อายุที่ฉายแสง

ก็จริงอยู่ที่อายุเป็นเพียงตัวเลข แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญของการประสบความสำเร็จ แม้ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่า ช่วงอายุไหนมีช่วงที่มีแรงขัยและความทะเยอทะยานสูงสุดจนนำไปสู่ความสำเร็จก็ตาม

ตัวกั้นขวางความสำเร็จหลักๆ สามอย่างแรกที่พบบ่อยก็คือ มีเงินไม่พอ มีเวลาไม่พอ และ....ความขี้เกียจ ในขณะที่ปัจจัยที่เด่นชัดอีกเรื่องก็คือ ความพยายามจะไปให้ถึงเป้าหมายจะสำเร็จได้มากขึ้น หากมีคนทำด้วยหรือแม้แต่แค่คอยให้กำลังใจเท่านั้น โดยพบว่ามีถึงราว 7 ใน 10 ที่สำเร็จตามเป้าหมายได้ หากมีคนหรือเครือข่ายบางอย่างคอยสนับสนุนอยู่

คนส่วนใหญ่มีกำลังใจไม่กล้าแข็งพอจริงๆ ครับ

แต่อย่างน้อยก็มีราวครึ่งหนึ่งของคนที่ร่วมในการสำรวจนี้ที่ทำเป้าหมายข้อใดข้อหนึ่งได้สำเร็จ ซึ่งต่างก็สารภาพว่าความมุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จนั้น จัดว่าเป็นการต่อสู้รายวันทีเดียว มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่แสดงให้เห็นว่า กำลังใจที่จะทำเช่นนี้ลดลงเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน (ราว 40 ปีต้นๆ) โดย The National Bureau of Economic Research เคยรายงานไว้ว่า อายุ 47 ปีคือ อายุที่เกิดความเครียดและเศร้าซึมสูงสุด

แต่หลังจากนั้นจะกลับมามองโลกในแง่บวกมากขึ้นตามความอาวุโสและประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากสำหรับการสำรวจและวิจัยนี้ก็คือ พบว่าอายุก็มีส่วนเป็นปัจจัยสำคัญ และ 33 ปีคือ ตัวเลขอายุที่มีแรงขับและความทะเยอทะยานจะทำตามเป้าหมายให้ได้สูงสุด โดยครอบคลุมเป้าหมายทั้งเรื่องความก้าวหน้าในกิจการงาน ไปจนถึงความฟิตทางร่างกาย และมีไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพ

อันที่จริงมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำโดย สถาบันครอบครัวและการทำงาน (Families and Work Institute) สหรัฐอเมริกา พบว่า ลูกจ้างจะเริ่มหมดไฟที่จะมองหาการเลื่อนขั้นและรับโหลดงานที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น ในตอนที่อายุราวๆ 35 ปี นักวิจัยให้เหตุผลว่าที่อายุดังกล่าวนี้ น่าจะมีความมั่นใจในตัวเองมาก มีพลังงานประจุในตัวเยอะ และน่าจะมีมุมมองต่อชีวิตในด้านบวกสูง จึงทำให้มีความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จสูงตามไปด้วย แต่หากไม่ได้รับการตอบสนอง ก็จะเกิดผลตรงกันข้ามอย่างรุนแรง

ดร.นวีน พูริ (Naveen Puri) ที่เป็นนักวิจัยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ในการตั้งเป้าหมาย ควรตั้งให้เป็นไปได้กับความสามารถที่มีอยู่ เช่น หากไม่เคยวิ่งมาก่อน การตั้งเป้าจะวิ่ง 5 กิโลเมตรใน 3 เดือน ดีกว่าการตั้งเป้าจะวิ่งมาราธอนใน 1 ปี เพราะเมื่อประสบความสำเร็จในระดับ 5 กิโลเมตรนี้แล้ว จะรับรู้ได้ถึงความสำเร็จ และจะเกิดแรงจูงใจสำหรับเป้าหมายในอนาคตมากขึ้น”

มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ (doi.org/10.1007/s10645-019-09342-0) ที่ออกมาในปี ค.ศ.2019 ระบุว่า จากการศึกษาในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สาขาเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล 31 คน พบว่าอาจแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

กลุ่มแรกเรียกได้ว่าเป็นพวก นวัตกรแนวคิด (conceptual innovator) ที่ทำงานเกี่ยวกับหลักการที่เป็นนามธรรมมากสักหน่อย ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่าเป็นพวก นวัตกรการทดลอง (experimental innovator) กลุ่มนี้จะสั่งสมเพิ่มพูนความรู้จากประสบการณ์ที่ได้จากการทดลองอย่างเข้มข้น

สิ่งที่พบจากการวิจัยคือ ผลงานสุดยอดของพวกนวัตกรแนวคิดจะออกมาตอนที่พวกเขาอายุแค่ 25 ปีเท่านั้น ขณะที่อีกพวกหนึ่งกว่าจะสร้างผลงานแบบนั้นได้ก็ล่วงเข้าอายุ 50 ปีกลางๆ แล้ว จึงเห็นได้ชัดว่าในขณะที่พวกแรกใช้ประโยชน์จากความคิดแบบแปลกใหม่ ส่วนกลุ่มหลังได้ประโยชน์จากประสบการณ์และมุมมองที่สั่งสมมา

อันที่จริงหากไม่จำกัดเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ขยายไปยังวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ หรือแม้แต่ในโลกวรรณกรรม ข้อสรุปนี้ก็ยังมีความถูกต้องอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, ไอแซก นิวตัน, เวอร์จิเนีย วูล์ฟ และเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ คือตัวอย่างของอัจฉริยะแบบวัยรุ่นพุ่งแรง ขณะที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน (เขาเขียนหนังสือ “กำเนิดสปีชีส์ (The Origin of Species)” ในตอนที่อายุ 50 ปี) และฟินเซนต์ ฟาน ก๊อก เป็นอัจฉริยะแบบไวน์ที่ต้องหมักบ่มจึงจะได้ที่ อันที่จริงมีอีกหลายคนทีเดียวที่กว่าจะฉายแววอัจฉริยะได้ เจ้าตัวก็ตายไปเสียก่อนแล้วอีกต่างหาก แต่มีอีกหลายคนที่สร้างสรร์ผลงานชั้นเยี่ยมในช่วงอายุน้อย ก่อนจะสร้างผลงานในแบบเดียวกันได้อีกในช่วงอายุที่มากขึ้น เช่น จอร์จ ออร์เวลล์ และมารี กูรี

อายุจึงเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง แต่ก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก