ปักผ้า...ประดับใจ จากบ้านปักผ้า มุมานะ สตูดิโอ
ผ้าที่ขึงจนเรียบตึงตรงหน้า ลายดอกไม้อ่อนหวาน ก้านใบที่ดูจะพลิ้วไหวต้องสายลม ไหนจะประกายวิบวับจากเลื่อมพรายลูกปัดอีก... สีสันและลวดลายนี่เองที่เป็นเสน่ห์ดึงใจ...และดูทรงคุณค่าด้วยเป็นงานแฮนด์เมด และฮาร์ทเมด
ที่ บ้านปักผ้า MUMANa Artisan (มุมานะ อาร์ติซอง) โดยผู้ก่อตั้ง คุณต้ำ - ประยุทธ ศิริกุล เปิดสตูดิโอสอนปักผ้า งานฝีมือละเมียดที่ต้องใส่ใจ ลงมือ ลงเวลา เพื่อให้ได้ผลงานประณีตศิลป์ ทั้งผลงานผ้าปักชิ้นเล็ก ๆ จนถึงงานปักประดับเสื้อผ้าสำหรับห้องเสื้อต่าง ๆ ผู้สอนปักผ้า บอกเล่าว่า
“ก่อนหน้านี้ทำงานกับแกรมมี่ อยู่ฝ่ายคอนเสิร์ต จัดอีเว้นท์ เริ่มจากเป็นโค-โปรดิวซ์แล้วเป็นครีเอทีฟ ไดเร็คเตอร์ ทำอยู่ 8-9 ปี จนออกมาทำกับรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง เป็นงานคล้าย ๆ กัน ผมชอบทำงานอยู่เบื้องหลังมากกว่า”
ด้วยพื้นฐานการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิชาเอกศิลปะการแสดง สาขาบัลเล่ต์ แม้ไปทำงานสายบันเทิงแต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีงานอดิเรกด้านเย็บปักถักร้อย มักพกเข็ม ด้าย และสะดึง ติดตัว พอว่างก็นั่งปัก...
“ผมก็เหมือนคนทำงานออฟฟิศที่มีงานอดิเรกอีกอย่างหนึ่ง เพราะงานออฟฟิศหนักมาก แข่งขันสูง งานอีเว้นท์นอนตีสามตีสี่ ต้องตื่นแต่เช้ามาเข้าไซต์งาน การทำงานอดิเรกของผมจึงเป็นการผ่อนคลาย ผมก็เริ่มทำงานเก็บมาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายมีคนรู้จักเอางานไปจัดแสดง
และเคยฝึกงานกับ อ.จักรพันธ์ โปษยกฤต เริ่มงานปักจริงจังจากที่นั่นก่อน ตอนนั้นอาจารย์ทำหุ่นกระบอก ผมก็เริ่มทำงานชิ้นเล็ก ๆ เป็นวัสดุที่เล็กมาก พอรู้วิธีก็เริ่มศึกษา ดูงานอื่น ๆ ที่ทำให้วิธีการทำงานของเราสามารถสร้างรูปทรงใหม่ ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นลายไทย แต่งานที่ผมทำงานปักเป็นหลัก เรียกว่างานปักดิ้น (gold work) แต่ไม่ได้ปักเป็นลายไทยหากเป็นรูปทรงอื่น ๆ ตอนนี้ก็สนุกขึ้นมาอีกกับการสร้างฟอร์มใหม่ ๆ อยากจะสร้างแบบไหนก็ทำเลย แต่ยังใช้เทคนิคที่เป็นโบราณอยู่ คือถ้าเรารู้หลักเบสิกโบราณแล้วเราทำอะไรก็ได้”
เมื่อมีพื้นฐานที่แน่นแล้ว ผู้ก่อตั้งสตูดิโอสอนปักผ้าก็ยังหาความรู้เพิ่ม
“ผมไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ที่สถาบัน Lemmiko L’ARTISAN de la broderie d’ art ที่โตเกียว โดยอาจารย์ที่สอนก็จบจากสถาบันปักผ้าชั้นสูงของฝรั่งเศส Lesage ที่เสื้อผ้าแบรนด์เนมขึ้นชื่อว่าโอกูตูร์ ต้องส่งปักที่นี่ พวกชาเนล, ดิออร์ ผมเรียนการปักเข็มฝรั่งเศส ที่เรียกว่า ลูนีวิลเล่ (Luneville) เป็นการปักชั้นสูง สำหรับเสื้อผ้าโอกูตูร์ ปักแล้วด้านหน้าด้านหลังจะต้องเรียบแม้จะใช้ด้านเดียว แต่ด้วยความที่งานปักอยู่บนเสื้อผ้าจึงต้องเรียบร้อยจริง ๆ ต่างจากการปักของบ้านเรา แต่การปักเข็มฝรั่งเศสคือปักบนผ้าบาง (silk organza) ซึ่งต้องใช้เทคนิคนี้เท่านั้น ผ้าถึงจะอยู่ตัวอย่างสวยงาม”
ใช้เวลาเรียน 2 ปี (ไปมา) จนครบหลักสูตร 8 คอร์ส และไปเป็นอาจารย์สอนที่ญี่ปุ่นด้วย คนญี่ปุ่นสนใจกันมาก
“ก่อนมาเปิดสตูดิโอผมก็เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่สถาบันแฟชั่นด้วย การปักเข็มฝรั่งเศสเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้สำหรับงานแฟชั่น ไม่ใช่ gold work เพราะการปักเข็มฝรั่งเศสจะใช้เมื่ออยู่บนเสื้อผ้าเป็นหลัก แต่ก็กลายเป็นงานศิลปะด้วย เช่น ภาพประดับผนัง ความจริงก็เป็นได้ทุกอย่างครับ เพราะผ้าเอาไปใช้อะไร งานปักก็สามารถไปอยู่บนสิ่งนั้นได้หมด”
งานปักผ้ามีในทุกประเทศ ตั้งแต่งานชนเผ่าจนถึงงานปักของชนชั้นสูง ที่ใช้วัสดุเช่น ดิ้นทอง ดิ้นเงิน โลหะมีค่า จนถึงวัสดุเช่น มุก ขนนก คริสตัล อัญมณี มาปักประดับ
“ผู้คนในแต่ละพื้นถิ่นเขาก็มีงานฝีมือ มีงานปักของตัวเอง ของไทยเราก็มีทุกภาค แต่ถ้ามองกว้าง ๆ ในกลุ่มเดียวกันก็จะมีการปักพวกสติทช์ต่าง ๆ พวกปักไหม ปักเป็นรูปทรงต่าง ๆ จะมีฝีเข็มแตกต่างกัน การปักอีกประเภทที่ทำมานานมากคือ การปักทองหรือ gold work ซึ่งนิยมในชนชั้นปกครอง ด้วยสามารถเลือกวัสดุที่มีค่าหรือกึ่งมีค่า เช่น ทองคำ เงิน และอีกแบบคือเข็มฝรั่งเศส ที่ใช้ในชนชั้นสูงในยุโรปมาก่อน แต่พอเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการล้มล้างระบบชนชั้นปกครองในฝรั่งเศส ทำให้งานของชนชั้นสูงมาสู่พวกเศรษฐีใหม่ กลายเป็นว่าแม้ไม่ใช่ชนชั้นสูงแต่มีเงิน และมีระบบอุตสาหกรรมมาตอบสนองคนที่มีกำลังซื้อ งานปักชั้นสูงเหล่านี้ก็เปลี่ยนมาสู่เสื้อผ้าแบรนด์เนม ที่สามารถขายได้ชุดละเป็นแสนบาท”
ช่างปักอธิบาย แต่กระนั้นที่ว่างานปักชั้นสูงไปสู่ยุคอุตสาหกรรมก็คือเข็มฝรั่งเศสที่ใช้ก็ต้องใช้มือคนดึงด้ายสอดลูกปัด และปักลงบนผ้าที่ขึงตึง
“เพราะมีความซับซ้อนในการปัก และต้องใช้ช่างที่ชำนาญ เข็มฝรั่งเศสเป็นเทคนิคที่ทำได้เร็วจากตัวเข็ม ช่างจะทำตัวเองเหมือนเป็นเครื่องจักร ปกติเราปักลูกปัดเราร้อยทีละเม็ด แต่เข็มฝรั่งเศสตัวเลื่อมจะถูกร้อยลงไปในหลอดด้าย แล้วใช้เข็มตัวนี้เกี่ยวขึ้น ดังนั้นมันจึงเหมือนจักรเย็บผ้า ช่างจะทำตัวเองเหมือนจักรเย็บผ้า ลูกปัดจะส่งไปทีละเม็ดแล้วเกี่ยวขึ้น ๆ แต่ถ้าเราใช้เข็มธรรมดาเราก็ต้องใช้เข็มมาร้อยลูกปัดแล้วจิ้มขึ้นจิ้มลง แต่อันนี้คือเกี่ยว ๆ ทำได้เร็วขึ้น แต่ก็ต้องใช้มือคนอยู่ดี”
ดังนั้นอยากปักงานชั้นสูงจึงต้องเรียนและต้องฝึกจนชำนาญการ
“ที่อินเดียก็มี ถ้ามองรากลึกลงไป ไทยเราน่าจะรับมาจากอินเดีย เป็นภูมิปัญญาในการใช้เข็ม ส่วนจีนใช้เข็มธรรมดาแต่ปักกับเส้นไหมที่เล็กมากเหมือนเส้นผม ค่อย ๆ ปักไปทีละเส้น ๆ”
อยากปักเข็มฝรั่งเศส คุณต้ำบอกว่าต้องฝึกฝนอย่างมาก
“ต้องอดทน ต้องยอมที่จะล้มเหลวบ่อย ๆ บางคนมาเรียนถ้าทำไม่ได้ครั้งแรกเขาก็ไม่ทำต่อ เขาจะรู้สึก fail ไม่ทำแล้ว อย่างผมไปเรียนก็ไม่ใช่ว่าครั้งแรกแล้วทำได้เลย ก็ต้องยอมที่จะด้ายขาดแล้วขาดอีก บางคนมาเรียนวันแรกเกี่ยวด้ายไม่ขึ้น หรือด้ายขาด เข็มมันมีตะขออยู่แต่บางคนเกี่ยวแล้วไม่โดนด้ายสักที ทั้งที่มีเทคนิคของเขาอยู่ พอไม่ได้เขาจะล้มเลิกคิดว่าไม่ใช่ทางของเรา แต่จริง ๆ คุณจะต้องอยู่กับมันเป็นอาทิตย์ เรียนรู้วิธี เทคนิค และทำซ้ำ ๆ เพราะทำไปนาน ๆ เราจะไม่จำขั้นตอนเช่น 1.ทิ่มเข็มลง 2.พันด้าย ซึ่งมีถึง 6-7 ขั้นตอน เป็นกระบวนการของร่างกายที่ตอบสนองอย่างเป็นธรรมชาติ จะไม่มานั่งนับหนึ่งสองสามแล้ว เพราะพอเราทำไปเรื่อย ๆ ทุกอย่างจะรันไปโดยอัตโนมัติก็จะไม่มีขั้นตอนแล้ว เพราะเราฝึกจนชำนาญนั่นเอง”
เรียนเข็มฝรั่งเศสอาจดูยากไปสำหรับผู้เริ่มต้น คอร์สสอนแบบเบสิกก็มีสำหรับคนรักงานปัก
“เวิร์คชอปสอนปักผ้าเปิดเยอะนะครับ อย่างคนที่มาเรียนที่นี่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกมาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มาเรียนชิลล์ ๆ กลุ่มที่สองเผื่อไว้เป็นอาชีพ แบบสาวออฟฟิศมาเรียนเผื่อหารายได้ กลุ่มที่สามคือมาเรียนเพื่อเป็นอาชีพจริง ๆ หลายคนมาเรียนปักเข็มฝรั่งเศสอย่างที่ผมไปเรียนที่ญี่ปุ่นจะมีคนกลุ่มที่สามเยอะมาก คือตั้งใจทำอาชีพจริง ๆ แต่กับสังคมไทยเรามีไม่มาก ที่ญี่ปุ่นงานฝีมือเขาเฟื่องฟูมาก แม่บ้านญี่ปุ่นเขาจะไปเรียนกันจริงจัง ดูเป็นแม่บ้านแต่ทำงานฝีมือเก่งมาก”
ครูสอนปักให้แง่คิดอีกว่า กลุ่มที่สามนี่แหละที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จในงานปักผ้า
“เพราะเขาจะสู้และทนกับมัน แต่นอกจากทำเป็นแล้วพอไปทำงานเราต้องคิดเป็นด้วยครับ ไม่ใช่ทำตามแบบอย่างเดียว คนกลุ่มนี้ที่มาเรียนกับผมทำงานสายแฟชั่น เขามีความตั้งใจจะทำงานของตัวเอง อีกอย่างเมื่อปักเป็นแล้วก็ต้องรู้จักการผสมผสานในแต่ละเทคนิค ซึ่งจะเกิดจากการทดลอง การทำงานเยอะ ๆ เกิดการผิดพลาดและเรียนรู้หาเทคนิคใหม่ ๆ เพราะไม่มีอะไรที่เป็นผิดหรือถูก มันเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง”
ครูต้ำ ยังหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เช่น เรียนเทคนิคการประกอบจิวเวลรี่ แล้วนำงานปักมาผสมผสาน
“เมื่อปักเป็นก็ต้องมีดีไซน์ เช่น เปลี่ยนวัสดุ เปลี่ยนเส้นด้ายใหม่ เพิ่มโน่นเพิ่มนี่เข้าแล้วได้อะไรใหม่ ๆ ยิ่งงานแฟชั่นก็ยิ่งต้องตามเทรนด์โลกให้ทัน ไม่ใช่มีแค่เลื่อมลูกปัด บางทีใช้พลาสติก เปลือกหอย ไข่มุก ขนนก ผมจะพูดบ่อยๆ ว่า อะไรที่มีรูแล้วเข็มผ่านได้ สิ่งนั้นปักได้หมด ไม่ว่าจะเป็นอัญมณี ฝาน้ำอัดลม น็อต ห่วงเหล็ก อะไรที่เข็มผ่านได้ก็ปักได้หมด”
งานปักก็มีซิกเนเจอร์เหมือนงานออกแบบแฟชั่น เช่น มุมานะ สตูดิโอ คืองานหลากหลายไม่ใช่แค่การปักผ้า
“ผมจะใช้วิธีการอื่น ๆ ปนเข้าไป มีการใช้วัสดุที่หลากหลาย เช่น เอาเลนส์มือถือมาติดบนงานปัก อีกอันเป็นหมุดที่ติดบนกระดาน หรืองานออกแบบเป็นชิ้น ๆ รูปทรงต่าง ๆ เช่น รูป old town ทำเป็นเข็มกลัดโดยข้างในเป็นรูปเมืองเก่าแล้วปักด้วยด้ายและลูกปัด จะไม่ตรงไปตรงมา
งานปักชิ้นเล็ก old town, bug และคอลเลคชั่นญี่ปุ่น, ลอนดอน อยู่ในชั้นเรียน 3 ชั่วโมง (2,500 บาท) ทำเวิร์คช็อปปักงานเสร็จก็ได้ผลงานตัวเองกลับบ้าน เป็นคอร์สเบสิกสำหรับผู้เริ่มต้น ผมจะครีเอทงานใหม่ ๆในแต่ละเดือน คลาสจะไม่ซ้ำกัน โดยในทุกงานจะมีเทคนิคพื้นฐาน เช่น การปักดิ้นเงินดิ้นทอง เพราะเมื่อเขาไปทำงานของตัวเองเมื่อเปลี่ยนรูปทรงไปเขาก็จะทำได้ แต่ถ้าเรียนเข็มฝรั่งเศสจะมีหลายระดับ จะเรียน 3 วัน ต่อคลาส”
เดือนมิถุนายนนี้ มุมานะ เปิด 3 คลาสเรียน ได้แก่ งานปักผ้าด้วยเข็มฝรั่งเศส ระดับพื้นฐาน (Introduction Luneville Embroidery) งานปักบนแคแรคเตอร์ด้วยเข็ม ด้าย และวัสดุพิเศษ ทำเป็นเข็มกลัด (Character Design Embroidery) และ Craft Resin + Shrink Plastic with Resin เรียนรู้และทดลองการเลือกวัสดุที่จะนำไปตกแต่งในผลงาน เช่น ดอกไม้แห้ง ไข่มุก ลูกปัด ฯลฯ และการลงสีด้วยสีไม้และสีฝุ่น (มุมานะ สตูดิโอ ถนนกรุงเทพกรีฑา ใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ สถานีทับช้าง)
ชอบปักผ้า อยากทำงานฝีมือละเมียดละไม ลงทุนด้วยแรงใจและเวลา สอบถามโทร.08 3153 5659 FB: MUMANa Artisan เว็บไซต์ http://www.mumanastudio.com