‘กินใจ’ บทบาทของ ‘ภาพถ่าย’ ในช่วงเวลาวิกฤติ
‘กินใจ’ เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวดีๆที่ทำให้เราได้ ‘อิ่มใจ’ ในยามที่บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เมื่อกลุ่มช่างภาพจากโรงเรียนสังเคราะห์แสงที่ใช้เวลาในช่วงที่ว่างงานยาวๆ มารับอาสาถ่ายรูปอาหารให้กับเจ้าของกิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยไม่คิดมูลค่า
โควิดและน้ำพริกสะตอ
แบงค์-ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช 1 ใน 4 ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสังเคราะห์แสง เจ้าของสโลแกน A hub where photography grows and matters. กล่าวถึงต้นเหตุของโปรเจคกินใจว่าเกิดจากการมาของโควิดและน้ำพริกสะตอกระปุกนั้นแท้ๆเชียว
“โควิดนำมาซึ่งความว่างเปล่า ผมเป็นคนแรกที่ตกงานเพราะว่างานถ่ายโฆษณายกเลิก งานสอนที่โรงเรียนสังเคาระห์แสงก็ต้องหยุดหมด ผมเลยไปที่ร้านแกงเลอรี่ ซึ่งผมมีหุ้นอยู่ปรากฏว่าร้านเปิดได้ไม่กี่วันก็ต้องมาปรับมาขายแบบเดลิเวอรี่
ในเมื่อร้านเปิดให้ลูกค้านั่งรับประทานไม่ได้ ผมเลยใช้พื้นที่เป็นสตูดิโอถ่ายภาพอาหารสำหรับขายออนไลน์ จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อพี่ที่สนิทแวะมาหาเห็นเราถ่ายรูปอยู่แล้วเลียบๆเคียงๆว่าให้ช่วยถ่ายรูปน้ำพริกสะตอให้หน่อย จะโพสต์ขายออนไลน์
ผมจำได้ว่าว่าเคยกินแล้วมันอร่อย งั้นพี่เอาน้ำพริกมาเลย ผมจัดใส่ถ้วยแล้วนำผักมาเรียงสักหน่อย ถ่ายแป๊บเดียวเสร็จส่งให้เขาดูทางไลน์ พี่เขาบอกว่าแค่นี้แหละที่ต้องการสำหรับการขายของออนไลน์”
ด้วยคำตอบนี้ ทำให้แบงค์ หยิบโทรศัพท์วิดีโอคอลล์ถึงสมาชิกอีก 3 คน ได้แก่ โต้-วิรุนันท์ ชิตเดชะ ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ และ เอ็กซ์-อาวุธ ชินนภาแสน เพื่อนำเสนอโปรเจค ‘กินใจ’ ซึ่งไม่มีใครค้านเลยแม้แต่คนเดียว
กินใจ #1 #2
กินใจ #1 ประกาศถ่ายรูปอาหารโฮมเมดเพื่อสนับสนุนธุรกิจอาหารที่ขาดแคลนรูปโปรโมทจำนวน 20 ร้าน ถ่ายให้ฟรีร้านละ 2 เมนู ผ่านทางเฟสบุ๊ค : โรงเรียนสังเคราะห์แสง ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงก็มีผู้แจ้งความประสงค์มาเต็มจำนวน
แบงค์ บอกว่า “งานนี้บอกได้เลยว่าไม่ใช่งานถนัดของทุกคน เราทำงานโดยการแบ่งออกเป็น 2 ทีม ผมจับคู่กับพี่ตุลย์ ทำงานที่ร้านแกงเลอรี่อาหารประเภทที่ต้องปรุงให้ร้อนส่งมาให้เรา เช่น ทอดมันส่งมาแบบสดๆบอกขนาดเดี๋ยวเราให้แม่ครัวปั้นแล้วทอดให้ บางคนส่งขาหมูเยอรมันมาแม่ครัวก็จะช่วยทำให้มันน่ารับประทานขึ้นได้ ส่วนเบเกอรี่ หรือ อาหารแห้งเราส่งให้อาจารย์โต้กับอาจารย์เอ็กซ์ รับไป
วันแรกๆเราทำงานแบบไฟโคมโฟมแผ่น คือ นำสิ่งของรอบตัวมาใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุด วันต่อมาเพื่อนที่เป็นโปรดิวเซอร์มาช่วยเป็น Food stylist ให้เพราะว่าว่างอยู่ มี passion ตกงานเหมือนกัน เขาบอกว่าสะสมของเครื่องครัวไว้มาก จาน ชาม ของกระจุกกระจิก ได้ใช้งานนี้แหล่ะขนมาเป็นลัง ก็ช่วยให้การทำงานได้สวยงามและสนุกมากขึ้น”
ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ทำงานในครั้งนี้ว่า “ในมุมของพวกผมคือเราทำสุดความสามารถในทักษะที่เรามี อย่างน้อยที่สุดในช่วงเวลาที่เลวร้ายมันก็มีสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นร่วมกัน ให้การโดยไม่มีเหตุผลโดยที่เราไม่รู้จักเขา เขาไม่รู้จักเรา แต่เขาอยากทำอาหารที่ดีที่สุด ที่ทำให้อร่อย รู้ว่าเราถ่ายให้ฟรีเขาก็เตรียมอาหารมาให้เพื่อถ่ายหนึ่งชุด อีกหนึ่งชุดบอกว่าไม่เกี่ยวกับถ่ายนะ แต่อยากให้ทีมงานกิน
ผมเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งคือ โปรเจคกินใจทำให้เราอิ่มใจ คือมันอิ่มใจ หลังจากที่ทำงานไปและเจอฟีดแบ็คกลับมาว่า พอได้โพสต์รูปออกไปแล้วออเดอร์ก็มาทันที เราอ่านแล้วเรารู้สึกชื่นใจจัง”
จากกินใจ #1 มาถึงกินใจ #2 คราวนี้ช่างภาพทั้ง 4 ได้ชักชวนพันธมิตรมาร่วมโครงการกินใจ ถ่ายภาพให้ผู้ประกอบการ 50 รายๆละ 2 เมนูเช่นเคย โดยได้รับความสนใจหลังประกาศในโซเชี่ยลมีเดียครบจำนวนในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง
“มีทั้งลูกศิษย์ พรรคพวกที่อยู่ในวงการถ่ายภาพและนอกวงการถ่ายภาพ มาช่วยกันทำงาน พอเราทำไปสักพักหนึ่งแล้วเราพบว่าในมุมที่เราถ่ายรูปให้ฟรีอาจจะกระทบต่อเพื่อนร่วมวิชาที่ของเราเหมือนกัน
ทำให้เราลำบากใจ เรามาตกความคิดตะกอนอีกครั้งแล้วคิดว่าวิธีนี้มันไม่ยั่งยืน” แบงค์ กล่าวถึงเหตุผลที่เขาต้องขอเวลาสำหรับหยุดคิด
จะยั่งยืนกว่ามั้ยถ้าทุกคนยืนได้ด้วยตัวเอง
เมื่อความคิดตกตะกอน แบงก์กล่าวว่า “ต้องกลับมาที่หลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ เราต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้วก็ต้องอยู่ได้อย่างยั่งยืน สามารถจัดการทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง
“เราพบว่า กินใจทำให้คนเห็นความสำคัญของการถ่ายภาพอาหารในโลกออนไลน์และมันจะดีมากถ้าคุณสามารถทำได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเพอร์เฟค 100% แบบที่ช่างภาพอาชีพทำ แต่ถ้าทำได้ในระดับหนึ่งคุณจะอยู่รอดได้ในแน่ๆ
ดังนั้นใน กินใจ #3 เราจะถอยกลับมาที่โรงเรียน ทำในสิ่งที่เราถนัดคือการให้ความรู้ โดยจะทำหลักสูตร คำแนะนำ สำหรับการถ่ายแบบแบบง่ายๆ สื่อออกไปผ่านคลิปวิดีโอในเฟสบุ๊คของสังเคราะห์แสง” แบงค์เล่าถึงโปรเจคกินใจ #3
ในขณะที่ตุลย์ เสริมว่า “เริ่มต้นกันด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ เช่น โทรศัพทมือถือ ถ่ายกันแบบไม่ต้องเวิ่นเว้อ เพอร์เฟ็ค เราช่วยเป็นไกด์ไลน์ง่ายๆ บ้านๆ สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นที่ไม่รู้จะทำยังไง พอเอาตัวรอดได้ ในสภาวการณ์แบบนี้”
มือใหม่หัดถ่ายต้องทำยังไง
กฎข้อแรกของภาพถ่ายอาหาร คือ ต้องน่ากิน
อาจารย์ตุลย์ ขยายความคำว่า “น่ากิน” ต่อว่า “ต้องหยิบแง่มุมในการนำเสนอ เช่น ถ่ายใกล้กว่าปกติเพื่อให้รู้สึกเหมือนอยู่ใกล้อาหาร เหมือนกำลังจะตักอาหารใส่ปากแล้ว ง่ายๆคือใช้โทรศัพท์มือถือจ่อเข้าไปใกล้ๆเพื่อให้เห็นรายละเอียดของอาหารเลย”
ส่วนสิ่งที่จะช่วยเสริมให้เกิดความน่ากินก็คือ “แสง” วิธีหาแสงที่เหมาะกับการถ่ายรูปสำหรับมือใหม่ อาจารย์แบงค์แนะนำให้ไปที่หน้าต่าง
“สภาพแสงค่อนข้างดีนั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นแถวหน้าต่าง ควรจะเป็นเวลาไหนได้หมด สังเกตเอาว่าแดดเช้าส่องมาโดนอาหารแล้วสวยก็ใช้ได้ ถ้าเป็นแสงตอนบ่าย หรือตอนเย็น น่าจะเหมาะกับอาหารที่มีความเผ็ดร้อน การถ่ายภาพอาหารโดยใช้แสงธรรมชาติจะทำให้น่ากินมากกว่าถ่ายโดยใช้แสงไฟภายในบ้าน”
เมื่อหาแสงเจอแล้ว ก็ต้องหาจุดเด่นของอาหารให้เจอ
อาจารย์ตุลย์ ยกตัวอย่าง การถ่ายรูปน้ำพริกให้น่ากินว่า หลังจากที่เราตัดสินใจใช้แสงจากหน้าต่างแล้ว เราต้องมาดูว่าน้ำพริกนั้นมีส่วนประกอบที่สำคัญคืออะไร ถ้ามีความเผ็ดร้อนควรเลือกถ่ายในสภาพแสงที่ดูร้อนแรง เพื่อสื่อให้เห็นว่าน้ำพริกนั้นมีรสจัด ขณะเดียวกันก็ดูว่าควรมีผักสำหรับรับประทานเคียงกันหรือไม่
“อาศัยแสงจากหน้าต่าง แล้วดูสีของอาหาร โต๊ะที่วางสวยมั้ย ถ้าไม่สวยปูผ้าเลือกเอาชนิดที่ไม่ไปแย่งซีนกับถ้วยน้ำพริก อย่าลืมระยะในการถ่ายถ้าอยู่ใกล้จะเห็นรายละเอียดของอาหาร ทำให้น่ารับประทานมากขึ้น
คนดูก็อยากรู้ว่ามันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แสงดี มุมดีแล้ว เวลาถ่ายควรจะมีภาพหลายๆขนาดภาพมุมกว้าง มุมแคบ ลองให้เห็นมือหยิบ ใช้ช้อนตัก สุดท้ายค่อยมาเลือกว่าจะเอาแบบไหนว่าภาพไหนจะช่วยให้ส่งเสริมการขายได้ดีที่สุด”
กูรูจากโรงเรียนสังเคราะห์แสง ย้ำว่าการถ่ายรูปไม่ใช่เรื่องยาก ขอให้สนุกและมีความสุขในการถ่ายภาพ
“เราอยากให้คุณเป็นตัวของตัวเองมีแนวทางในการถ่ายภาพที่ชัดเจน ต่อยอดผลงานได้”
พบกับกินใจ #3 โปรเจคถ่ายภาพที่สอนให้เรายืนได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนได้ทางเฟสบุ๊ค : โรงเรียนสังเคราะห์แสง