เปิดแล้ว! 'อุทยานหลวงราชพฤกษ์' เที่ยวชมดอกไม้สไตล์ New Normal

เปิดแล้ว! 'อุทยานหลวงราชพฤกษ์' เที่ยวชมดอกไม้สไตล์ New Normal

"อุทยานหลวงราชพฤกษ์" กลับมาต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในวันพุธที่ 3 มิถุนายน 2563 เป็นวันแรก! หลังจากปิดบริการไปนาน เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น. พร้อมปรับวิธีการเที่ยวชมรูปแบบใหม่สไตล์ New Normal

การเว้นระยะห่างทางสังคมตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาด "COVID-19" ทำให้ผู้คนต้องอุดอู้อยู่บ้านตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา การได้ออกนอกบ้าน(สักที!) ไปท่องเที่ยวพักผ่อนตาม "ที่เที่ยว" ต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ขาเที่ยวตั้งหน้าตั้งตารอ แล้วในที่สุดทางการก็ออกมาตรการผ่อนคลายระยะ 3 ที่เริ่มมีผลวันนี้ (1 มิ.ย.) ส่งผลให้คนไทยออกไปท่องเที่ยวได้แล้ว! น่าจะดีไม่น้อยหากได้ปักหมุดเที่ยวท่ามกลางธรรมชาติป่าเขาเขียวขจีและดอกไม้สวย 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ขอแนะนำหนึ่งใน "ที่เที่ยวเชียงใหม่" ที่เต็มไปด้วยพืชพรรณเขียวขจีและดอกไม้งามอย่าง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ที่กลับมาเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เป็นวันแรก! ในวันที่ 3 มิถุนายน 2563 โดย "อุทยานหลวงราชพฤกษ์" มีภาพจำจากมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 และ มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 หรือที่เรียกติดปากว่า "งานพืชสวนโลก"

159109988098

  • ความเป็นมาของ "อุทยานหลวงราชพฤกษ์"

แต่เดิม อุทยานหลวงราชพฤกษ์ มีชื่อว่า สวนหลวงราชพฤกษ์ เป็นสวนป่ามีพื้นที่ขนาดใหญ่มากถึง 468 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จากความสำเร็จของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ที่ได้รับการตอบรับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างดี คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงมาพัฒนาสวนหลวงราชพฤกษ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้พืชสวนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรและวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทย 

สำหรับการตั้งชื่ออุทยานหลวงราชพฤกษ์นั้น หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้มีลายพระหัตถ์ที่ . 01/358 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2552 ขอพระราชทานชื่อสวนซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ว่าสวนหลวงราชพฤกษ์

ต่อมาท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนดังกล่าวว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2553 และได้รับพระราชทานชื่อภาษาอังกฤษว่า “Royal Park Rajapruek” ตั้งแต่นั้นมา อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ก็ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวในการชมพรรณไม้ ดอกไม้ และแหล่งศึกษาด้านพืชศาสตร์สำคัญของประเทศไทย 

159109997672

  • วิธีชม "อุทยานหลวงราชพฤกษ์" สไตล์ New Nomal 

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ "อุทยานหลวงราชพฤกษ์" ต้องปิดบริการชั่วคราวเพื่อลดการติดเชื้อในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ปัจจุบันในเดือนมิถุนายน 2563 ประเทศไทยมีการ "ผ่อนคลายล็อคดาวน์" ลงจากเดิม เนื่องจากสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อมีตัวเลขน้อยลง อุทยานหลวงราชพฤกษ์จึงกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันพุธที่ 3 มิถุนายน 2563 พร้อมทั้งมาตรการการชมอุทยานแบบ New Normal นั่นคือ 

- มีเส้นทางเดินรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ ที่จะเปลี่ยนมุมมองใหม่ในการชมสวน 

- รถโดยสารชมวิว 1 คัน นั่งได้ไม่เกิน 10 ท่าน ตามมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย

- ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวทุกท่านสวมหน้ากากอนามัยก่อนและหลังบริการ

- มีบริการจุดล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลฟรีทุกจุดบริการและบนรถโดยสารชมวิว

- มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการตรวจเช็คความหนาแน่นของแต่ละจุดเที่ยวชม พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยให้กับทุกท่าน

- ถ้าจะเข้าชมเป็นหมู่คณะ จำนวนเกิน 10 คน ต้องแจ้งล่วงหน้า!

  • จุดเด่นของอุทยานฯ 

อุทยานหลวงราชพฤกษ์มีพื้นที่มากถึง 468 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา แบ่งเป็น

- สวนไทย -

สวนไทยเป็นพื้นที่จัดแสดงพืชสวนเขตร้อนชื้น ที่มีหลากหลายของพันธุ์พืช เทคโนโลยีการผลิต และการแปรรูป ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1,900 ชนิด รวมแล้วมากกว่า 3.2 ล้านตัน ประกอบด้วยไม้ในกลุ่มต่าง คือ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ดอกไม้ประดับ โดยเฉพาะกล้วยไม้ สมุนไพร พืชผักและเห็ด พันธุ์ไม้หายาก และสวนอื่น เช่น สวนไม้หอม สวนไม้ในวรรณคดี สวนไม้ประจำจังหวัด อาคารเรือนร่มไม้ ฯลฯ

159110000751

นอกจากนี้ ยังจัดแสดงพันธุ์พืชต่าง ภายในกลุ่มอาคารเรือนกระจก ได้แก่ อาคารพืชทะเลทราย อาคารไบโอเทคโนโลยี อาคารพืชเขตร้อน อาคารพืชเขตหนาว และอาคารพืชไร้ดิน รวมทั้งยังมีหมู่บ้านสี่ภาค ที่จัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นไทย และการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามภูมิภาคนั้น

159109999466

- สวนนานาชาติ - 

สวนนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ เป็นพื้นที่จัดแสดงของมิตรประเทศที่มาร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์สมบัติครบ 60 ปี ในปี .. 2549 โดยมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมจัดสวนทั้งหมด 24 ประเทศ

159110003734

- สวนองค์กร -

สวนองค์กรเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นส่วนแสดงการจัดสวนเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยองค์กรระดับแนวหน้าของไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ ร่วมจัดแสดงสวนซึ่งแต่ละสวนมีรูปแบบการนำเสนอแนวพระราชดำริที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร และการพัฒนาในด้านต่างๆ รวมทั้ง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ทฤษฏีการจัดการน้ำ ดิน ป่าไม้ เกษตรทฤษฏีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง และพืชพลังงาน มีองค์กรจากภาครัฐและเอกชนร่วมจัดสวน

159110005328

  • จุดเด่นสำคัญที่ห้ามพลาด "หอคำหลวง" 

หอคำหลวงเป็นส่วนแสดงสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในงาน เป็นพื้นที่จัดแสดงส่วนกลางที่โดดเด่นและสง่างามที่สุด เพื่อจัดแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาล 9

159110006569

หอคำหลวง สถาปัตยกรรมล้านนาที่สง่างาม เป็นอาคารครึ่งไม้ครึ่งตึก 2 ชั้น สีน้ำตาลแดง ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าบนเนินดิน พื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร สองข้างทางเดินสู่หอคำหลวงเต็มไปด้วยสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์ ส่งให้หอคำหลวง เป็นพื้นที่จัดแสดงส่วนกลางที่โดดเด่นและสง่างามที่สุดอีกทั้งตระการตากับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ประดับตกแต่งในบริเวณเสาซุ้ม ซึ่งออกแบบได้สวยงามตามอย่างสถาปัตยกรรมล้านนาแท้ๆ จำนวนมากถึง 30 ซุ้ม

หอคำหลวง ผ่านกระบวนการคิดการออกแบบ จากช่างสิบหมู่พื้นบ้านล้านนานับสิบคน ถ่ายทอดผลงานอภิมหาสถาปัตยกรรมล้านนา ให้งามสง่าท่ามกลางงาน มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 และหนึ่งในทีมงานสร้างครั้งนี้มี คุณรุ่ง จันตาบุญ หรือ ช่างรุ่ง สล่าล้านนา ผู้ชำนาญการด้านสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นล้านนา นอกจากการนั่งรถไฟฟ้าชมพรรณไม้ และสวนดอกไม้แล้ว ทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ยังมีบริการเช่าจักรยานปั่นชมดอกไม้อีกด้วย

เอาเป็นว่าถ้าใครที่กำลังมองหา "ที่เที่ยว" สำหรับผ่อนคลายหลังจากปลดล็อคดาวน์สถานการณ์โควิด-19 หรือสถานที่พักผ่อนวันหยุดเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชีนี 3 มิ. นี้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน