10 ผักปลูกซ้ำได้ช่วยประหยัดในยุค 'โควิด-19' และวิธีเก็บให้สดนาน
ผักสดที่ซื้อมาใช้แล้วอย่าเพิ่งทิ้ง! เพราะเรามีเคล็ดลับการปลูกผักซ้ำจากเศษผักที่ซื้อมาทำกับข้าวกินช่วงกักตัว "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" พร้อมเผยเทคนิคเก็บผักอย่างไรไม่ให้เน่าคาตู้เย็น
การทำอาหารช่วงกักตัว "อยู่บ้าน" เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด และช่วยประหยัดค่าอาหารไปได้มากทีเดียว (ประหยัดกว่าการสั่งเดลิเวอรี่มากินทุกวันจริงๆ นะ) โดยผักบางชนิดเมื่อทำมาปรุงอาหารมักจะเหลือเศษบริเวณราก หัว โคน ที่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นขยะและทิ้งไป แต่เดี๋ยวก่อน! รู้หรือไม่? ผักเหล่านั้นสามารถนำมาปลูกให้งอกเป็นต้นผักต้นใหม่ได้ เพียงแต่ต้องรู้เทคนิคเล็กน้อย และทำได้ไม่ยากอย่างที่คิด
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ มีเคล็ดลับการปลูกผักซ้ำจากเศษผักที่เรากำลังจะทิ้ง และเทคนิคเก็บผักอย่างไรไม่ให้เน่าคาตู้เย็น มาบอกต่อคนที่ช่วยกัน "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" เพื่อลดการระบาดของ "โควิด-19"
- 10 ผักที่ปลูกซ้ำได้ พร้อมวิธีปลูก
1. ผักบุ้ง
ตัดตรงก้าน นับจากรากขึ้นมา 2 - 3 นิ้ว แช่น้ำไว้ 1 - 2 วัน พอรากใหม่งอกหรือแตกยอดใหม่ ก็นำลงปลูกในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ ได้รับประทานผักบุ้งซ้ำอีกครั้งแบบไม่มีวันหมด
2. ผักชีฝรั่ง
นำผักชีฝรั่งที่เหลือจากการปรุงอาหารมาตัดบริเวณโคนให้เหลือถึงรากความยาวประมาณ 3 นิ้ว นำมาแช่น้ำให้ท่วมราก ประมาณ 2 - 3 วัน เมื่อมองเห็นรากใหม่งอกขึ้นมาก็นำลงปลูกได้
3. หอมแดง
วางหอมแดงบริเวณที่มีรากลงในภาชนะที่ใส่น้ำไว้เล็กน้อย ไม่ต้องให้ท่วมหอมแดงทั้งหัว จนรากงอกใหม่และยาวขึ้น จากนั้นนำไปปลูกในดินร่วนซุย
4. สะระแหน่
เลือกก้านสะระแหน่ที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป จากนั้นเด็ดใบสะระแหน่ออกจากก้าน จนหมด นำก้านสะระแหน่ไปใช่น้ำประมาณครึ่งแก้ว เมื่อรากใหม่งอกก็นำไปปลูกได้เลย
5. ตะไคร้
แช่ก้านตะไคร้ลงในน้ำ เปลี่ยนน้ำประมาณวันละครั้ง จนเริ่มเห็นว่ามีรากงอกออกมา แล้วจึงนำไปปักลงดิน
6. ขึ้นฉ่าย
แช่รากขึ้นฉ่ายในน้ำ เปลี่ยนน้ำให้สะอาดเสมอประมาณ 2 วัน/ครั้ง เมื่อสังเกตเห็นรากเริ่มงอกซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จึงนำขึ้นฉ่ายไปปลูกลงดิน
7. แครอท
ใส่น้ำลงในภาชนะก้นแบนประมาณ 1 - 2 ซ.ม. หั่นแครอทเฉพาะส่วนหัวที่ติดก้าน จากนั้นนำมาวางไว้ในภาชนะรอจนแครอตแตกยอดใหม่ก็สามารถนำยอดไปประกอบอาหารได้ หรือหากต้องการรับประทานแบบหัวก็รอให้ใบแก่ ออกดอก กลายเป็นเมล็ด แล้วจึงนำเมล็ดไปปลูกลงดินอีกครั้ง
8. มันฝรั่ง
หั่นมันฝรั่งให้ท่อนที่ต้องการนำไปปลูกมีตาติดอยู่ 1 - 2 ตาวางมันฝรั่งทิ้งไว้ใน อุณหภูมิห้องประมาณ 3 วัน จากนั้นนำไปปลูกลงดิน
9. ต้นหอม
ตัดส่วนลำต้นที่ติดรากโดยให้มีความยาวประมาณ 2 - 3 นิ้ว จากนั้นนำไปแช่น้ำ ให้ท่วมราก วางทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องที่แสงส่องถึง เปลี่ยนน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ จากนั้นก็รอเด็ดใบไปปรุงอาหารได้เรื่อยๆ
10. กระเทียม
เติมน้ำเล็กน้อยลงในภาชนะก้นแบนลักษณะแค่มีน้ำพอประมาณสำหรับเพิ่มความชื้นให้กระเทียม วางกลีบกระเทียมลงไป ไม่นานนักต้นกระเทียมจะงอกยาวออกมา สามารถนำใบไปปรุงอาหารทั้งแกงจืด หรือเมนูผัดก็อร่อยทุกเมนู
- เทคนิคเก็บผักอย่างไรไม่ให้เน่าคาตู้
มาถึงวิธีการเก็บผักให้ยังคงสดได้นานๆ ในตู้เย็น ให้ทำตามวิธีดังนี้ หลังจากซื้อผักมาแล้วไม่ควรนำผักและผลไม้เข้าตู้เย็นทันที เนื่องจากผักและผลไม้มีสภาวะที่เหมาะสมในการเก็บรักษาที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น กล้วยชนิดต่างๆ ไม่เหมาะที่เก็บไว้ในตู้เย็น เพราะความเย็นจะเป็นตัวเร่งการสุก อุณหภูมิที่แตกต่างกันภายในตู้เย็นนั้นจะมีผลต่อผักและผลไม้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ ควรแยกประเภทของผักและผลไม้ต่างชนิดกันก่อนเก็บเข้าตู้เย็นจะดีกว่า ลองมาดูกันว่าสิ่งไหนที่ควรทำและไม่ควรทำบ้างในการเก็บผักในตู้เย็น
1. ผักที่ไม่ควรนำเข้าตู้เย็น
สำหรับผักและผลไม้ที่ไม่เหมาะสำหรับเข้าตู้เย็น แต่ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องปกติ ได้แก่ ผักจำพวกมะเขือเทศสีเขียว, ฟักทอง, มันเทศ, เผือก, มันเทศ, ขิง ส่วนผลไม้ ก็จะเป็นพวกกล้วย, มะละกอ, แอปเปิ้ล, เสาวรส, ส้มโอ
2. ผักที่ควรแช่ตู้เย็น
สำหรับผักและผลไม้ที่ควรนำมาแช่ในตู้เย็น โดยใช้อุณหภูมิในการเก็บรักษาประมาณ 15-25 องศาเซลเซียส ได้แก่ ผักจำพวกกะหล่ำปลี, ผักกาดขาว, ผักกาดหอม, ผักขม, ตั้งโอ๋ ส่วนผลไม้ คือ ฝรั่ง, แอปเปิ้ล, ลูกแพร์, สตรอเบอร์รี่, องุ่น, กีวี
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงได้นำเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อทำให้ผักสดสามารถเก็บได้นานขึ้น นอกจากนี้การปลูกผักซ้ำยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและเป็นกิจกรรมแก้เบื่อได้อีกด้วย ใครพร้อมปลูกผักแล้วก็ไปลุยกันเลย!