เปิดความเสี่ยง 'รักออนไลน์' อินเลิฟแบบไหน ไม่ถูกหลอก

เปิดความเสี่ยง 'รักออนไลน์' อินเลิฟแบบไหน ไม่ถูกหลอก

เปิดปมปัญหาคลาสสิกของ "รักออนไลน์" ที่หลายคนอาจจบด้วยการตกเป็นเหยื่อ หลอกให้รัก หลอกให้หลง และโอนเงินหรือทรัพย์สินให้อย่างไม่ทันรู้ตัว

แม้ว่า "รักออนไลน์" จะกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไปของผู้คนสมัยนี้ ซึ่งสำหรับใครที่ได้พบ "รักแท้" ก็โอเคว่า.. เราขอแสดงความยินดีด้วย

แต่ในอีกทางที่ถือเป็นปัญหาที่ต้องพึงระวังมากกว่า แค่การได้เจอรักแท้หรือแค่เข้ามาแล้วผ่านไป ก็คือ เคสของคนที่ถูกหลอกให้รัก หลอกให้หลง และที่สำคัญ คือ หลอกให้โอนเงินหรือทรัพย์สินให้แบบไม่ทันจะได้ตั้งสติดีๆ กว่าจะรู้ตัวว่า โดนหลอกก็อาจหมดตัวไปแล้วก็ได้นั้น

การหลอกลวงแบบ "โรมานซ์สแกม" หรือ ภัยแฝงที่มาจากการพบรักในโลกออนไลน์ เช่น หลอกให้รักแล้วโอนเงินนั้นมีมูลค่าความเสียหายถึง 6 พันล้านบาท

ข้อมูลจากงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยอย่างน่าตกใจว่า การหลอกลวงแบบ "โรมานซ์สแกม" หรือ ภัยแฝงที่มาจากการพบรักในโลกออนไลน์ เช่น หลอกให้รักแล้วโอนเงินนั้นมีมูลค่าความเสียหายถึง 6 พันล้านบาท สูงเป็นอันดับสองรองจากการหลอกลวงเป็นผู้รับเงินทางอีเมล

และช่วงมิถุนายน ปี 2561 -พฤษภาคม ปี 2562 ประเทศไทยมีผู้ร้องทุกข์จากกรณีดังกล่าวมากกว่า 300 ราย เสียหายกว่า 190 ล้านบาท โดยช่องทางยอดนิยมที่มิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือล่อลวงเหยื่อ ได้แก่ โซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์หาคู่ต่าง ๆ

ทั้งนี้ ขั้นตอนที่มิจฉาชีพใช้ก็มีหลากหลาย แต่ทุก “วงจรการหลอกลวง” ท้ายที่สุดนั้นก็นำไปสู่จุดประสงค์หลักในการ “หลอกเอาเงิน” หรือ “หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของคุณเพื่อไปทำธุรกรรมทุจริต” นั่นเอง

158144452668

สำหรับ ขั้นตอน รัก ลวง หลอก (โอน) ผ่านธุรกรรมออนไลน์ ที่มิจฉาชีพใช้ส่วนใหญ่มักผ่าน 3 วงจร ดังนี้

Step 1 : แปลงโฉมเพื่อสืบเสาะเข้าหา หรือล่อเหยื่อเข้ามา
สร้างโปรไฟล์ปลอมบนโลกออนไลน์ บางรายใช้ภาพที่ผ่านการตัดต่อเรียบร้อยแล้ว มีโพสต์ภาพกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ชื่อเว็บไซต์บริษัท/สถานที่ทำงาน หรือ ใช้รูปปลอมและข้อมูลโปรไฟล์ปลอมที่ขโมยคนอื่นมาแทนเป็นตัวเอง เพื่อสร้างภาพให้สวย หล่อ บุคลิกดี มีอาชีพมั่นคง มีฐานะร่ำรวย หลอกล่อคนที่เข้ามาเห็นให้เกิดความประทับใจแบบFirst Impression

อีกแบบคือแอบตามดูโปรไฟล์ของเหยื่อที่หมายตาในโลกโซเชียล จ้องหาโอกาสจากทุกสิ่งที่เหยื่อแสดงหรือบอกความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลไปแปลงโปรไฟล์ตัวเองให้ตรงใจหรือความชอบของเหยื่อและเข้าหาโดยอาจจะแชทไปทักทำความรู้จัก อีกทั้งมองหาข้อมูลของเหยื่อที่บอก “ฐานะทางการเงิน” และ “ข้อมูลที่สามารถใช้ยืนยันตัวตน” เพื่อเก็บไปใช้ในภายหลัง

Step 2 : ปากหวานให้ตายใจ
เมื่อติดต่อกันแล้ว ก็จะเริ่มเข้าตำราคารมเป็นต่อรูปหล่อเป็นรอง ไม่ก็สายหวาน ออดอ้อน หลอกล่อ โดยการหว่านล้อมในรูปแบบต่าง ๆ จะมาแบบเป็นชุด ทั้งส่งข้อความทักทาย ใช้คำพูดที่หอมหวาน ตื๊อเช้าตื๊อเย็น เพื่อให้เหยื่อรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญ โดยพยายามสานสัมพันธ์อย่างรวบรัด เร็วสุดตั้งแต่ 2-3 วัน ไปจนกระทั่งการอดทนนานเป็นปี ๆ ค่อยออกลาย

Step 3 : ร้อยเล่ห์เพทุบาย
เมื่อเหยื่อเริ่มติดและแสดงให้เห็นแล้วว่า "ตายใจ" ก็จะเข้าสู่ขั้นตอน “สร้างสถานการณ์” ให้เหยื่อเกิดความสงสาร ความเห็นใจ และ "สร้างความหวัง" ว่าจะได้พบกัน จากนั้นก็มาถึงการร้องขอเงิน เช่น มีปัญหาทางการเงินเร่งด่วน เช่น ค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ ค่าเล่าเรียน ธุรกิจถูกโกง/มีปัญหา เกิดอุบัติเหตุ ซื้อตั๋วเครื่องบิน/ทำวีซ่าเพื่อเดินทางมาพบกัน เป็นต้น

บางรายก็ใช้วิธีหลอกล่อว่าส่งสิ่งของ/ทรัพย์สินมาให้ แต่ติดปัญหาที่กรมศุลกากร สนามบิน หรือสถานีตำรวจ ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเพื่อรับสิ่งของ/ทรัพย์สินเหล่านั้น อาจมีผู้ร่วมขบวนการแสร้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโทรมาแจ้งค่าธรรมเนียมต่าง  ๆ หรือชักชวนให้ร่วมลงทุนสร้างธุรกิจเพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายร่วมกันก็มี

ซึ่งมาถึงขั้นตอนนี้ หากเป็นคนแปลกหน้าที่รู้จักกันในโลกโซเชียล ไม่เคยเจอตัวจริง หลายคนอาจจะไหวตัวทัน แต่ถ้าเป็นการปลอมแปลงโดยไปเอาโปรไฟล์คนรู้จักของเหยื่อ แล้วทักมาในช่องทางอื่น ๆ แบบไม่เห็นตัวและสร้างสถานการณ์ที่น่าสงสารหรือตกใจ หลายคนก็ตายใจโอนให้แบบไม่มีคำถาม

ช่องทางที่มิจฉาชีพนิยมใช้ล่อเหยื่อให้โอนเงินมาก็มักเป็นธุรกรรมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทางโมบายแบงค์กิ้งหรืออีวอลเล็ท เพราะไม่ต้องเจอตัวกันจริง ๆ หรือต้องไปที่ไหนที่เสี่ยงกับการถูกกล้องวงจรปิดจับภาพ หรือถูกจดจำได้จากคนที่เจอ

ทั้งนี้ ช่องทางที่มิจฉาชีพนิยมใช้ล่อเหยื่อให้โอนเงินมาก็มักเป็นธุรกรรมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นทางโมบายแบงค์กิ้งหรืออีวอลเล็ท เพราะไม่ต้องเจอตัวกันจริง ๆ หรือต้องไปที่ไหนที่เสี่ยงกับการถูกกล้องวงจรปิดจับภาพ หรือถูกจดจำได้จากคนที่เจอ

