‘คืนเงินประกันไฟฟ้า’ อยากได้ ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ทำความรู้จัก "เงินประกันการใช้ไฟฟ้า" คืออะไร ทำไมเราต้องจ่าย และถ้าอยากได้คืน เราจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง?
นับเป็นข่าวดีในสถานการณ์ข่าวร้ายรุมเร้าประเทศไทย ณ ขณะนี้ ที่รัฐบาลมีมติออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากได้รับผลกระทบทั้งจากการแพร่ระบาดของ "ไวรัสโคโรน่า" หรือ "โควิด-19" รวมถึงปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งรัฐบาลยังต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยด้วย โดยหนึ่งในมาตรการที่ถูกพูดถึง และได้รับความสนใจอย่างมาก ก็คือ “การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า”
ระหว่างที่รอการประกาศระเบียบวิธีการขอคืนเงินฯ ที่แน่ชัด แต่ทราบหรือไม่ว่า ที่จริงแล้ว “การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า” ซึ่งอาจไม่คุ้นหูสักเท่าไรนักนั้น มันคืออะไร “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปทำความรู้จักเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้มากขึ้น และบอกเล่าวิธีการขอคืนเงินจำนวนนี้ ว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง เพราะถือเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนที่มีบ้านหรือมีกิจการส่วนตัว
ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของ “เงินประกันการใช้ไฟฟ้า” ก่อน โดยขออธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ เมื่อเรามีบ้านหรือกิจการต่างๆ เราจะต้องไปขอใช้ไฟฟ้ากับผู้ให้บริการ นั่นคือการยื่นขอใช้ครั้งแรก นอกจากเอกสารต่างๆ ที่จะต้องเตรียมแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ขอใช้ไฟฟ้าอย่างเราๆ ต้องนำมาวาง ก็คือ “หลักประกันการใช้ไฟฟ้า” เพื่อเป็นหลักประกันการใช้ไฟฟ้า ค่าเบี้ยปรับ และหรือหนี้อื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงดอกเบี้ยที่เกิดจากหนี้ด้วย
โดยหากดูจากข้อมูลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้กำหนดเกณฑ์ค่าธรรมเนียมการขอใช้ไฟฟ้า ซึ่งแยกตามขนาดมิเตอร์ (แอมป์) หรือพูดง่ายๆ ก็คือแยะตามขนาดการใช้ไฟของบ้านอยู่อาศัย เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดในเรื่องของเงินประกันการใช้ไฟฟ้า จะพบว่ามีอัตราเริ่มต้นที่ 300 บาท ในขนาดมิเตอร์ 5(15) ไปจนถึง 12,000 บาท ในขนาดมิเตอร์ 30(100)
หลักประกันมีอะไรบ้าง? ที่ผู้ขอใช้ไฟฟ้าอย่างเรา สามารถนำไปให้กับผู้ให้บริการไฟฟ้า
ทั้งนี้ หลักประกันการใช้ไฟฟ้ามีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่
1.เงินสด
2.พันธบัตรรัฐบาล
3.พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน
4.หนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคาร
5.หนังสือสัญญาค้ำประกันของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ และประกอบธุรกิจค้ำประกันตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรายชื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งเวียนให้ส่วนราชการต่างๆ ทราบ
โดยหลักประกันเหล่านี้ ผู้ขอใช้ไฟฟ้าอย่างเราจะเลือกใช้แบบไหนก็ได้ที่สะดวก ซึ่งเงินประกันนี้แหละ จะได้คืนก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นใน 5 กรณีนี้เท่านั้น ได้แก่ 1.เลิกใช้ไฟฟ้า 2.ลดขนาดมิเตอร์หรือขนาดหม้อแปลงไฟฟ้า 3.โอนเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้า 4.เปลี่ยนแปลงประเภทหลักประกันการใช้ไฟฟ้า และสุดท้าย 5.ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลง และมีหนังสือขอคืนหลักประกัน
สำหรับ วิธีขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้แยกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทบุคคล ต้องเตรียมสำนักบัตรประจำตัวของผู้วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้า และหลักฐานการวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า ส่วนประเภทนิติบุคคลนั้น ต้องเตรียมสำเนาบัตรประจำตัวของผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล และของผู้รับมอบอำนาจ และสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่อายุไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่สำนักงานทะเบียนรับรอง
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้จะต้องยื่นเรื่องหลังจากแจ้งยกเลิกการใช้ไฟฟ้า และเครื่องวัด ฯ ได้ถอดกลับแล้ว หรือขอเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าและวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าเป็นพันธบัตรหรือสัญญาค้ำประกันธนาคารแทนเงินสด ที่สำคัญต้องชำระหนี้ค่าไฟฟ้าหรือหนี้ค้างชำระให้เรียบร้อยแล้วเท่านั้น
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี มีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายพิจารณาเร่งรัดออกแนวทางปฏิบัติ และรายละเอียดในการดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 21.5 ล้านราย สามารถใช้สิทธิในการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่วางไว้ตามขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ซึ่งมีวงเงินรวมที่จะมีสิทธิขอคืนประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยจะสามารถเริ่มทยอยคืนได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
ซึ่งเท่ากับว่า เราสามารถขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ทันทีตั้งแต่รอบบิลชำระค่าไฟฟ้าเดือนมีนาคม 2563 นี้ แม้ไม่ต้องเข้าเกณฑ์ 5 กรณีที่กำหนดไว้ และที่แน่นอนคือแต่ละครัวเรือนจะได้เงินคืนไม่เท่ากัน เพราะขึ้นอยู่ตามขนาดมิเตอร์ของแต่ละบ้านนั่นเอง
เราสามารถขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ทันทีตั้งแต่รอบบิลชำระค่าไฟฟ้าเดือนมีนาคม 2563 นี้ แม้ไม่ต้องเข้าเกณฑ์ 5 กรณีที่กำหนดไว้ และที่แน่นอนคือแต่ละครัวเรือนจะได้เงินคืนไม่เท่ากัน เพราะขึ้นอยู่ตามขนาดมิเตอร์ของแต่ละบ้านนั่นเอง
ทั้งนี้ส่วนรายละเอียดการขอคืนเงืนในมาตรการของรัฐบาลครั้งนี้ จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร เพจเฟซบุ๊คการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระบุไว้ว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ขณะนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง อยู่ในระหว่างการจัดทำ หลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนการจ่ายคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความพร้อม และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าให้มากที่สุด ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จะประกาศอย่าง เป็นทางการให้ทราบต่อไป โดยระบุเพิ่มเติมว่า เฉพาะบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก
ล่าสุดการไฟฟ้านครหลวงได้ปเิดขั้นตอนการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า โดยเริ่มจาก 1.ลงทะเบียนตรวจสอบสิทธิ์และแจ้งความประสงค์การขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้มีช่องทางในการลงทะเบียน ดังนี้ 1) ช่องทางออนไลน์ ได้แก่ แอพพลิเคชั่น MEA Smart Life, เว็บไซต์ www.mea.or.th รวมถึงช่องทางอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และไล์ นอกจากนี้ยังสามารถสแกน QR Cord ในใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนมีนาคม 2563 นี้ หรือจะไปที่ทำการของการไฟฟ้านครหลวงทั้ง 18 เขต (แต่ในกรณีนี้ กฟน.แนะนำให้ให้ผู้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าที่มีปัญหาสิทธิ์เรื่องต่างๆ มาใช้บริการช่องทางนี้ เช่นเปลี่ยนชื่อนามสกุล หรือเสียชีวิต หากไม่มีปัญหาอะไร ใช้บริการทางออนไลน์จะสะดวกกว่า)
ขั้นตอนที่ 2.กฟน.จะคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 31 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ผ่าน 3 ช่องทาง คือ พร้อมเพย์ (หมายเลขบัตรประชาชน) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ (ในกรุงเทพ นนทบุรี และสมุทรปราการ)
ขณะที่เฟซบุ๊คการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็มีการอธิบายขั้นตอนการลงทะเบียนเช่นกัน โดยสิ่งที่ทุกคนต้องเตรียมคือ 1.ชื่อ นามสกุล 2.หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งทั้งสองส่วนนี้สามารถดูได้จากใบแจ้งค่าไฟฟ้า และ 3.หมายเลขบัตรประชาชน ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลในส่วนนี้ไปลงทะเบียนขอเพื่อรับสิทธิ์ โดยการลงทะเบียนนั้นสามารถทำได้จาการสแกน QR Code หรือเข้าไปที่ htt://dmsupload.pea.co.th/cdp กรอกข้อมูลให้ครบถ้วนตามระบบ เสร็จเรียบร้อนจะมี SMS ยืนยันผลการลงทะเบียนตอบกลับมา และหลังจากนั้นก็จะเริ่มจ่ายเงินคืนตั้งแต่ 31 มีนาคม เป็นต้นไป