'ติดจอ' ต้องรู้! 5 โรคที่มากับอาการเสพติด 'โซเชียล'
รู้จัก 5 โรคที่เกิดจากการ "ติดจอ" หรือเสพติด "โซเชียล" ที่มากเกินพอดี แทนที่จะใช้สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน แต่กลับกลายเป็นว่ามันทำร้ายสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของคุณได้
"สมาร์ทโฟน" และอินเทอร์เน็ต เป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในปี 2020 สองสิ่งนี้ทำให้ผู้คนยุคนี้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกสบายมากกว่าอดีตเป็นสิบๆ เท่า แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็สามารถทำร้ายเราได้เช่นกัน เพราะความรุนแรงของอาการ "ติดจอ" หรือการเสพติด "โซเชียล" (หลายคนกำลังเป็นอยู่) กำลังกลายเป็นภัยเงียบที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี
สำหรับใครที่คิดว่าก็แค่เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ ขอบอกว่าคุณคิดผิด! เพราะอาการเสพติดโซเชียลมีเดียนี้ ในประเทศอังกฤษบันทึกว่าเป็นโรคอย่างหนึ่ง ในแต่ละปีมีชาวอังกฤษเข้ารับการบำบัดมากกว่า 100 ราย
ส่วนในบ้านเรามีข้อมูลจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยระบุว่า โรคยอดฮิตที่มักพ่วงมากับอาการเสพติดโซเชียลมีเดียมีทั้งหมด 5 โรคได้แก่
- โรคเศร้าจากเฟซบุ๊ก
การศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน นำโดยศาสตราจารย์ อีธาน ครอสส์ ได้รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 82 คน ซึ่งใช้บริการเฟซบุ๊กบนสมาร์ทโฟนเป็นประจำ พบว่าการใช้เฟซบุ๊กมากเกินไปจนมีอาการติดจอ อาจกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนความสุขและความพึงพอใจในการดำรงชีวิตได้ เช่น รู้สึกโดดเดี่ยว เหงา และเศร้ามากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องระบายความรู้สึกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดความรู้สึกว้าเหว่ สอดคล้องกับงานวิจัยจากเยอรมนีที่พบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้เฟซบุ๊ก มีทัศนคติต่อตัวเองในแง่ลบ เนื่องจากเห็นการอัพเดตสถานะของเพื่อน ทั้งในด้านการงานและชีวิตส่วนตัวที่มีแต่ความสำเร็จและความสุข ดังนั้นแล้วอาจจะสรุปได้ว่าการเล่นเฟซบุ๊กอาจจะเป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
- ละเมอแชท (Sleep-Texting)
ถือเป็นโรคใหม่ที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟนอีกเช่นกัน และโรคนี้ไม่ธรรมดาเพราะสามารถตามไปหลอกหลอนหรือป่วนสมองได้แม้กระทั่งตอนที่คุณเข้านอนแล้ว สามารถเรียกโรคนี้ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า "อาการติดแชท" แม้ขณะที่ตัวเองกำลังหลับอยู่
การศึกษาในต่างประเทศพบว่า Sleep-Texting เป็นอาการชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการพิมพ์ข้อความแชทในมือถือของผู้ที่เข้าขั้น "ติดจอ" อาการนี้จะเกิดขึ้นในขณะหลับ และเมื่อได้ยินเสียงข้อความส่งมา ร่างกายและระบบประสาทจะตอบสนองด้วยการหยิบมือถือมาแล้วพิมพ์ข้อความตอบกลับไปในทันที ซึ่งผู้ใช้จะอยู่ในสภาวะ "กึ่งหลับกึ่งตื่น"
เป็นเหตุให้เมื่อตื่นขึ้นมาจะจำอะไรไม่ได้ว่าทำอะไรหรือพิมพ์อะไรไปบ้าง และข้อความนั้นก็เป็นข้อความที่ไม่สามารถจับใจความได้ หากเป็นโรคนี้จะมีปัญหาที่ตามมาในระยะยาว ได้แก่ ร่างกายอ่อนแอจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ โรคอ้วน ภาวะซึมเศร้า และอาจส่งผลกระทบในการเรียนหรือการทำงานด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงมีคำแนะนำจากแพทย์ คือ หากจะเล่นไลน์ เฟซบุ๊ก วอทแอพ หรือวีแชต ก็ควรเล่นแต่พอดี แต่หากคุณติดจองอมแงม ก็ควรตัดใจปิดมือถือ หรือปิดเสียงและปิดสัญญาณ WiFi และ 3G 4G ทันทีก่อนที่จะล้มตัวลงนอน เพื่อให้ร่างกายพักผ่อนได้เต็มที่
- โรควุ้นในตาเสื่อม
สำหรับบางคนอาจจะต้องทำงานติดจอคอมพิวเตอร์ทุกวัน วันละหลาย ๆ ชั่วโมง และบางคนก็จ้องสมาร์ทโฟนอยู่ตลอดแบบไม่วางตา ทั้งการเล่นโซเชียล แชท หรือเล่นเกม พฤติกรรมเหล่านี้หากทำติดต่อกันนานเกินไปอาจทำให้เกิด "โรควุ้นในตาเสื่อม" ได้ ทั้งนี้จากการสำรวจในประเทศไทยพบว่า มีผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วกว่า 14 ล้านคน
โรคนี้เกิดขึ้นจากการใช้สายตาที่มากจนเกินไป โดยปกติแล้วในสมัยก่อนโรคนี้ส่วนมากจะพบในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มากขึ้น และไม่จำกัดช่วงอายุวัย อาการสำคัญคือเวลามองจะเห็นภาพเป็นคราบดำๆ คล้ายหยากไย่ ซึ่งการตรวจสอบจะมองเห็นได้ชัดเจนในที่ที่เป็นพื้นที่สีสว่างๆ เช่น ท้องฟ้า หรือผนังห้องสีขาว ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ จะทำให้เกิดอาการปวดตาและมีปัญหาด้านสายตาในที่สุด
คำแนะนำจากแพทย์คือ ให้พักสายตาโดยการหลับตาแล้วกรอกตาไปมา ซ้าย ขวา บน ล่าง และหลับตานิ่งๆ ประมาณ 5 นาที อย่าลืมออกไปสูดอากาศให้ผ่อนคลาย และมองดูสิ่งของสีเขียวๆ เช่น ต้นไม้ จะช่วยให้อาการดีขึ้นซึ่งได้ผลถึง 70%
- โนโมโฟเบีย (Nomophobia)
เป็นโรคหวาดกลัวการไม่มีมือถือใช้ติดต่อสื่อสาร รวมถึงความเครียดเมื่อมือถืออยู่ในจุดอับสัญญาณจนติดต่อใครไม่ได้ Nomophobia มาจากคำว่า "no-mobile-phone phobia" ซึ่งจัดเป็นโรคกลัวทางจิตเวช เพราะมีอาการวิตกกังวลหรือกลัวเกินกว่าปกติ
อาการโดยทั่วไปที่สามารถเช็คได้ง่าย ๆ ว่าคุณเข้าขั้นเป็นโรคนี้หรือเปล่าก็คือ เกิดอาการเครียด วิตกกังวล ตัวสั่น หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้เมื่อไม่มีโทรศัพท์ อยู่ในจุดอับสัญญาณ หรือแบตเตอรี่หมด
นอกจากนี้ยังแสดงอาการด้วยการหยิบสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตขึ้นมาเช็คอยู่ตลอดเวลา ก็คือมีอาการติดจอ ติดการส่งข้อความ และติดการโพสต์ข้อความผ่านสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็ฯการอัพเดทสเตตัส การเช็กอิน โพสต์รูป ฯลฯ อาการบ่งชี้ที่สำคัญคือ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่เคยปิดมือถือเพราะกลัวพลาดการอัพเดทเรื่องราวต่างๆ ในโลกออนไลน์
จากการสำรวจของทั่วโลกพบว่ามีคนเป็นโรคนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชาย วัยรุ่น วัยทำงาน จะเป็นมากกว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ สำหรับประชากรไทยพบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มเยาวชนจะมีอาการติดจอ และชอบเล่นสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานไลน์หรือเฟซบุ๊ก และถ้าหากเป็นมากก็ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
- สมาร์ทโฟนเฟซ (Smartphone face)
สมาร์ทโฟนเฟซ หรือ โรคใบหน้าสมาร์ทโฟน เป็นโรคที่เกิดจากการก้มลงมองและจ้องไปที่สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมากจนเกินไป เหตุนี้เองจึงทำให้เกิดการยืดของเส้นใยอิลาสติกบนใบหน้าทำให้แก้มบริเวณกรามเกิดการย้อยลงมา ส่วนกล้ามเนื้อบริเวณมุมปากจะตกไปทางคาง
ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะการนั่งก้มหน้ามองสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณคอและเพิ่มแรงกดบริเวณแก้ม จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้นมา และจะเห็นชัดเจนเมื่อถ่ายภาพใบหน้าของตัวเอง
เอาเป็นว่า...ไม่ว่าคุณจะคลั่งไคล้การใช้โซเชียลมากแค่ไหน ติดจอขนาดหนักอย่างไร ก็ต้องหันกลับมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองควบคู่ไปด้วย อย่าลืมว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นแล้วการอยู่กับมันอย่างพอดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ การปรับพฤติกรรมให้ใช้งานโซเชียลน้อยลงอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปทีละนิด ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างบาลานซ์และไม่มีโรคภัยมากล้ำกรายอีกต่อไป