ซึ่งคนที่ไม่ไหวตัวในทีแรก เมื่อโดนหลายรอบและยอดเงินพุ่งสูง เหยื่ออาจเริ่มตาสว่าง มิจฉาชีพก็มักหายตัวไปหาเหยื่อใหม่ ๆ ซึ่งเมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ ความยากในการติดตามคือ บางครั้งก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเบอร์เจ้าของบัญชีที่ดูเหมือนมีตัวตนจริง ๆ นั้น เป็นเหยื่อที่โดนมิจฉาชีพไปเอาข้อมูลมาสร้างโปรไฟล์ปลอมมาหรือเปล่า

 

เปิด "พฤติกรรมเสี่ยง" ที่อาจเข้าข่ายตกเป็นเหยื่อ รัก ลวง หลอก (โอน) 

จากสถิติพบว่า ผู้หญิง ตกเป็นเหยื่อ มากกว่า ผู้ชาย ที่สัดส่วน 86% ต่อ 11% ที่เหลือเป็นเพศทางเลือก ราว 3% แต่หลากหลายกรณีที่ผู้ชายตกเป็นเหยื่อแล้วมักเปย์เสียหายหนักกว่าหลายเท่า

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเป็นเพศไหน หากมีพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ก็อาจตกเป็น “เหยื่อ” ได้เช่นกัน

  • เผยตัวตนบนโลกโซเชียลเป็นประจำ
  • ชอบแชร์เรื่องราวส่วนตัว อารมณ์ ความรู้สึก
  • โพสต์รูปถี่ ๆ ว่าไปไหนมาไหนมาบ้าง (3 นาที 4 สเตตัส)
  • ขี้เหงา ขี้สงสาร อ่อนไหวง่ายกับประโยคหวาน ๆ คำคม รูปภาพสวย ๆ และคลิปวิดีโอออดอ้อน
  • โลกสวย คิดบวกเข้าข้างตนเองเสมอ
  • เชื่อใจคนง่าย ต้อนรับทุกคนเป็นเพื่อน
  • เข้าแอปฯ หาคู่ ปัดซ้าย-ปัดขวา เป็นประจำ
  • กดติดตาม กดไลค์ หนุ่มหล่อ สาวสวย หุ่นดี โปรไฟล์หรู
  • สถานะโสด เป็นหม้าย แสดงตนเป็นสายเปย์
  • อัธยาศัยดี บริหารเสน่ห์ไปเรื่อยบนโซเชียล

ทั้งนี้ จากสารพันกลโกงที่กล่าวมา TrueMoney ในฐานะผู้ให้บริการ e-Wallet ตระหนักดีถึงความเสี่ยงที่ผู้ทำธุรกรรมออนไลน์และผู้ใช้อีวอลเล็ทต้องพบเจอ จึงมีข้อแนะนำ “ฮาว ทู เลิฟ” ให้ไม่โดนหลอกโอน ดังนี้

  • อย่าปล่อยให้ “อารมณ์” มีอำนาจเหนือ “สติ” 

ภาวะทางอารมณ์ที่หลากหลาย รัก โลภ โกรธ หลง ล้วนมีพลังทำลายล้างที่สูงมากต่อ “สติ” ที่เราพึงมี หากใครก็ตามที่ปล่อยให้อารมณ์ “รัก” อยู่เหนือเหตุผลและความถูกต้องแล้วล่ะก็ อาจจะนำภัยมาหาตัวเองก็เป็นไปได้ ในทางกลับกัน การเปิดเผยตัวตนบนโลกออนไลน์มากเกินไป เพราะต้องการให้คนมารักมาสนใจ ก็อาจนำพามาซึ่งความเสี่ยง

โดย 9 ข้อนี้คือ "ข้อมูลส่วนตัว" ชั้นดีที่เหล่านักต้มตุ๋นใช้ในการคัดเลือก “เหยื่อ” รายต่อไป

- การใช้ชื่อ-นามสกุลจริงแบบเต็ม ๆ

- สถานะความสัมพันธ์ “โสด”

- รสนิยมทางเพศ

- ID ในโปรแกรมสนทนาต่าง ๆ

- e-mail address หรือเบอร์โทรศัพท์

- ที่อยู่ออนไลน์ของบริการอื่น ๆ ใน social network หรือ blog

- สิ่งที่เราสนใจ หรือกิจกรรมที่เราชื่นชอบ

- รูปภาพของเรา

- วิดีโอของเรา

  • รู้จักมองโลก "ความเป็นจริง"

ทำตัวเป็น “เจ้าหนูจำไม” และใช้ทักษะในการตรวจสอบ Search Search Seach สืบเสาะหาข้อมูลของบุคคลที่เข้ามาขายขนมจีบกับคุณและหัดตั้งคำถามกับตัวเองและคนที่เข้ามาคุยด้วยอย่างจริงใจตรงไปตรงมาเพื่อวิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็น

- ทักษะการเป็นนักสืบจะมีประโยชน์มากเพราะจะทำให้คุณสังเกตโปรไฟล์อย่างเจาะลึก เช่นว่าคนนั้นมีเพื่อนเยอะแค่ไหน ใคร “แท็ก” หรือคอมเมนต์รูปบ้าง วันเกิดมีเพื่อนมาอวยพรหรือแท็กรูปไหม การตั้งข้อสังเกตทำให้เรายั้งไว้ทัน ไม่หลงคารมอะไรของใครง่าย ๆ

- ลองเอาชื่อโปรไฟล์ไปเสิร์ช “กูเกิล” แล้วได้ผลลัพธ์มาดูว่าสอดคล้องกันหรือไม่ หรือเซฟรูปจากโซเชียลมีเดียไปค้นหาใน “กูเกิล” เลือก “ค้นรูป” อาจโป๊ะแตกเจอเจ้าของภาพตัวจริงที่ถูกสวมรอยมาก็ได้

- มิจฉาชีพออนไลน์มักไม่ชอบเผชิญหน้า ถึงแม้เป็นญาติมิตรคนรู้จักติดต่อมาขอให้โอนเงินให้ ลองชวนเปิดกล้องขอ VDO Call เลยว่ากล้าไหม หรือลองบอกว่าจะส่งของไปให้ จากนั้นก็ขอที่อยู่ ถ้าอิดออดไม่ยอมให้ อ้างโน่นนี่สารพัดสิ่ง ให้มั่นใจเลยว่า “ปลอมชัวร์”

  • พิจารณา ไตร่ตรอง หาคำตอบว่า Make sense หรือไม่ 

หากยังมีเพียงแค่ 0.01% ที่ไม่มั่นใจอาจจะเป็นเพราะ sense คุณกำลังทำงาน ให้ลองตั้งคำถามใหม่และไตร่ตรองอีกครั้ง เพราะบางครั้งคำตอบที่ได้มาจากคนที่เรา (หรือเพิ่ง) พบกันในโลกออนไลน์อาจจะไม่เหมือนที่เคยบอกเรามา หรือสร้างความประหลาดใจให้เรากับคำถามใหม่ก็เป็นได้เช่นตอบเป็น pattern เดิม  ๆ หรือตอบเหมือนหุ่นยนต์ chatbot 

จะเห็นได้ว่าแม้ผู้ให้บริการธุรกรรมออนไลน์หรืออีวอลเล็ทจะพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยแค่ไหน แต่ถ้าเจ้าของข้อมูลหรือบัญชีหละหลวมในการเฝ้าระวังและเชื่อคนง่ายก็จะเป็นผู้เปิดกระเป๋ายื่นทรัพย์สินที่มีให้กับมิจฉาชีพเองกับมือ แต่การจะแก้ปัญหาบอกว่างั้นเลิกใช้เทคโนโลยีพวกนี้ทั้งหมดก็ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะข้อดีของเทคโนโลยีก็ยังมีมาก อีกทั้งไม่ได้แก้ที่รากของปัญหา ซึ่งก็คือพฤติกรรมและความรู้ความเข้าใจในการใช้โลกออนไลน์อย่างปลอดภัยและให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเศรษฐกิจแบบดิจิทัลนั่นเอง

ทั้งนี้ สำหรับใครที่เป็นลูกค้าของทรูมันนี่ และพบพิรุธหรือความผิดปกติเกี่ยว สามารถติดต่อ TrueMoney Customer Care เบอร์ 1240 หรือ Call Center ธนาคารเจ้าของบัญชีท่านได้ตลอด 24 ชม.

ที่มา : scribd.com