ธีรดา สัตยารักษ์ วาดรูปทำให้ใจนิ่ง
ศิลปะ อาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราคิดถึงในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หากศิลปะ ก็เป็น ‘อาหารใจ’ ที่ช่วยประคองจิตใจของเราให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลายได้ไม่น้อย ในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้
เราเกือบไม่ได้รู้จักกับ ฟุย – ธีรดา สัตยารักษ์ ถ้าใจแข็งปฏิเสธคำชวนของ 2 กัลยาณมิตร ทิพย์สุดา ศิริกุล และ อนัญญา อุทยานะกะ ที่ชวนไปเยี่ยมชมสตูดิโอของฟุยในวันเวลาที่กระชั้นชิด ขอบคุณเพื่อนทั้งสองที่ทำให้เราใจอ่อนจนทำให้พบกับเรื่องราวที่ดีต่อใจ
ฟุยต้อนรับเราในห้องทำงานที่สดใสด้วยแสงอาทิตย์ยามสายที่ชวนให้รู้สึกราวอยู่ในกลาสเฮ้าส์ที่ห้อมล้อมไปด้วยต้นไม้และดอกไม้สีหวาน ภาพดอกบัวที่กำลังวาดค้างไว้บนขาตั้งและอุปกรณ์วาดรูปบ่งบอกว่าเจ้าของห้องเพิ่งละจากภาพไปไม่นาน
“สระบัวเป็นภาพแรกที่ลงมือวาด จากนั้นก็เริ่มวาดรูปเรื่อยมาค่ะ” ฟุย อดีตข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ผู้รักในงานศิลปะและการวาดรูปเล่าถึงภาพเขียนชิ้นแรกที่ลงมือวาดเมื่อสิบกว่าปีก่อนอันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วาดรูปต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยการฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตนเอง
“ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กแล้วค่ะ ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะ ชอบคุยกับคุณพ่อเรื่องผลงานศิลปะ จะจำได้หมดว่าภาพนี้คนไหนวาด อยู่ในสมัยไหน เวลาไปเมืองนอกจะชอบไปตามมิวเซียม
สมัยเด็กๆจะชอบงานของศิลปินในยุค Pre-Raphaelites ( กลุ่มศิลปินอังกฤษ จิตรกร กวี และนักวิจารณ์ศิลปะของอังกฤษ ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1848) ชอบงานของ วิลเลียม มิเชล โรเซตตี , เจมส์ คอลลินสัน ที่มักวาดรูปของบุคคลในประวัติศาสตร์ เทพปกรณัม ในรูปแบบที่ดูเป็นธรรมชาติ
พออายุมากขึ้นจะชอบงานอิมเพรสชั่นนิสม์ รู้สึกว่ามันมีจินตนาการ สิ่งที่เราวาดเหมือนจริงไม่ได้ละ จะมีจินตนาการของผู้วาดรวมไปกับของจริง ทฤษฎีเรื่องสีกับแสงก็น่าสนใจ สระบัวบางทีมีสีม่วง สีชมพูฟุยชอบแนวนั้น”
ภาพสระบัวที่มีผืนน้ำมีฟ้าแต้มด้วยสีม่วงตัดกับดอกบัวสีชมพูที่แขวนอยู่บนผนังในห้อง สะท้อนความรู้สึกของผู้วาดได้เป็นอย่างดี ฟุยเล่าถึงภาพนี้ว่า
“คงเป็นอิทธิพลที่ฝังอยู่ในหัวนะคะ วาดภาพสระบัวต้องมีต้นหลิว และอยากใช้โทนสีนี้นะคะนอกจากโมเนต์ แล้ว แวนโกะห์ก็ใช้สีฟ้าอมเขียวโทนนี้ออกเทอร์ควอยส์หน่อย เวลาวาดเรามีความสุขค่ะมีสมาธิด้วย เวลาวาดรูปใจนิ่งเลยค่ะ ไม่คิดถึงอะไรเลย จิตใจอยู่ที่ภาพอย่างเดียว เคยหัดนั่งสมาธิ ทำไม่ได้ มาได้ตอนวาดรูปนี่เอง”
นอกจากภาพวาดทิวทัศน์และธรรมชาติแล้ว เรายังได้เห็นภาพวาดบุคคลในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นลายเซ็นที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวของจิตรกรนาม “ธีรดา” โดยเฉพาะภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
“รักพระองค์ท่านมากค่ะ ตอนท่านสวรรคตเสียใจมาก ช่วงนั้นวาดรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ค่อนข้างเยอะ ส่วนมากจะเลือกภาพขณะที่ทรงพระเยาว์ หรือ ตอนที่มีพระชนมายุไม่มากนัก ส่วนมากจะวาดจากภาพถ่ายขาวดำแล้วเรามาใส่สีเอง
ช่วงนั้นวาดรูปแล้วโพสต์ลงในเฟซบุ๊ค ทำให้มีคนสนใจ เลยจัดให้มีการประมูลภาพแล้วนำรายได้ไปมอบให้กับมูลนิธิที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงอุปถัมภ์”
เล่ามาถึงตรงนี้ ฟุยบอกว่าแรกๆไม่มั่นใจเท่าไหร่นักกับการที่จะนำรูปลงในเฟซบุ๊ค กระทั่งได้รับการติดต่อทางศูนย์การค้า เอท ทองหล่อ ให้นำผลงานไปจัดแสดงในนิทรรศการ A Sense of Nostalgia | มาก กว่า รัก เมื่อปี 2560 เราจึงได้เห็นผลงานของเธอในเฟซบุ๊ค และ ไอจี Fuitirada มากขึ้น
“สามีเห็นว่าเราวาดรูปได้เลยไปโพสต์ในเฟซบุ๊ค เราก็อายเพราะเราไม่มีสังกัด ไม่ได้เรียนที่ไหนมาไม่กล้าลงเลย ได้รับการติดต่อให้ไปจัดนิทรรศการที่เอททองหล่อทางเจ้าของงานบอกว่าเราต้องลง Facebook บ้างประชาสัมพันธ์ให้รู้ว่าเราทำอะไรบ้าง ก็เลยเริ่มลง หลังจากนั้นเริ่มมีคนเขียนมาจองภาพ บางคนคอมมิชชั่นว่าอยากได้รูปแบบนี้บ้าง”
การได้ทำสิ่งที่ชอบ คือ ความสุขของฟุยในวันนี้ “จุดประสงค์ไม่มีอะไรเลย แค่อยากเอนจอยกับสิ่งที่เราชอบเท่านั้น ใครที่อยากจะวาดรูปแล้วยังจดๆจ้องๆ ฟุยอยากจะบอกว่าทำตามสัญชาตญาณเลย อยากวาดสีอะไรลงเลย ละเลงเลย เราต้องมั่นใจในตัวเอง คนอื่นอาจจะมองแล้วไม่สวย แต่ถ้าเราดูแล้วเราแฮปปี้ทำเลยค่ะ สิ่งที่สำคัญคือต้องมีความมั่นใจ แล้วเส้นที่เราวาดมันจะออกมาได้ดังใจ”
ในวันที่เราต้องเก็บกักตัวเองอยู่กับบ้านเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม เราเชื่อว่าเรื่องราวและรูปวาดของ ธีรดา สัตยารักษ์ คงจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้ไม่มากก็น้อย
ไม่แน่ว่าอาจเป็นช่วงเวลาดีๆที่เราจะมีโอกาสหยิบพู่กันขึ้นมาวาดรูปอีกสักครั้ง