จัดระเบียบประเทศอย่างไร? ให้ไทยรอด 'มหาวิกฤติโควิด'
ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยต้อง lock-up ตัวเอง เพื่อปกป้องประเทศไม่ให้เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจและสังคม จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า และปรับใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยเพื่อบริหารมาตรการทางสังคม รวมถึงการจัดระเบียบประเทศให้เหมาะสมก่อนที่จะสายเกินแก้
มหาวิกฤติโควิดที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุขที่ยิ่งใหญ่ในรอบศตวรรษเท่านั้น ยังจะก่อให้เกิดมหาวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี นับจาก The great depression
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นเพียงสัญญาณเริ่มต้นของมหาวิกฤติที่กำลังจะมาถึง รัฐบาลไทยต้องจัดระเบียบประเทศเพื่อรับมือจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลก ด้วยการยกระดับการบริหารประเทศและบทบาททางการเมืองของไทยและ ASEAN(+6) ในการร่วมกันจัดระเบียบโลกใหม่ ซึ่งจะทำให้กลุ่มประเทศใน ASEAN(+6) และไทยสามารถรอดอภิมหาวิกฤตินี้ได้
เราอาจเปรียบประเทศไทยเป็นบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านโลก (global village) ซึ่งมีบ้าน (ผู้) ใหญ่ (บ้าน) หลายหลังที่กำลังเกิดวิกฤติอย่างหนัก ทั้งด้านอาหาร เวชภัณฑ์ รวมทั้งการหาเงินใช้หมุนเวียนภายในบ้าน นั่นอาจทำให้เกิดการเรียกร้อง หรือแม้แต่การปล้นสะดมอย่างแนบเนียนจากกลุ่มบ้าน (ประเทศ) ต่างๆ ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้อง lock-up ประเทศ เพื่อปกป้องประเทศไม่ให้เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจและสังคม (Domino effects) ตามประเทศเหล่านั้นไปด้วย
ดังที่จะเห็นได้จากประเทศเยอรมนี ออกมากล่าวหาว่าสหรัฐออกมาปล้นหน้ากากจากไทย ประเทศตุรกีก็ออกมาปล้นเครื่องช่วยหายใจของสเปน ด้านการเงินสหรัฐประกาศพิมพ์เงินดอลลาร์ (ที่ไม่มีมาตรฐานทองคำรองรับ) อย่างไม่จำกัดเพดานวงเงิน (QE infinity) กลุ่ม EU พิมพ์เงินยูโรมากกว่าปีที่แล้วถึง 6 เท่า (1.2 แสนล้านยูโรต่อเดือน) แสดงถึงความต้องการใช้เงินสดอย่างมากมายมหาศาลให้ภาคส่วนต่างๆ กู้ยืมเพื่อค้ำยันระบบเศรษฐกิจ
แต่การที่มีแต่รายจ่ายและหนี้สินเพิ่มพูนต่อเนื่องระหว่างการรอวัคซีนเช่นนี้ ทำให้มีแนวโน้มสูงที่นักลงทุนต่างชาติจะรุมเทขายหุ้นและพันธบัตรไทยจำนวนมากมหาศาลในอนาคตอันใกล้ รวมถึงการเทขายเงินบาท เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในประเทศ ทำลายทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดเงินไทยพร้อมกัน ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนขาดแคลนกระแสเงินสดในการพยุงธุรกิจและประเทศชาติ
คณะรัฐบาลควรจัดระเบียบประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ (ทั้งภาคการเงินและภาคผลิต) การเมือง (ทั้งภายในประเทศและใน ASEAN+6) และปรับใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยเพื่อบริหารมาตรการทางสังคม โดยแนวทางที่แนะนำคือ
1.จำกัดเพดานวงเงินในการถ่ายโอนเงินระหว่างประเทศ และการขายพันธบัตรในประเทศ รวมทั้งกำหนดค่าระดับดัชนีในการปิดตลาดหุ้น เช่น 700-900 จุด (อันจะทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างชาติที่มีเงินเย็นกลับเข้าซื้อ) และพัฒนาการใช้ digital baht แยกรหัสตามวัตถุประสงค์
เช่น ใช้ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบค่าเงินบาทโดยตรง และควรริเริ่มให้สมาชิกในกลุ่ม ASEAN+6 มีฉันทานุมัติในการนี้ เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจของเจ้าของทุนที่จะทำการเคลื่อนย้ายเงินตราออกนอกประเทศ เพื่อยุติการคิดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากทั้งระบบ อีกทั้งควบคุมการเบิกถอนจ่ายเงินภายในประเทศให้เป็นไปเท่าที่จำเป็น ในแง่ของการใช้จ่ายในชีวิตและการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น
2.ทำการ lock-up ทางเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้ platform ทางเทคโนโลยีร่วมสมัย เช่น ใช้ในการติดตามตัวเพื่อสนับสนุนการเปิดเมืองเพื่อดำเนินธุรกิจส่วนสำคัญ และทำ social distancing อย่างสมดุลและใช้ในการสนับสนุนในการแจกจ่าย digital baht เช่นที่แยกรหัสเป็น e-food coupon (ที่มี daily expirydate) ไปยังประชาชนตามหัวเมืองที่ขาดแคลนได้อย่างทั่วถึงและทันเวลา ส่วนต่างจังหวัดให้แจกคูปองตามวัตถุประสงค์ เช่นใช้แลกอาหาร แลกเครื่องประกอบอาชีพทางการเกษตร ปศุสัตว์และเวชภัณฑ์ได้ ผ่านผู้ใหญ่บ้านและ อสม. เป็นต้น
รัฐบาลต้องเข้าควบคุมโครงสร้างต้นทุนและโครงสร้างราคาของอาหารสินค้า เช่น ยาปุ๋ย เครื่องมือในอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีความชอบธรรม (เช่น ข้าวเปลือกออกจากนาเกษตรกรควรได้ราคาเท่าใด โรงสีข้าวควรได้ค่าสีและกำไรเท่าใด ยี่ปั๊วซาปั๊วได้เท่าใด ข้าวสารถึงมือผู้บริโภคราคาเท่าไร เป็นต้น) เพราะรัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายผ่านการออกพันธบัตรและชำระเป็นเงินสดบางส่วนเพื่อให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ใน supply chains ทางด้านอาหารและอุตสาหกรรมการเกษตรระดับประเทศดำเนินการต่อไปได้
3.รัฐบาลควรตั้งศูนย์บริหารจัดการเศรษฐกิจและสังคมฉุกเฉินแห่งประเทศไทย (ศบศ.) ด้วยความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง และเชื่อมโยง ศบศ.กับกลุ่มห้องประชุม/สัมมนาทาง social media เฉพาะทาง ตามวาระจำเป็นเร่งด่วนและตามวาระการวิจัยแห่งชาติที่สภาวิจัยแห่งชาติกำหนดไว้แล้ว เสมือนศูนย์รวมสมองของประเทศ
โดยให้คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนและหน่วยงาน รัฐบาลท้องถิ่น หัวหน้าชุมชน (กรณีเป็นวาระในท้องที่) ร่วมกันคัดเลือกสมาชิกหลักในแต่ละห้อง เพื่อร่วมรับรู้ปัญหาในการบริหารประเทศและแสวงหาคำตอบที่เหมาะสมดีที่สุดร่วมกับ ศบศ. อันเป็นการผันสมองก่อนผันงาน-ผันเงินในการพัฒนาประเทศ
การจัดระเบียบประเทศไทยครั้งนี้ หากเปรียบประเทศไทยเป็นคน ก็คือการจัดสภาพร่างกายให้พร้อมเข้าสู่ภาวะ “จำศีล” โดยคณะรัฐบาลต้องจัดเงื่อนไขสภาพแวดล้อม (ทางการเมือง) ให้มั่นคงปลอดภัย โดยการสร้างการร่วมมือให้มีสัตยาบันร่วมกันในกลุ่ม ASEAN+6 และจัดระเบียบขั้นตอนและโครงสร้างภายในทั้งทางเศรษฐกิจสังคมและการบริหารจัดการบ้านเมืองโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อใช้งบประมาณทรัพยากรและทุนทางสังคมที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
วิกฤตการณ์ทางสาธารณสุข เศรษฐกิจ และการเมืองของโลก กำลังรวมตัวส่งผลคุกคามประเทศไทยมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงต้องจัดระเบียบประเทศให้เหมาะสมทันท่วงที เพื่อความอยู่รอดทั้งของประเทศชาติประชาชนและของรัฐบาลก่อนที่จะสายเกินแก้