‘วิ่ง’ กีฬาที่ไม่พึ่งพิงใคร แต่พึ่งความเข้าใจและอื่นๆ อีกมากมาย

‘วิ่ง’ กีฬาที่ไม่พึ่งพิงใคร แต่พึ่งความเข้าใจและอื่นๆ อีกมากมาย

“ทำไมเราถึงวิ่ง” เจอคำถามนี้บ่อยมาก ส่วนตัวในฐานะคนที่ชอบออกกำลังกายมักตอบว่า เพราะการวิ่งเป็นกีฬาที่ไม่พึ่งพาใคร ไม่ต้องรอ ไม่ต้องนัดเพื่อน แต่พึ่งอย่างอื่นอีกมากมาย... นั่นคือความพร้อมของร่างกายและจิตใจตัวเอง

เราเริ่มวิ่งครั้งแรกราวปี 2016  ก่อนหน้านี้ก็ชอบการออกกำลังกายมาตลอด เข้ายิมปีนผาและฝึกโยคะ แต่ไม่เคยอยากวิ่ง เพราะไม่ชอบการออกกำลังกายที่เหนื่อยหอบ แต่ด้วยความจำเป็นที่ไปยิมได้ยากแล้ว ก็เลยลองวิ่งดู วิ่งแรกๆ ก็ยังไม่ชอบ แต่พอวิ่งต่อเนื่อง 30 นาที แล้วช่วงพัก ก็รู้สึกถึงไอร้อนระอุแผ่ออกมาทั่วตัว เหงื่อท่วม เหนื่อยมาก หัวใจเต้นแรง และไอระอุนั่นแหละที่ทำให้เราชอบการวิ่งขึ้นมา

- เพราะเจ็บจึงเรียนรู้ -

ช่วงที่ร่างกายสดใหม่ เราเสพติดการวิ่ง วิ่งจนตัวเองบาดเจ็บ ด้วยอาการเจ็บหน้าแข้ง (Shin Splint Syndrome) ก็พยายามรักษา และระวังกล้ามเนื้อชุดนั้นเป็นพิเศษ กลายเป็นละเลยกล้ามเนื้อชุดอื่น จนตามมาด้วยอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อเข่าด้านนอก (ITB) ซึ่งเชื่อมมาตั้งแต่กล้ามเนื้อจนถึงชุดขาด้านนอก เมื่อนั้นแหละ เราจึงพยายามหาคำตอบว่าจะทำอย่างไร ให้ออกกำลังโดยไม่บาดเจ็บ

158081842036

การวิ่งเป็นการออกกำลังกายประเภทคาร์ดิโอที่เน้นความแข็งแรงของหัวใจ แต่จะวิ่งให้ดี ไม่ใช่เพียงปอดและหัวใจแข็งแรง แต่ต้องมีกล้ามเนื้อ และความฟิต มาซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน เราจึงเริ่มเวท เทรนนิ่ง เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เข้ายิมออกกำลังกายหลากหลายเพื่อฝึกความยืดหยุ่น การเคลื่อนไหวที่คล่องตัว และลงเรียนคอร์สต่างๆ เพื่อทำความรู้จักร่างกายตัวเองให้ดีขึ้น

- ออกจากคอมฟอร์ทโซนสำคัญขนาดนั้น? -

ร่างกายพร้อม ก็สามารถออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดี เลยมักจะมีคนถามว่าทำไมไม่ไปไตรกีฬา? ทำไมไม่เน้นความเร็วสร้าง New PB ในการวิ่ง? ทำไมไม่หมายขึ้นรับรางวัลบนโพเดียมกับเขาบ้าง?

เราเป็นคนชอบกิจกรรมหลายอย่างทั้งโยคะ วิ่ง และกิจกรรมกลางแจ้ง อย่างเดินป่าสุดสัปดาห์ หรือเทรคกิ้งระยะไกล ถ้าบอกเป็นประเภทการออกกำลังกาย ก็ชอบทั้งคาร์ดิโอ เพื่อให้หัวใจทำงาน ชอบการเวท เทรนนิ่ง เพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อกลุ่มต่างๆ

และเรารู้จักตัวเองดีทั้งร่างกายและจิตใจว่าต้องการอะไร เราเลือกที่จะทำทุกอย่างให้สมดุล เตรียมตัวเองให้ฟิตอยู่ตลอด จะลงมาราธอนเมื่อไหร่ก็ไปได้ จะไปวิ่งเทรลก็ยินดี อยากจะไปปีนเขาสุดสัปดาห์กะทันหัน ไม่ว่าจะกิจกรรมอะไร ไม่ได้กลับมาพร้อมร่างพังๆ นั่นคือความตั้งใจของเรา ให้เราวิ่งสปรินท์เพซดีๆ เพื่อขึ้นโพเดียมสักครั้ง แต่ทำร้ายหัวใจ (ที่มีปัญหานิดหน่อย) จนทำให้อายุสั้นไป 5 ปีก็ไม่เอานะ 

และที่จริงการวิ่งเทรล ก็ถือว่าเป็นการออกนอกคอมฟอร์ทโซนของนักวิ่งเช่นกัน

158081853715

อุ๊บอิ๊บ -ภคนีย์ บุรุษภักดี สาวนักวิ่งเทรล กับระยะ 50 กม.

- ลงงานวิ่งสำคัญขนาดไหน? -

ชอบวิ่งอยู่ในสวน วิ่งเองเงียบๆ ไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องถ่ายภาพโชว์เหรียญได้ไหม ? ได้แน่นอน

แต่การลงงานวิ่งก็เหมือนกับการไปคอนเสิร์ตสำหรับนักวิ่ง ที่ต้องไปพิชิตงานนั้นงานนี้ให้ได้สักครั้ง แรกๆ คือเหมือนไปคอนเสิร์ต แต่ในช่วงหลังจากงานคอนเสิร์ต ก็กลายเป็นเรื่องของความสะดวกที่ผู้จัดได้เตรียมเส้นทางอันพร้อมสำหรับระยะมาราธอน (42.195 กม.) เพราะหากซ้อมวิ่งในระยะนั้นเองก็ค่อนข้างหาที่วิ่งยาก

และเมื่อเพื่อนชวนมาวิ่งเทรลสนามที่น่าสนุก ก็พร้อมเสมอ

158081889093

- TNF เส้นทางหลักเดิม ที่ไม่เคยเหมือนเดิม -

สนาม The North Face Thailand 100 มีระยะ 15, 25, 50 และ 100 กิโลเมตร เป็นสนามวิ่งเทรลระดับโลกที่มาจัดในเมืองไทยเป็นครั้งที่ 9 แล้ว

เรามาวิ่งที่สนามนี้มา 5 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรกลงระยะ 25 กม. ครั้งที่ 3 ลงระยะ 50 กม. เมื่อ 2 ปีที่แล้วลง 75 กม. (ซึ่งยกเลิกแล้ว) ที่ DNF (Did Not Finish – ไม่จบการแข่งขัน) อย่างน่าเจ็บใจ และปีนี้ก็กลับมาลง 25 กม. อีกครั้ง

158081902930

TNF ป็นสนามที่สนุก เพราะทุกอย่างไม่ได้เอื้อให้คุณวิ่งอย่างสบายเลย (เช่นเดียวกับสนามเทรลอื่นๆ) สนามวิ่งเทรลจึงทำให้เราตื่นเต้นเสมอ

เอกลักษณ์ของสนามนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสนามปิ้งย่างประจำปี ทั้งความร้อนของการวิ่งในไร่กว้างใหญ่ ฝุ่นดินแดงที่เหมาะสำหรับเพาะปลูกฟุ้งกระจาย เนินเขาสูงชัน เส้นทางมีเสน่ห์แบบแปลกประหลาด มาแล้วอยากมาอีก

ดูเผินๆ เป็นสนามไม่ยากในเชิงความถึกโหด แต่ในความเป็นไร่โล่งๆ เหมือนไม่มีอะไรนั้น ไม่มีทางไหนที่เรียบเลย ตอไม้เล็กน้อย พื้นผิวขรุขระตามธรรมชาติ บรรดาซากต้นอ้อย ฟางหญ้าซึ่งลวงตาว่าจะได้วิ่งบนพื้นนุ่ม กลับซ่อนความยุบตัว ชวนให้ข้อเท้าพลิก เนินสูงชันเหมาะสำหรับคนที่เตรียมกล้ามเนื้อหน้าขามาอย่างดี และทางลาดที่ทำให้วิ่งยาวๆ ปล่อยตัวไปตามความเร็วของแรงดึงดูดโลก วิ่งแล้วสนุกมาก

สิ่งที่ท้าทายอีกอย่างคือเวลาคัทออฟ (ตัดออกจากการแข่งขัน) ค่อนข้างสั้น ยิ่งระยะไกลยิ่งต้องเตรียมตัววางแผนการวิ่งอย่างดี บริหารความเร็วเพื่อไปถึงแต่ละจุด Check Point ตามเวลาที่กำหนด และไม่หมดแรงช่วงท้ายก่อนเข้าเส้นชัย

นอกจากเส้นทางสนุกแล้ว สนามนี้ยังเป็นจัดการดี มีจุดให้น้ำเพียงพอ อย่างในระยะ 25 กม. ก็มีหลายจุด แม้ไม่เตรียมเป้น้ำไปก็ยังได้ แต่การเตรียมตัวเองให้พร้อมเรื่องนี้ก็ควรเป็นความรับผิดชอบของนักวิ่งเองด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ลงวิ่งระยะไกล และควรเตรียมขวดน้ำหรือแก้วซิลิโคนส่วนตัวไปด้วย เพราะทางผู้จัดพยายามจำกัดการใช้แก้วพลาสติก มีนะแต่มีน้อย นำไปเองดีที่สุด นี่เป็นเรื่องที่น่าปลื้มสำหรับนักวิ่งเทรลผู้ไม่อยากทิ้งอะไรไว้ในป่า นอกจากรอยเท้า

ยิ่งวิ่งยิ่งเรียนรู้ว่าระหว่างทางเราต้องให้กำลังใจตัวเอง แม้ร่างกายจะพร้อม แต่สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น (แม้จะเกิดขึ้นบ่อยในหัวของนักวิ่งหลายคน) คือความคิดที่อาจบั่นทอนกำลังใจตัวเอง

เราเลิกคิดไปนานแล้วว่า “ฉันมาทำอะไรอยู่ตรงนี้” “เย้ ในที่สุดระยะก็ขึ้นต้นด้วยเลขหนึ่งแล้ว” “นี่มาถึงระยะที่เราซ้อมมาแล้ว อีกนิดเดียว”

158081921369

พิชชานันท์ มหาโชติ ผู้เข้าเส้นชัย ระยะวิ่ง 100 กม. (หญิง) เวลา 13:38:56 ชม.

มีแต่ต้องให้กำลังใจตัวเองในทุกสิ่งที่เจอตรงหน้า สนามเทรลต่อให้มาไม่ว่ากี่ครั้ง เส้นทางเดิม หรือยากกว่าเดิม (ปีนี้ระยะ 25 กม. เปลี่ยนเส้นทางให้ยากขึ้นพอสมควร) สิ่งที่เจอตรงหน้าก็ไม่มีทางเหมือนเดิม เราต้องรับมือกับเส้นทาง สภาพอากาศ ร่างกาย และจิตใจตัวเองใหม่ทุกวินาที

เหมือนอย่างที่แบรนด์แมเนเจอร์ของ The North Face  กล่าวถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากงานนี้ว่า

“Mindset ความคิดของผู้ชนะคืออะไร? คือความพร้อมสำหรับการแข่งขัน พร้อมที่จะเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า และผ่านมันไปให้ได้ ส่วนมายด์เซ็ทของผู้ที่ไม่จบการแข่งขันล่ะ? เขาก็ไม่ได้มองว่าเส้นทางเป็นปัญหา แต่เป็นเพราะเขาซ้อมมาน้อย ไม่พร้อม เขาไม่โทษภายนอก แต่ดูจากข้างในตัวเองว่าเราจะเตรียมตัวเผชิญกับปัญหาอย่างไรได้บ้าง ต้องค้นหาแพชชั่นและมายด์เซ็ทที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดไปพร้อมกัน”

158081933644

อิน เหยียนเฉียว (จีน) ผู้เข้าเส้นชัยระยะวิ่ง 100 กม. (ชาย) เวลา 8:44:12 ชม.

เช่นเดียวกับนักวิ่งอีลีตที่ขึ้นแท่นอันดับ 1 – 3 ของผู้ชนะระยะ 100 กม. พวกเขามีจุดร่วมทางความคิดเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ เตรียมตัวเองให้พร้อม เป็นคนมีเป้าหมาย ไม่ยอมแพ้ มองไปที่เส้นชัยเท่านั้น

เราเห็นด้วยจริงๆ การวิ่งพึ่งพาความพร้อมความเข้าใจในร่างกาย จิตใจ และมายด์เซ็ทที่จะมุ่งหน้าต่อไปในแบบฉบับของตัวเอง

158081866729

 

* ทิปส์การวิ่งสนาม TNF โดยป้อม - สัญญา คานชัย นักวิ่งที่มาวิ่ง 100 กม. เกือบทุกปี (มีปีเดียวที่ลง 50 กม.) และติดอันดับ Top 5 ทุกปี “ใครที่วิ่งไม่จบสนามนี้นะครับ ผมแนะนำให้ซ้อมวิ่งตอนเที่ยงๆ บ่ายๆ บ่อยๆ ครับ รับรองลื่นปรื๊ดๆ”

  158088830222

เกี่ยวกับผู้เขียน: เมย์ - กัณฑนา เงาเบญจกุล ภาพโดย bb.photo

นอกจากดูแลกิจการของครอบครัวแล้ว เมย์ยังรักการออกกำลังกายและเรียนรู้ร่างกายของตัวเองไปทีละน้อย มีจุดเริ่มต้นจากกีฬาปีนผา มาถึงโยคะซึ่งเริ่มฝึกตั้งแต่ปี 2012 เข้าสู่การวิ่ง และเวทเทรนนิ่ง เพื่อความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้น เธอจึงลงเรียนคลาสต่างๆ อาทิ Personal trainer (FIT), Expertise personal trainer (Plan for Fit), Hybrid coach (FIXME), Sport massage course(TOM), Therapeutic massage course (TOM), ฝึกโยคะบำบัด 50 ชั่วโมง กับครูนิน yoga story 200 hours yoga teacher training และกำลังเรียนต่อยอดไป 300 ชม. กับ Embrace energy yoga Thailand