู ฟูกุชิมะ

4 ฤดู ฟูกุชิมะ

ชวนไปเที่ยวฟูกุชิมะผ่านนิทรรศการภาพถ่าย “ฟูกุชิมะ” ผลงานของ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบ ประจำปี 2553 โดยแผนกส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดฟุกุชิมะ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันนี้ (2 ก.พ.)เปิดให้ชมเป็นวันสุดท้าย

เวลาน้อยแต่คุ้มค่า ฟูกุชิมะ พาเราไปสัมผัสความงดงามที่แตกต่างของ 4 ฤดูของจังหวัดฟุกุชิมะ ทางตอนใต้ของภูมิภาคโทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ในห้องนิทรรศการบริเวณชั้น 1 ของหอศิลป์กรุงเทพฯที่ออกแบบคล้ายกับบ้านหลังเล็กแบ่งออกเป็น 4 ห้องแทน 4 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน และฤดูใบไม่ร่วง

158062382225

วศินบุรี พาเราย้อนเวลาไปฟุกุชิมะพร้อมกับเขาเริ่มต้นด้วยฤดูหนาว จากทางเดินแคบๆสีขาวนำไปสู่ห้องแสดงภาพสีขาวทั้งผนัง กรอบรูป รวมทั้งแสงไฟที่ส่องกระทบภาพคุมโทนด้วยแสงสีขาว ภาพถ่ายหิมะสีขาวโพลนบนภาพถ่ายสีขาวดำชวนให้รู้สึกถึงความหนาวเหน็บ

158062322852

“ความจริงไม่ค่อยชอบความหนาวเท่าไหร่ แต่พอเรามีเป้าหมายว่าจะถ่ายรูปสำหรับนิทรรศการ ในตอนแรกคิดว่าจะถ่ายอะไรดีนะ ด้วยจังหวะการจัดวางหรือการเกิดขึ้นของภูเขาที่อยู่ตรงหน้ามันสวยเหมือนภาพวาด ผมเลยเลือกที่จะถ่ายภาพแลนด์สเคปไว้ค่อนข้างมาก” วศินบุรีเล่าถึงภาพถ่ายที่บอกเล่ามุมมองและความรู้สึกของเขา

“เราเดินทางไปที่หมู่บ้านโออุจิจุคุ เพื่อถ่ายรูปจุดชมวิวสะพานไดอิจิเคียวเรียวเวลาที่มีรถไฟวิ่งผ่าน แต่ผมไม่ได้เลือกภาพในช่วงเวลานั้นมาจัดแสดงเลย ก่อนหน้านั้นเราเหมือนโดนสะกดจิตว่าต้องถ่ายรูปรถไฟนะ แต่ผมกลับชอบจังหวะของความเงียบที่เกิดขึ้นหลังจากรถไฟจากไปมากกว่า

ตอนนั้นหิมะตกหนักมาก หลายคนรีบเก็บกล้องเพราะกลัวว่าจะเสีย ผมคิดว่าถ้าจะเสียก็ช่างมันเถอะ ผมอยากบันทึกช่วงเวลานี้ ความเงียบและธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเราในขณะนั้น ภาพหิมะที่ตกหนักมันเหมือนกับฟูกุชิมะที่ผ่านเหตุการณ์ภัยพิบัติ (อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ , แผ่นดินไหว และสึนามิ ปี2554) ไปแล้ว ธรรมชาติและความเป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาคืนกลับมาอีกครั้ง”

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเลือกที่จะถ่ายทอดความรู้สึกผ่านภาพถ่ายสีขาว-ดำ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์

“ในภาพถ่ายหมู่บ้านโบราณโออุจิจูคุ จะเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ผมอยากให้รู้สึกว่าคนที่ผ่านเข้ามาแล้วผ่านออกไปจากหมู่บ้านนี้เป็นแค่สิ่งที่ฉาบฉวย ความยั่งยืน คือ ความเป็นชุมชนที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านที่มีสถาปัตยกรรมแบบโบราณมากกว่า ผมจึงตั้งสปีดชัตเตอร์นานๆแล้วใช้ขาตั้งกล้องช่วย เพื่อให้ถ่ายทอดความรู้สึกนั้น ผู้คนผ่านมาแล้วก็ผ่านไป”

158062344554

ฤดูใบไม้ผลิ ในห้องนิทรรศการถัดไป วศินบุรี เลือกที่จะเล่าถึงตุ๊กตาโคเคชิ ตุ๊กตาไม้ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยเอโดะ โดยช่างฝีมือที่ผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยไม้ที่มีร้านขายของอยู่ใกล้น้ำพุร้อน เลยอยากจะทำของที่ระลึกขายนักท่องเที่ยว แรกๆไม่มีการวาดหน้าตา ต่อมามีการประยุกต์วาดหน้าตาจนกลายเป็นฝีมือของช่างแต่ละตระกูล

การได้พบกับคุนิโทชิ อาเบะ ช่างทำตุ๊กตาโคเคชิรุ่นที่ 4 ทำให้วศินบุรีได้พบกับความเชื่อมโยงระหว่าง ตุ๊กตาโคเคชิ กับ โอ่งมังกร อย่างคาดไม่ถึง

“อาจารย์คุนิโทชิอายุเท่าผม เรามีปัญหาเหมือนกันตอนอายุ 19 เขาไม่อยากสานต่อกิจการของครอบครัวเลย เขาแค่เสียดายสิ่งที่เป็นมรดกของตระกูล จึงรับมาแล้วพัฒนาต่อ ตอนนี้เขารู้สึกว่าเขาสนุกและดีใจที่ได้สืบทอดงานตุ๊กตาโคเคชิ

มันเหมือนกับที่ผมตั้งคำถามว่าตั้งแต่เด็กว่า ผมโอ่งทำไปทำไม ? ทำเพราะอะไร ? เกิดเป็นความรู้สึกว่าในที่สุดเราก็เจอพยานหลักฐานที่บอกว่ามีคนเหมือนเรา ได้เจอคนที่เหมือนเราความรู้สึกใกล้เคียงกัน เขาก็ไม่มีลูก ไม่คาดหวังว่าว่าลูกหลานจะสานต่อมั้ย ลึกๆแล้วเขาก็อยากส่งต่อความทรงจำให้กับรุ่นต่อไปให้ได้นานที่สุดมากที่สุดเหมือนกับผม” ทายาทโรงงานโอ่งเถ้าฮงไถ่ ราชบุรี เปิดใจ

นอกจากภาพถ่ายแล้ว วศินบุรีได้จัดทำตุ๊กตาโคเคชิเซรามิก โดยวาดหน้าตาเหมือนกับของอาจารย์คุนิโทชิ แล้วสวมชฎาลงไป นำมาจัดแสดงงานเคียงกันไปกับของต้นแบบสื่อถึงความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้น

1580623507100

จากความสดใสในฤดูใบไม้ผลิ มาถึงห้องสีดำที่สื่อถึงฤดูร้อน

“ผมเลือกทิวทัศน์สถานที่เดียวเลย ไม่ได้เป็นสถานที่ที่อยู่ในโปรแกรมด้วยซ้ำไปแต่เห็นภาพของภูเขาอาดะทะระทำให้อยากไปมาก ทางญี่ปุ่นถามว่าเดินขึ้นเขา 5 ชั่วโมงไหวไหม ? ผมบอกโอเค ระหว่างทางหมอกลงเยอะมาก เขาบอกว่าอาจไม่เห็นอะไรเลยนะ ผมบอกไม่เป็นอะไร รู้สึกว่าแค่ได้ไปเห็นสถานที่นั้นด้วยตาตัวเองก็พอใจแล้ว”

ฤดูร้อนบนเขาอาดะทะระที่มีทั้งเมฆและหมอกท่ามกลางความรู้สึกลุ้นว่าจะได้เห็นอะไร เป็นสิ่งที่ยากเกินคาดเดา

“การที่ได้อยู่ตรงสถานที่ยิ่งใหญ่มันรู้สึกว่าสุดแล้วนะ ต่อให้มีแต่หมอกก็เถอะ ระหว่างที่ถ่ายรูปอยู่จู่ๆก็มีลมพัดผ่านแล้วก็มีช่องเป็นแสงทะลุเหมือนเป็นรูส่องลงมาในช่วงเวลานั้นแค่ 15 - 20 วินาที เป็นจังหวะเหมือนช่างภาพหลายคนบอกว่ามาถูกที่ถูกเวลา

ผมเชื่อว่าบางครั้งไม่จำเป็นต้องโชคดีขนาดนั้นหรอก ทุกสถานที่มีความงามที่ซ่อนอยู่ เพียงแต่ว่าเราต้องหาวิธีการถ่ายทอดออกมาให้เจอเท่านั้นเอง” ภาพทั้งหมดในฤดูร้อนคือการค้นพบความงามที่ซ่อนเร้น

158062376493

มาถึงห้องสุดท้ายฤดูใบไม้ร่วง อันเต็มไปด้วยสีสันของใบไม้เปลี่ยนสี

“ที่โรงเรียนประถมคุอิมารุโช เป็นโรงเรียนเก่าที่ปิดตัวลง ด้านหน้ามีต้นกิงโกะหรือแปะก๊วยยักษ์อายุร้อยปีที่มีความสวยงามในทุกฤดู เขาใช้จุดนี้เป็นจุดดึงดูดให้คนมาเยี่ยมชมสถานที่แห่งความทรงจำ โดยที่ไม่ต้องสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่เลย แค่นำสิ่งที่มีอยู่ คือ สถาปัตยกรรมดั้งเดิมกับต้นกิงโกะแล้วสร้างคุณค่า เป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก

ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมกลับมามองราชบุรีบ้านผม ไม่ต้องทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ แค่โฟกัสในจุดเล็กๆเริ่มต้นที่ครอบครัว ชุมชน เหมือนพิกเซลเล็กๆเมื่อมาต่อกันมันก็จะกลายเป็นภาพใหญ่ๆที่โคตรเจ๋งเลย เป็นไอเดียที่ผมชอบมากๆ”

นิทรรศการฟุกุชิมะในห้องฤดูใบไม้ร่วง บอกลาเราด้วยภาพถ่ายขนาดใหญ่ในกรอบที่มองดูราวกับภาพจิตรกรรมอิมเพรสชั่นนิสต์ หมอกขาวๆจางๆที่ปกคลุมธรรมชาติรายรอบมองเห็นใบไม้สีแดงๆเป็นจุดสีพร่าเลือน

“เป็นภาพถ่ายในชั่วโมงสุดท้ายของวันสุดท้ายที่ฟูกุชิมะ” ศิลปินทิ้งท้ายด้วยภาพที่ปลดปล่อยจินตนาการของทั้งช่างและภาพผู้ชม

ฟูกุชิมะ ในสายตาและมุมมองของ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ จัดแสดงให้ชม 21 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ ที่ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันนี้ไปชมได้ถึง 21.00 น.