ทิศทางและสถานะของ 'ผู้สื่อข่าวไทย' จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด?
วันนี้ข่าวที่เสนอทางหน้าหนังสือพิมพ์หรือทีวีช่องต่างๆ กลายเป็นทางเลือกมากกว่าทางหลักหรือกระแสหลัก แม้จะต้องมีการปรับตัวอีกมาก แต่ถึงกระนั้นก็น่าห่วงว่าจะอยู่ยาก แล้วอนาคตทิศทางผู้สื่อข่าวไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวแค่ไหน อย่างไร
ทุกวันนี้ดูข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ ทั่วโลก พร้อมๆ ทั้งดูข่าวทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ทั้งหมด เกือบไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากค่าอินเทอร์เน็ตประจำเดือนแล้วก็คิดว่า รูปแบบการเสนอข่าวของสำนักข่าวในประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดถึงจะอยู่ได้
ผู้สื่อข่าวหรือนักข่าว ก่อนหน้านี้ถือว่ามีความสำคัญ ถึงกับเรียกว่าเป็น ฐานันดรที่สี่ นับจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการแต่ ณ วันนี้ ความเป็นฐานันดรที่สี่กำลังถูกมองว่าจะหมดความหมาย เพราะประชาชนคนทั่วไปสามารถเป็นนักข่าวหรือผู้สื่อข่าวโดยไม่ต้องสังกัดสำนักข่าวที่ไหน ไม่ต้องเป็นนักวิชาชีพ ไม่ต้องร่ำเรียนสาขานิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์
หลายคนเขียนบทความลงบล็อกของตัวเอง มีคนติดตามอ่านหลายหมื่น ถึงเป็นแสนๆ มีคนติดตามมากกว่ายอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ฉบับตีพิมพ์เสียอีก ข่าวที่เสนอทางหน้าหนังสือพิมพ์หรือทีวีช่องต่างๆ กลายเป็นทางเลือกมากกว่าทางหลักหรือกระแสหลัก อย่างที่เคยเป็นทิศทางของสำนักพิมพ์หรือทีวีช่องต่างๆ ที่ทำข่าวบ้านเราคงต้องปรับตัวอีกมาก แต่ถึงกระนั้น ก็น่าห่วงว่าจะอยู่ยาก เพราะความรวดเร็วในการเสนอข่าวไม่ทันกับพวกที่เสนอข่าวออนไลน์ ที่รวดเร็วฉับพลัน และที่สำคัญสามารถโต้ตอบสองทางได้ ไม่เหมือนช่องทางข่าวกระแสหลักที่เป็น one-way communication อ่านหรือดูอย่างเดียว
คิดว่าสื่อกระแสหลักจะอยู่ได้หรือไม่ คงเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือของนักข่าวและผู้สื่อข่าวเป็นเรื่องหลัก เพราะถ้ามีความน่าเชื่อถือสูง คนก็จะติดตามข้อคิดเห็น หรือการวิเคราะห์เจาะลึก ดังเช่นพิธีกรหรือนักข่าวสถานีทีวีช่องใหญ่ๆ ต่างประเทศที่มีคนติดตามบางรายการเพราะชื่นชอบและชื่นชมวิธีการนำเสนอและวิเคราะห์ข่าว รวมทั้งให้ข้อมูลตัวเลขสถิติอ้างอิงได้คนดูเดี๋ยวนี้ฉลาดขึ้น พวกเล่าข่าว ประกาศข่าว เด็กๆ หนุ่มสาวไม่มีประสบการณ์ ไม่มีทางสู้นักข่าวอาวุโสที่ทั้งรู้ลึกรู้กว้างและมีทีมงานวิเคราะห์ได้อย่างน่าเชื่อถือทั้งนี้ ไม่รวมสื่อกระแสหลักบางสำนักที่มีพฤติการณ์เสนอข่าวแบบเลือกข้าง ลำเอียง ทั้งๆ ที่ควรมีความเป็นกลาง แบบนี้ยิ่งทำให้ผู้ดูยิ่งเบื่อหน่าย ไม่ได้สร้างสรรค์ประเทืองปัญญา มีแต่เรื่องที่สร้างวิวาทะเพื่อเอามาเป็นประเด็นข่าว
เป็นเรื่องที่คิดไม่ถึงอย่างมากที่คนทั่วไปจะกลายเป็นทั้งผู้สื่อข่าวและรับข่าวได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากสมัยก่อนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวได้ ต้องฟังจากนักวิเคราะห์จากสำนักข่าวเท่านั้น ผู้สื่อข่าวจึงมีความสำคัญถึงขนาดถูกยกให้เป็นฐานันดรที่สี่แต่สมัยนี้ คงไม่ไช่แล้ว
ธุรกิจสื่อแบบดั้งเดิมที่อาศัยจุดแข็งในฐานะผู้สร้างเนื้อหา หรือ content สามารถถูกตรวจสอบจากแหล่งข่าวโดยผู้เสพสื่อ และผู้เสพสื่อนั้นก็สามารถแพร่ขยายความรู้ในเนื้อหานั้นได้ทันที ไม่ต้องรอเวลาเหมือนการพิมพ์หนังสือพิมพ์ ต้นทุนเกือบจะไม่มี ที่จะมีปัญหาก็คือเรื่องความน่าเชื่อถือ หรือ credibility ของผู้เผยแพร่สื่อนั้น
โดยทั่วไปสื่อสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิมยังมีจุดแข็งอยู่บ้าง ถ้าผู้ทำธุรกิจสื่อจะนำมาใช้อย่างถูกต้องถูกเวลา เพราะสื่อแบบดั้งเดิมสามารถส่งถึงประชาชนได้ครั้งละนับแสนนับล้านคน ยิ่งมีคนอ่านมากขึ้นเท่าไร ก็มีจำนวนผู้เข้าถึงสื่อหรือ readership มากขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญฐานลูกค้าของสื่อแบบดั้งเดิมไม่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วเหมือนสื่อออนไลน์ ที่เกิดไว ดับไว ชั่วครู่ชั่วยาม มีวัฏจักรที่สั้นมาก
จึงคิดว่าอาชีพสื่อจึงจะยังไม่หายไป แต่ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของผู้ทำธุรกิจที่จะให้สื่อดั้งเดิมเป็น core หรือ backbone หรือเป็น platform หลักของธุรกิจสื่อสมัยใหม่ได้อย่างไร ซึ่งจะมีผลให้ผู้มีอาชีพสื่อจะยังเป็นที่ต้องการของสังคมอีกนาน