1 เมษา วันเลิกทาส สู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญสังคมไทย
ชวนอ่านประวัติและที่มาวันเลิกทาส
เมื่อเอ่ยถึงวันที่ 1 เมยายน หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงวัน Apri Fool's Day หรือ "วันเมษาหน้าโง่" ซึ่งตามธรรมเนียมชาวตะวันตก วันนี้เป็นวันที่สามารถล้อเล่น แกล้งคนอื่นแบบเล็กๆ น้อยๆ ได้โดยที่ไม่ถือสาหาความกัน แต่สำหรับประเทศไทยนั้น วันนี้คือวันที่เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์ นั่นคือวันที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศเลิกทาส เมื่อปี พ.ศ. 2448
นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2411 ประชากรชาวสยามจำนวนกว่าหนึ่งในสามของทั้งหมด ล้วนแล้วแต่เป็นทาสทั้งสิ้น การที่ทาสมีอยู่เป็นจำนวนมาก มีสาเหตุเพราะว่า ทาสนั้นเป็นกันตลอดชีวิต เมื่อหญิงชายที่เป็นทาสพบรักกันแล้วมีลูก ลูกที่กำเนิดออกมาก็จะกลายเป็นทาส เมื่อมีลูกสืบหลานก็จะเป็นทาสกันต่อไป ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด
ทาสที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสเรียกว่า "ทาสในเรือนเบี้ย" ซึ่งเป็นประเภทของทาสที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ เนื่องจากสื่อสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ มีการนำเสนอชีวิตเกี่ยวกับทาสประเภทนี้อยู่บ่อยครั้ง
ทั้งนี้ประเภทของทาสไม่ได้มีแค่ทาสในเรือนเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่สามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด 7 ประเภทด้วยกัน ดังต่อไปนี้
1. ทาสในเรือนเบี้ย คือ ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสอยู่ภายในบ้านของนายทาส นับว่ามีสถานะเป็นทาสตั้งแต่กำเนิด และทาสชนิดนี้จะไม่สามารถไถ่ถอนตัวเองได้
2. ทาสสินไถ่ คือ ทาสที่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาทาสทั้งหมด ทาสชนิดนี้มักจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ไม่สามารถหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวหรือตนเองได้ จึงได้ขายตัวหรือคนในครอบครัวไปเป็นทาส ซึ่งมีตั้งแต่ พ่อแม่ขายลูก สามีขายภรรยา หรือบุคคลนั้น ๆ ประสงค์จะขายตัวเอง แต่ถ้าหากมีผู้นำเงินมาไถ่ถอน ทาสประเภทนี้ก็จะสามารถเป็นไท พ้นจากความเป็นทาสได้
3. ทาสที่ได้รับมาด้วยมรดก คือ ทาสที่ตกเป็นมรดกต่อเนื่องมา ทาสประเภทนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายทาสคนเดิมเสียชีวิตลง และได้มอบทาสมรดกให้แก่นายทาสคนต่อไป
4. ทาสท่านให้ คือ ทาสที่ได้รับมาจากผู้อื่น
5. ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ ทาสประเภทนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ บุคคลใดก็ตามเกิดกระทำความผิดแล้วถูกลงโทษเป็นเงินค่าปรับ แล้วบุคคลผู้นั้นไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าปรับได้ แต่มีผู้อื่นเข้ามาช่วยเหลือชำระจัดการให้ บุคคลผู้นั้นจะเป็นทาสของผู้ให้ความช่วยเหลือในการชำระค่าปรับ
6. ทาสเชลย คือ ทาสที่ได้หลังจากชนะศึกสงคราม ผู้ชนะจะกวาดต้อนประชากรของจากเมืองหรือดินแดนของผู้แพ้สงครามไปยังบ้านเมืองของตน แล้วนำประชากรเหล่านี้ไปเป็นทาสรับใช้
7. ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก ทาสประเภทนี้แต่เดิมคือไพร่ ไพร่ผู้ซึ่งไม่สามารถทำงานให้หลวงได้ หรือไม่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ ไพร่อาจขายตนเองไปเป็นทาส เพื่อให้นายทาสช่วยเหลือ
หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การเลิกทาสในสยาม คือ การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี พ.ศ. 2398 ที่ทำให้สยามเปิดการค้าเสรีกับประเทศตะวันตก ส่งผลให้เศรษฐกิจและสังคมไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปจากการกำเกษตรเพื่อยังชีพมาเป็นผลิตเพื่อขาย ประเทศจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ดิน และต้องการแรงงานเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบการผลิตเพื่อค้าขายกับต่างชาติ แต่ด้วยความที่สยามมีทาสมากอีกทั้งทาสก็เป็นกันยาวนานไม่สิ้นสุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริให้ชำระกฎหมาย เปลี่ยนแปลงแก้ไขความเป็นทาสในรุ่นลูกเสียใหม่
ในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 รัชกาลที่ 5 จึงได้ทรงโปรดให้ออกพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย มีเนื้อหาใจความว่าด้วยการแก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยสั่งให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่อทาสผู้ใดก็ตามมีอายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ โดยมีผลบังคับใช้กับทาสทุกคนที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา และนอกจากนี้ยังห้ามมิให้ซื้อ-ขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีกลับมาเป็นทาสต่อไปอีก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพระราชบัญญัติเลิกทาสมีชื่อว่า พระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124 ในปี พ.ศ. 2448 มีใจความสำคัญว่า วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ให้บุคคลผู้เป็นลูกทาสในเรือนเบี้ยทุกคนเป็นไท ส่วนทาสประเภทอื่นทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ก็ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว
นับว่าการเลิกทาสเป็นผลสำเร็จ และเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย นอกจากนี้การเลิกทาสยังนำไปสู่การพัฒนามากมายหลายสิ่ง การผลิตเพื่อส่งออกก่อตัวขึ้นเนื่องจากมีแรงงานป้อนเข้าสู่ระบบ ทำให้ไทยสามารถเร่งปลูกข้าว จัดการค้าไม้ ทำเหมืองแร่ ส่งออกไปยังต่างประเทศ อีกทั้งยังทำให้เกิดการปรับปรุงภาษี เงินตราหมุนเวียนมากขึ้น จนเกิดธนาคารแห่งชาติขึ้นหลายแห่งอีกด้วย
ที่มา : สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
: จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย