Love is here ...Street Art สวรรคโลก
ความรักต้องการเวลา อยากไกลไวรัสโคโรน่าโควิด-19 ต้องรักษาระยะห่าง แม้แกลลอรี พิพิธภัณฑ์จะปิดทำการ แต่เราพร้อมเป็นสื่อกลางที่นำเรื่องราวน่ารักมาเล่าสู่กันฟัง ผ่านผลงานศิลปะ Love is here และผองเพื่อนที่ฝากฝีมือไว้ที่ ถ.กลางเมือง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
Love is here เป็นหนึ่งในภาพเขียนบนตึกเก่าของ 4 ศิลปิน ในโครงการ Experiencing ASEAN POP Culture จัดแสดงผลงานศิลปวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop Culture)เพื่อสร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนปี 2562 โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เชื้อเชิญศิลปินในกลุ่มอาเซียนมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานภายใต้แนวคิด การสัมผัสวิถีชีวิตของชาวสุโขทัย
Love is here จึงเกิดขึ้น "เพราะการมาถึงสวรรคโลกนั้นเต็มไปด้วยความรัก" เหนือ-จักรกฤษณ์ อนันตกุล ศิลปินนักออกแบบ (1ใน 100 Illustrator น่าจับตามองจาก Japanese Magazine 'Illust-Note และ Designer of the year 2017 ในประเทศไทย) กล่าวถึงที่มาของภาพเขียนชิ้นนี้
จักรกฤษณ์ กล่าวถึงการเดินทางมาสวรรคโลกว่า ทุกรายละเอียดที่หล่อหลอมเป็นเมือง ไม่ว่าจะเป็น ผู้คน วิถีชีวิต ชุมชน วัฒนธรรม ตัวเมืองล้วนสร้างแรงบันดาลใจอันเป็นที่มาของความรู้สึกที่อยากจะบอกว่า ความรักอยู่ที่นี่นะ
ในขณะที่ศิลปินจากเพื่อนบ้านจากมาเลเซีย เคยจิ ชัย (Kenji Chai) ศิลปินกราฟฟิตีที่มีผลงานให้เห็นในหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มะละกา ปีนัง ยะโฮ และ อิโปห์ มองว่า เยาวชน คือ ตัวแปรสำคัญในการรักษาวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่
ด้วยเหตุนี้เขาจึงวาดภาพ Cuture Guardian นำเสนอใบหน้าของหญิงสาวตกแต่งด้วยองค์ประกอบของภาพที่มีทั้งลายผ้า เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายที่สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของชาวสวรรคโลก โดยมีมังกรสื่อถึงความเชื่อมโยงกับสถานที่แห่งนี้ซึ่งเป็นชุมชนชาวจีนมาแต่เก่าก่อน
“การสืบสานวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่จากรุ่นสู่รุ่น เราควรให้ความสำคัญในการถ่ายทอดปลูกฝังองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อนให้กับผู้สืบสานอย่างถูกวิธี” เคนจิ ชัย กล่าว
ดอกลำดวน ดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชา เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนความหมายของ มิตรภาพระหว่างกัมพูชาและไทย โดย ศิลปิน Peap Tarr & Lisa Mam พี-เอี๊ยบ ทาร์ หนุ่มลูกครึ่งกัมพูชาและนิวซีแลนด์ กับ ลิซ่า มาม สาวกัมพูชา ผู้เปลี่ยนถนนของกัมพูชาให้เป็นผืนผ้าใบจนไปสะดุดตาของนักสะสม ทำให้ได้มีโอกาสไปแสดงผลงานในต่างประเทศมากมาย ประติมากรรมรูปใบบัวบริเวณทางเชื่อมแยกปทุมวันหน้าสยามดิสคัฟเวอรี่ก็มีผลงานของศิลปินดูโอคู่นี้ด้วย
CENO2 หรือ มูฮัมหมัด อัสลิน ศิลปินกราฟฟิตีชื่อดังของสิงคโปร์ สร้างสรรค์ผลงาน การต่อสู้ และ ความรอบรู้ ผ่านภาพของนักมวยซึ่งมีรอยสักบนเรือนร่างเป็นรูปปลาซึ่งเป็นลายเส้นที่พบเห็นในถ้วยชามสังคโลกของสุโขทัย เมื่อถามถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ เขาบอกว่า
“ถ้ามองความเป็นไทยและวัฒนธรรมอย่างตั้งใจแล้ว เราจะเห็นว่ามีสิ่งต่างๆให้ชื่นชมและเห็นคุณค่าเสมอ ” นี่คือสิ่งที่เขาอยากจะบอกกับคนไทย
ชมผลงานของศิลปินอาชีพแล้ว หากเดินต่อไปทางบ้านเรือนที่อยู่ทางริมแม่น้ำ บริเวณกำแพงยาวขนานลำน้ำจัดแสดงผลงานของนักเรียน นักศึกษาในจังหวัดสุโขทัย แม้จะเป็นศิลปินสมัครเล่นแต่ผลงานน่าสนใจมีทั้งงานจิตรกรรมและประติมากรรมเล่าเรื่องวัฒนธรรม อาหารการกิน อาคารบ้านเรือน รวมทั้งประติมากรรมสื่อผสมที่สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม
ผลงานชิ้นนี้น่าสนใจมากมองไกลๆจะเห็นเป็นรูปปลาขนาดใหญ่ ครั้นเมื่อเข้าไปดูใกล้ๆจะเห็นเป็นสิ่งของเหลือใช้ที่ถูกทิ้งขว้าง มีทั้งรถเด็กเล่น พัดลม กระบุง ตะกร้า รวมไปถึงกาต้มน้ำ ทุกอย่างมารวมกันเป็นปลาบึก ปลาแม่น้ำโขงที่ใกล้สูญพันธุ์ น้องๆกลุ่ม ๑๐ ทัศนศิลป์ เจ้าของผลงานเขียนไว้สั้นๆ
ช่วงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เราชื่นชมผลงานผ่านสื่อออนไลน์ไปก่อน เมื่อคนในชาติปลอดภัยแล้วค่อยหาเวลาไปชมผลงานที่สถานที่จริง กระซิบดังๆว่าใกล้ผลงานปลาบึกมีร้านขายแคบหมูเจ้าอร่อยอยู่ตรงนั้น ตอนเหตุการณ์ปกติขายกันวันละ 100 กก. หอมกรอบอร่อยทีเดียว
นี่เป็นเพียงเสน่ห์ในมุมเล็กๆของอ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เมืองรองที่คุณอาจตกหลุมรักได้ไม่ยาก