ซึ้งรสพระธรรม ‘วันมาฆบูชา’ พร้อมรู้ลึก 'โอวาทปาฏิโมกข์' คืออะไร?

ซึ้งรสพระธรรม ‘วันมาฆบูชา’ พร้อมรู้ลึก 'โอวาทปาฏิโมกข์' คืออะไร?

รู้ประวัติ "มาฆบูชา 2563" พร้อมทำความเข้าใจการแสดงธรรมเทศนา "โอวาทปาฏิโมกข์" ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นใน "วันมาฆบูชา" รวมทั้งนัยยะลึกซึ้งของพระธรรมที่ซ่อนอยู่

วันเพ็ญเดือน 3 หรือที่เรารู้จักในชื่อ "วันมาฆบูชา" เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง โดยมีเหตุการณ์สำคัญอย่าง จาตุรงคสันนิบาต ที่แปลความได้ว่า การประชุมด้วยองค์ 4 เกิดขึ้น ได้แก่

1. เป็นวันที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย

2.พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจาก พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

3.พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุกๆ องค์

4.เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ

โดยประเด็นสำคัญของวันมาฆบูชานั้น อยู่ตรงเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำวิสุทธิอุโบสถแสดง พระโอวาทปาฏิโมกข์ กล่าวคือ พระโอวาทที่เป็นประธานของพระศาสนาซึ่งพระพุทธองค์นำมาแสดงในที่ประชุมวิสุทธิสงฆ์องค์พระอรหันต์จำนวน 1,250 องค์ ที่พระวิหารเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ

158098144625

ย้อนกลับไปใน วันมาฆบูชา เมื่อ 2,500 กว่าปีก่อนมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นดังที่กล่าวไปข้างต้น โดยมีข้อมูลบันทึกไว้ว่า ..เมื่อสมควรแก่เวลา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงกระทำวิสุทธิอุโบสถ ทรงแสดงขึ้นซึ่งพระโอวาทปาฏิโมกข์คาถา ดังนี้ว่า

สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ

อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ

แปลความหมายได้ว่า

การไม่ทำความชั่วทั้งปวง, การบำเพ็ญแต่ความดี, การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง,
พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม,
ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,
ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

การไม่กล่าวร้าย, การไม่ทำร้าย, ความสำรวมในปาฏิโมกข์,
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร, ที่นั่งนอนอันสงัด, ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า 
"ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส"

158098144659

การแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ในพระพุทธศาสนามี 2 อย่าง คือ 1.ยกหัวข้อธรรมะอันเป็นหลักของพระศาสนา เช่น ขันติ ขึ้นประกาศ 2.ยกพระวินัยอันเป็นข้อบังคับขึ้นประกาศ โดยเรื่องที่ยกขึ้นประกาศนั้นเรียกว่า ปาฏิโมกข์ ถ้าเป็นพระโอวาทคือคำสอนคำเตือนก็เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ดังพระคาถานี้

อย่างไรก็ตาม การแสดงธรรมเทศนาในลักษณะนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้เป็น จาตุรงคสันนิบาต หรือ วันมาฆบูชา เท่านั้น เพราะความในพระโอวาทปาฏิโมกข์คาถานั้น เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาทั้งหมด และไม่ใช่พระพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้นที่ทรงแสดงอย่างนี้

แม้พระพุทธเจ้าที่เป็นอดีตล่วงมาแล้ว หรือที่เป็นอนาคตภายหน้าก็จักทรงแสดงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นในบทสุดท้ายแห่งพระคาถานั้น จึงใช้คำเป็นพหูพจน์ว่า “เอตํ พุทฺธานสาสนํ” นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายดังนี้

จะเห็นได้ว่านอกจากการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าหรือการไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัดแล้ว ในวันมาฆบูชานี้พุทธศาสนิกชนก็ควรนำดอกไม้ ธูปเทียนไปที่วัด เพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียนรอบพระอุโบสถระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เพื่อให้เหล่าพุทธศาสนิกชนได้พึงระลึกถึงความหมายที่ซ่อนอยู่อย่างลึกซึ้งในรสพระธรรม

------------------------

อ้างอิง:

http://www.dhammathai.org/day/maka.php

https://mgronline.com/dhamma/detail/9600000010784

นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 194 กุมภาพันธ์ 2560 โดย สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตกาโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.