'การไฟฟ้า' แนะ 10 วิธีประหยัดไฟในบ้านช่วง Work From Home
ชวนรู้วิธีประหยัดไฟส่งตรงจาก "การไฟฟ้า" ที่สามารถทำตามได้ง่ายๆ โดยเฉพาะช่วงที่หลายคนกักตัวอยู่บ้านและต้อง Work From Home เป็นหลัก
ช่วงนี้ได้ยินหลายคนบ่นกันเยอะว่า “ค่าไฟแพง” และพยายามเดากันไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่ามิเตอร์ไฟมีบางอย่างผิดปกติ บ้างก็ว่าการไฟฟ้าคิดค่าไฟแพงผิดปกติ แต่เดี๋ยวก่อน.. ที่คิดๆ กันไปนั้น ไม่เป็นความจริง!
โดยทางการไฟฟ้าก็ออกมายืนยันแล้วว่า สาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพงเป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ใช้ไฟฟ้าในหน้าร้อนในปริมาณมากกว่าปกติ อีกทั้งการ “คิดค่าไฟ” ก็เป็นการคิดในอัตราก้าวหน้า คือเพิ่มราคาขึ้นเป็นขั้นบันไดยิ่งใช้ไฟมากก็ยิ่งเสียค่าไฟแพงแบบก้าวกระโดด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทำไม 'ค่าไฟ' แพง? เปิดวิธีคำนวณพร้อมดูอัตรา ‘ค่าไฟฟ้า’ ในบ้าน
รู้ไหม! บิล 'ค่าไฟฟ้า' บอกอะไรเราบ้าง
'กฟภ.' แจ้งวิธีการจ่าย 'ค่าไฟฟ้า' เดือนเมษายน ต้องทำอย่างไรบ้าง
เอาเป็นว่าเมื่อรู้เหตุผลที่แท้จริงกันแล้วว่าทำไมค่าไฟแพง สิ่งที่ต้องรู้ต่อไปคือ แล้วทำยังไงถึงจะช่วยประหยัดค่าไฟในช่วงนี้ได้บ้าง ยิ่งหลายคนต้อง Work From Home ในช่วงอยู่บ้านป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งมีการใช้ไฟฟ้าในบ้านมากขึ้นกว่าเดิม งั้นลองมาดูวิธีประหยัดไฟฟ้าที่แนะนำโดย “การไฟฟ้า” กันหน่อยดีกว่า ว่ามีวิธีการไหนที่จะช่วยให้เราประหยัดค่าไฟได้บ้าง? มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
1. เปิดหน้าต่างรับลมและแสงธรรมชาติ
การทำงานอยู่ที่บ้านเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ เรื่องของแสงสว่างต้องเพียงพอ แต่จะให้เปิดไฟตลอดเวลาก็คงเปลืองไฟแย่ วิธีแรกที่ “การไฟฟ้า” แนะนำก็คือให้คุณเปิดม่านและเปิดหน้าต่างให้แสงสว่างและลมธรรมชาติผ่านเข้ามาในบ้าน ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการประหยัดพลังงานในช่วงที่มี การ Work from home ที่สำคัญการเปิดให้อากาศถ่ายเทยังจะช่วยลดความเสี่ยงของ COVID-19 ได้อีกด้วย
2. เลือกใช้หลอด LED สว่างแถมประหยัดไฟ
หลายคนคงรู้ว่าหลอดไฟแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นหลอดไส้หรือหลอดฟลูออเรสเซนต์ก็ตาม เมื่อนำมาใช้งานพบว่ากินไฟมากกว่าหลอด LED หากเทียบจากจำนวนหลอดที่เท่ากัน ดังนั้น หากเปลี่ยนมาใช้หลอด LED จะสามารถให้ความสว่างได้มากกว่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
3. ตั้ง Sleep Mod ในแล็ปท็อปเสมอ
การ Work from home คนส่วนใหญ่นิยมใช้แล็ปท็อป ซึ่งการทำงานบนแล็ปท็อปก็กินไฟพอสมควร แต่มีวิธีช่วยประหยัดไฟคือ ให้ตั้ง Sleep Mode เอาไว้เสมอ เมื่อไม่ได้ใช้หน้าจอก็จะปิดอัตโนมัติ อีกทั้งควรปรับแสงจอไม่สว่างเกินไป ก็ช่วยประหยัดไฟได้
4. ปิด Gadget ไร้สาย เมื่อไร้การเชื่อมต่อ
สำหรับอุปกรณ์แก็ดเจ็ดต่างๆ แบบไร้สาย เช่น ลำโพงไร้สาย ควรปิดทันทีเมื่อเลิกใช้ ไม่เสียบปลั๊กทิ้งไว้ จำขึ้นใจว่าเมื่อใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไร้สายต่างๆ แม้ว่าจะไม่มีการเชื่อมต่อก็ยังคงมีการทำงานอยู่ และใช้กระแสไฟฟ้าในการหล่อเลี้ยงระบบ ดังนั้นอุปกรณ์ไหนที่ไม่จำเป็น ก็ควรปิดเครื่องและถอดปลั๊กทันที เพื่อช่วยประหยัดไฟฟ้า หรืออย่างการใช้หูฟังก็ควรเลือกหูฟังแบบมีสาย เพราะใช้กระแสไฟฟ้าน้อยกว่าหูฟังไร้สาย เป็นต้น
5. เลือกมุมทำงานมุมเดียว และตั้งเวลาการใช้ไฟ
แม้จะทำงานที่บ้านแต่ก็ควรตั้งเวลาในการทำงาน เพื่อตั้งช่วงเวลาในการใช้ไฟฟ้าให้ชัดเจนให้เหมือนอยู่ที่ทำงาน เช่น เริ่มงาน 9.00 น. เริ่มใช้ไฟฟ้า เช่น เปิดแล็ปแท็ป เสียบปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องใช้ต่างๆ นานา เว้นเที่ยง และปิดตอน 17.00 น. โดยการกำหนดเวลาที่ชัดเจนจะทำให้ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัดไฟส่วนอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น ก็จะช่วยประหยัดไปได้อีกทาง
6. ดูแลตู้เย็นอย่างเหมาะสม อย่าเปิดตู้เย็นบ่อย
สำหรับวิธีการใช้งานตู้เย็นให้มีประสิทธิภาพและประหยัดไฟ ได้แก่ การตั้งตู้เย็นควรตั้งห่างจากผนังอย่างน้อย 15 ซม. เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรตั้งอยู่ใกล้แหล่งความร้อน เพราะความร้อนทำให้ตู้เย็นทำงานหนักมากขึ้น
ต่อมาคืออย่าเปิดตู้เย็นบ่อย เพราะเมื่อเราเปิดบ่อยตู้เย็นต้องทำงานเพิ่มขึ้นในการรักษาความเย็นทำให้กินไฟมากขึ้น อีกอย่างคือ ควรละลายน้ำแข็งสม่ำเสมอเพื่อให้ตู้เย็นทำความเย็นได้ดีโดยที่ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป และควรจัดระเบียบตู้เย็นทุกครั้งเมื่อมีของใหม่เข้ามาแช่ เพราะยิ่งมีของแน่นตู้เย็นจะยิ่งทำให้ความเย็นไหลเวียนไม่สะดวก และกินไฟมากขึ้นนั่นเอง
7. ตั้งเวลาปิดแอร์ก่อนเวลาตื่นนอน 30 นาที
อีกหนึ่งพฤติกรรมประหยัดไฟง่ายๆ คือ การปิดเครื่องปรับอากาศล่วงหน้าอย่างน้อย 30 นาที เพราะแม้ว่าเครื่องปรับอากาศจะหยุดทำงานไปแล้ว แต่ความเย็นจะยังคงวนเวียนอยู่ภายในห้อง ทำให้ห้องยังเย็นอยู่ ถ้าทำแบบนี้ทุกวัน รับรองว่าช่วยประหยัดค่าไฟได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญควรเปิดแอร์ที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 26 องศาฯ ถ้าอยากเย็นสบายกว่านั้นให้ใช้วิธีเปิดพัดลมช่วย ก็จะทำให้ประหยัดค่าไฟได้มากกว่าการเปิดแอร์ที่อุณหภูมิต่ำเกินพอดี
8. เลี่ยงการใช้ความร้อนขณะเปิดแอร์
ควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้ความร้อนในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ เช่น กระติกน้ำร้อน เตารีด เตาปิ้งย่างไฟฟ้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความร้อนในห้องเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักมากขึ้น และในทางตรงกันข้าม ถ้าเครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้น อุณภูมิในห้องเย็นขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่สร้างความร้อน ก็จะต้องใช้พลังงานมากขึ้นในการสร้างความร้อนเช่นกัน คือมีแต่เปลืองไฟและเปลืองไฟไปอีกเป็นเท่าตัว
9. ฝึกถอดปลั๊กไฟให้เป็นนิสัย
หลายคนอาจคิดว่าแค่ปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลังใช้งานก็เพียงพอแล้ว แต่ความเป็นจริง แม้ว่าเราจะปิดสวิตช์หลังใช้งานไปแล้ว แต่ก็ยังมีกระแสไฟฟ้าไหลเวียนเพื่อให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา ดังนั้นเราควรปิดสวิตช์และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน นอกจากจะประหยัดไฟแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในบ้านได้อีกด้วย
10. รีดผ้ารวมกันครั้งละมากๆ
การซักผ้าและรีดผ้าแต่ละครั้งใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก ดังนั้นการซักและรีดผ้ารวมกันครั้งละมากๆ จึงช่วยให้ประหยัดไฟได้มากกว่าการซักรีดครั้งละน้อยๆ เนื่องจากไม่ต้องเปิดใช้เครื่องซักผ้าและเตารีดบ่อยๆ การใช้พลังงานก็จะลดน้อยลง ค่าไฟก็จะถูกลงตามไปด้วย
------------------------
อ้างอิง :