กฏ 4 ข้อบริการอาหาร 'เดลิเวอรี่' แบบปลอดภัยในช่วงโควิด-19
อาหารแบบ Delivery อีกหนึ่งทางเลือกในช่วงวิกฤติโควิด-19 "สำนักอนามัย กทม." แนะกฏ 4 ข้อบริการอาหาร “เดลิเวอรี่” แบบปลอดภัย
เมื่อวันที่ 30 มี.ค.63 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.ออกประกาศสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวไปแล้ว 4 ฉบับ ปิดพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งสิ้น 34 แห่ง พร้อมกำหนดให้สถานประการและร้านอาหารต้องจำหน่ายแบบนำกลับไปทานที่อื่นหรือที่บ้าน(Take Away) ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้บริการธุรกิจขนส่งสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัย
สำนักอนามัย จึงออกคำแนะนำสำหรับการให้บริการอาหารแบบเดลิเวอรี่ (Delivery)ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้
1.ผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารแบบเดลิเวอรี่ (Delivery) ให้ติดตามสถานการณ์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรค และให้ความรู้หรือประชาสัมพันธ์แก่ผู้ขนส่งอาหาร ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และจัดให้มีการตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นแก่ผู้ขนส่งอาหาร หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ใช้วิธีการส่งอาหารแบบ Personal distancing ยืนห่างจากลูกค้าอย่างน้อย 1 เมตร และห้ามวางอาหารบนพื้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เคาะ! ตำแหน่งงาน part-time กว่า 20,000 อัตรา ลง ‘เดลิเวอรี่’
'เทวัญ' เรียก 17 บริษัทเดลิเวอรี่ เซ็นปฏิญญาข้อตกลงเรื่องความสะอาด
รวมโปร ‘เดลิเวอรี่’ ครองเมือง ธุรกิจอาหารปรับตัวเพื่ออยู่รอด
2.ร้านอาหารให้บริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ (Delivery) ร้านอาหารต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ อาหารปรุงสำเร็จ ต้องปรุงสุกใหม่ สำหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปรุงให้สุกด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงการจำหน่ายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก
3.ผู้ขนส่งอาหารเดลิเวอรี่ (Delivery) ต้องลงทะเบียนกับผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารแบบเดลิเวอรี่ (Delivery) สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยระหว่างปฏิบัติงาน ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนเข้าร้านอาหาร ก่อนและหลังการส่งอาหารให้ผู้สั่งซื้ออาหาร รวมทั้งหลังเข้าห้องสุขา หลังจับสิ่งสกปรก หรือจับเงิน
4. ผู้สั่งซื้ออาหาร/ผู้บริโภค ให้จัดเตรียมภาชนะรองรับอาหาร เช่น กล่องหรือโต๊ะแบบพับได้ และให้ยืนห่างจากผู้ขนส่งอาหารอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ หลังการรับอาหารจากคนขนส่งอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยหากมีอาการป่วย และควรจ่ายค่าบริการโดยวิธี E-Payment หรือเตรียมเงินสดให้พอดี เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินทอน
ขอบคุณภาพจาก สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร