'ชีวิตใหม่' ใต้โควิด-19
เมื่อวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไปและมีการปลดล็อคดาวน์ "ชีวิตใหม่" ในโลกใบเดิมที่ไม่เหมือนเดิมจะเป็นอย่างไร? และชีวิตใหม่นี้จะยุ่งยาก ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่?
ใครที่คิดว่าหลัง 30 เม.ย. เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ลดลงเรื่อยๆ แล้วและหมดเวลาของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ให้ปิดร้านปิดสถานบริการ มีเคอร์ฟิว ฯลฯ และการแนะนำให้ “อยู่บ้านเพื่อช่วยชาติ” ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ดำรงชีวิตเช่นที่เคยเป็นกันมาถึงแม้จะมีคนจำนวนมากต้องหางานใหม่ ทนทุกข์กับภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ฯลฯ ท่านต้องปรับความคิดใหม่แล้วครับ เพราะเราจะมี “ชีวิตใหม่” กันที่ไม่เหมือนเดิม
ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่นับวันนับคืนว่าเมื่อไหร่จะถึง 1 พ.ค.ที่การ “กึ่งล็อคดาวน์” ของบ้านเราจะได้จบลง และทุกอย่างจะได้กลับมาเป็นปกติเหมือนเปิดปิดสวิตช์ คนที่คิดอย่างนี้จะพบความผิดหวัง หากภาครัฐไม่ชี้แจงให้เข้าใจชัดเจนก็อาจนำไปสู่ความไม่พอใจและวุ่นวายได้ การจัดการอารมณ์ของผู้คน “หลังโควิด” เป็นเรื่องที่พึงให้ความสนใจอย่างยิ่ง
ณ วันที่ 16 เม.ย. ที่เขียนบทความนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าการติดเชื้อโควิดชะลอตัวลงอย่างชัดเจน นับเป็นเวลาต่อเนื่องกัน 7 วัน (นับตั้งแต่ 9 เม.ย.) ที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันมีจำนวนไม่เกิน 54 ราย (วันที่ 15 เม.ย. มีรายใหม่เพียง 30 ราย) มีผู้เสียชีวิตรวม 45 คน จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมคือ 2,643 ราย
ในวันที่ 13 เม.ย. เกิดปรากฏการณ์สำคัญขึ้นคือเป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้กลับบ้านเท่ากับจำนวนผู้รักษาอยู่คือ 1,251 ราย และหลังจากนั้น 2 วัน จำนวนผู้กลับบ้านก็พุ่งทะยานมากกว่าจำนวนผู้รักษาอยู่ จนในวันที่ 15 เม.ย. มีผู้กลับบ้าน 1,497 ราย จำนวนผู้รักษาอยู่ 1,103 ราย ตัวเลขเช่นนี้มีความสำคัญเพราะแสดงว่ามีเตียงว่างสำหรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน กล่าวคือทั้งระบบการรักษาพยาบาลเรามีความสามารถในการรับมือผู้ติดเชื้อดีขึ้นกว่าเดิม (ถ้ามีผู้ติดเชื้อมากขึ้นทันทีและไม่มีเตียงว่างก็จะตายกันเป็นเบือเหมือนอิตาลี) สังคมมีความเสี่ยงน้อยลง
ข้อมูลด้านบวกเช่นนี้มิได้หมายความว่ามันจะพลิกผันกลับเป็นอีกทางไม่ได้ถ้าประชาชนเลิกการรักษาระยะห่างกับผู้คน (social distancing) และไม่ระแวดระวังการกระทำของตัวเองซึ่งมีผลเชื่อมต่อถึงสถานการณ์โดยรวมของสังคม และสะท้อนกลับมากระทบตนเอง สถานการณ์ที่กลับมาอาจเลวร้ายกว่าเก่าก็เป็นได้
ด้วยแนวคิดเช่นนี้ของวงการแพทย์โดยเฉพาะนักระบาดวิทยา(epidemiologist) ที่มีผลอย่างสำคัญต่อนโยบายของภาครัฐ การเปิด “กึ่งล็อคดาวน์” หลัง 30 เม.ย. ทั้งหมดจึงไม่มีทางเกิดขึ้นตราบที่ผู้นำประเทศเป็นคนปกติที่รับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง ไม่ทำอะไรตามอำเภอใจ จงใจให้ข้อมูลที่เป็นเท็จทุกวันเพื่อเอาคะแนนนิยม (สาบานว่าไม่ได้วิจารณ์ผู้นำประเทศยิ่งใหญ่ใดในพิภพนี้)
มีความจริงอยู่หลายประการที่สมควรกล่าวถึงเพื่อประกอบการทำใจภายใต้ “ชีวิตใหม่” (1) ทุกพื้นที่ในประเทศไทยมีจำนวนการติดเชื้อและความจำเป็นในการทำให้กลับมาเป็นปกติในเชิงปากท้องที่แตกต่างกัน กล่าวคือ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มี 32 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่เลย มี 40 จังหวัดที่พบผู้ป่วยใหม่ประปราย และมี 5 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อใหม่เสมอคือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต และสมุทรปราการ
(2) สาเหตุสำคัญของ 5 จังหวัดที่ติดเชื้อใหม่มาก มาจากสถานบันเทิงเถื่อน การจับกลุ่มเล่นการพนัน กินเหล้าสังสรรค์ การที่ผู้ติดเชื้อเดินทางกลับจากต่างประเทศและแพร่เชื้อให้คนใกล้ชิด และบริบททางสังคมของบางศาสนา การเดินทางข้ามประเทศและระหว่างเมืองคือ ปัจจัยสำคัญของการแพร่เชื้อ
(3) การ “กึ่งล็อคดาวน์” ทำให้มีลูกจ้างว่างงานหลายล้านคน ธุรกิจขนาดเล็กของคนระดับล่างซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอยที่มีความสำคัญต่อสังคมไทยถูกกระทบอย่างมาก อย่างสมควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
(4) การปลดการ “กึ่งล็อคดาวน์" อย่างทันทีทั้งหมดในทุกพื้นที่จะนำไปสู่การสูญเสียการควบคุมการระบาดที่พอมีอยู่และอาจทำลายความสำเร็จที่มีมาทั้งหมดลงได้ หลายประเทศจึงคิดไปในทำนองเดียวกัน สเปนอาจเป็นประเทศแรกที่จะทดลองปลดล็อคในบางเรื่องก่อนสิ้นเดือน เม.ย.
(5) ขณะนี้ยังไม่มียาใดที่รักษาโควิด-19 ได้โดยเฉพาะอย่างได้รับการรับรองเชิงวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นยาRemdesivir (กำลังมีการทดลองทางคลินิกที่มหาวิทยาลัยชิคาโก โลกกำลังจับตามอง ถ้าได้ผลFDAคงจะรับรองอย่างรวดเร็วและใช้กันกว้างขวาง) ยา Avigan และยา Favilavir (ยาเดียวกันแต่คนละชื่อ ชื่อแรกจีนใช้ ญี่ปุ่นเป็นคนคิดได้) ได้รับความนิยมในกลุ่มประเทศเอเชียแต่ยังมิได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ และยังมียาอื่นๆ อีกที่น่าสนใจ ปัจจุบันมักใช้ผสมกันในการรักษา
(6) ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่มีมากกว่า 9 ประเทศที่ประกาศว่าค้นพบวัคซีนจากหลากหลายวิธี ที่ก้าวหน้าที่สุดก็ยังอยู่ในขั้นทดลองกับสัตว์และคน แข่งขันกันอย่างมากเพราะจะเป็นตัวปราบที่ชะงัดที่สุดซึ่ง อย่างน้อยใช้เวลาอีก 1-2 ปี อย่าลืมว่าถึงลงตัวแล้วก็มิได้หมายความว่าทั้งโลกจะได้รับวัคซีนตัวนี้เพราะต้องมีการผลิตอย่างเป็นกอบเป็นกำ ลำดับความสำคัญของประเทศที่จะได้รับไปฉีดให้ประชาชนก็ลดหลั่นกันไป ไทยพยายามจะมีส่วนร่วมทั้งในการวิจัยและการทดลองขั้นคลินิคเพื่อจะได้รับวัคซีนในลำดับต้นๆ
จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้น (ผู้เขียนได้มาจากผู้อยู่วงในของการควบคุมการระบาดของไทยจากเอกสารต่างประเทศ และจากสื่อไทย) “โลกใหม่” หลัง 30 เมษายนจะมีหน้าตาดังต่อไปนี้
(1) น่าจะมีการ “ปลดล็อคดาวน์” ในธุรกิจต่างๆ ในพื้นที่ซึ่งมีบริบทแตกต่างกันโดยคำนึงถึงประเด็นสาธารณสุขและเรื่องปากท้อง และอย่างมีมาตรการกำกับชัดเจน เช่น เปิดร้านตัดผม เสริมสวย ร้านอาหาร ร้านนวด ร้านขายของอุปโภค การบริการเดินทาง ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าฯลฯ โดยมีมาตรการกำกับในแต่ละประเภท แต่ละขนาดอย่างเข้มข้นในตอนแรก และผ่อนปรนลงไปเป็นลำดับตามผลการติดเชื้อที่เกิดขึ้น เช่น ร้านอาหารต้องนั่งพร้อมกันได้กี่คน มีการคัดกรอง มีที่ ล้างมือ มีเจลแอลกอฮอร์พร้อม อีกทั้งมีการบังคับใช้กฎหมายเข้ม
(2) อย่าคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นอย่างกลับมาเป็นปกติ ทุกอย่างต้องใช้เวลา(อย่าลืมว่าเศรษฐกิจโลกจะยังไม่พื้นตัวและปีนี้คาดว่าอัตราการขยายตัวจะเป็นลบด้วย) และก็จะเป็น “ปกติใหม่” (new normal) ด้วยเช่น รูปแบบการขายต่างไป (ออนไลน์มากขึ้น) ทักษะแรงงานที่ตลาดต้องการเปลี่ยนไป ผู้คนเลือกอาหาารที่มีมาตรฐานมากขึ้น ไม่เข้าไปในร้านที่ดูอับและมีคนแออัด ใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ ฯลฯ
ในตอนแรกอาจรำคาญกับ “โลกใหม่” ที่ไม่อิสระเสรีเหมือนเก่า ไปไหนก็มีข้อจำกัด มีมาตรการควบคุม ไม่สามารถทำอะไรอย่างเมื่อก่อนได้ดังใจ ฯลฯ มันก็คงคล้ายกับการอยู่ร่วมกับโรคและความเสื่อมของสังขารเราด้วยความจำเป็นนั่นแหละ ถ้ายอมรับและทำใจได้ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข