ไทยอาจเป็นศูนย์กลาง ‘ซีรีส์วาย’ พร้อมส่งออก ‘คู่จิ้น’ แห่งเอเชีย

ไทยอาจเป็นศูนย์กลาง ‘ซีรีส์วาย’ พร้อมส่งออก ‘คู่จิ้น’ แห่งเอเชีย

ความนิยม "ซีรีส์วาย" ที่เพิ่มขึ้นของผู้ชมทั่วเอเชีย ทำให้เกิดกระแส "คู่จิ้น" นักแสดงนำของซีรีส์เรื่องนั้นๆ จนโด่งดังเป็นพลุแตก ถึงขนาดถูกพูดถึงในกลุ่มคนดู "ซีรีส์วาย" ในประเทศจีน

ซีรีส์เพศทางเลือกโดยเฉพาะวงการ "ซีรีส์วาย" ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป มีข้อมูลระบุว่าในปี 2020 ประเทศไทยผลิตซีรีส์แนว Boy's love stroy ออกมามากถึง 40 เรื่อง โดยมียอดการชมในแอพพลิเคชั่น LINE TV สูงเกินกว่า 600 ล้านวิว

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก "ซีรีส์วาย" มาก่อน คงต้องเริ่มทำความเข้าใจก่อนว่าเวลานี้ ซีรีส์วายเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนท์รูปแบบหนึ่ง ที่มีการดำเนินเรื่องชวนติดตาม ทำให้ผู้ชมร่วมลุ้นไปกับตัวละคร เช่นเดียวกับละครหรือภาพยนตร์ทั่วๆ ไป

ตัวอย่างเช่น SOTUS the series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ซึ่งเป็น "ซีรีส์วาย" มาแรงในสมัยนี้ เนื้อหาถูกแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือความรักที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างอบอุ่นระหว่างผู้ชาย 2 คน และระบบโซตัสที่เป็นประเด็นทางสังคมทุกๆ ปีเมื่อมีข่าวการรับน้อง จะเห็นว่าคอนเทนต์วายในยุคนี้ไม่ได้ถูกทำขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เนื่องจากตัวคอนเทนต์มีแง่มุมหลากหลายจนกลายเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนท์ที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ในวงกว้างมากขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ส่องมูลค่าตลาดคอนเทนต์วายวงการ Boy's love story ที่กำลังกลายเป็นตลาดสำคัญ 

และด้วยความนิยมของ "ซีรีส์วาย" ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดกระแส คู่จิ้น นักแสดงนำของเรื่องโด่งดังเป็นพลุแตก ถึงขนาดถูกพูดถึงในกลุ่มผู้ชมซีรีส์วายในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นกระแสของ หยิ่น-วอร์ หรือ วิน-ไบร์ท คู่จิ้นนักแสดงซีรีส์วายเมืองไทย โดยเฉพาะคู่หลัง วิน-ไบร์ท ที่ทำให้เกิดสงครามโซเชียลข้ามประเทศกันมาแล้ว ทำให้เห็นว่านักแสดงซีรีส์วายจากประเทศไทยมีแฟนคลับในต่างแดนมากพอๆ กับแฟนคลับในไทยเลยทีเดียว

159194864328

159194865544

แม้เราจะเคยปลื้ม เซียวจ้าน กับ อี้ป๋อ คู่จิ้นนักแสดงชาวจีนเมื่อปีที่แล้ว แต่ถ้าเทียบกับกระแสของ #2moonstheseries หรือ #SotusTheSeries ที่ถูกพูดถึงในกลุ่มคนดูชาวจีนในปี 2017 ความร้อนแรงของคู่จิ้นชาวจีนกลับน้อยกว่า โดยเฉพาะกระแสของ #2moonstheseries ในสังคมชาว Twitter จะเห็นว่ามีแฟนคลับนานาชาติหลากหลายมาก ทั้งไทย อังกฤษ จีน รวมทั้งญี่ปุ่น ประเทศต้นตำรับของสาววาย 

สำหรับปี 2020 นี้ ครึ่งปีแรกพบว่ามีซีรีส์ไทยยอดนิยมที่ดังไกลถึงต่างแดน ได้แก่

  • เพราะเราคู่กัน 2gether The Series
  • EN OF LOVE รักวุ่นๆ ของหนุ่มวิศวะ
  • Why R U The Series เพราะรักใช่เปล่า

ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้สามารถสร้างการเติบโตด้านยอดรับชมสูงสุดถึง 45% (Page view) หรือมากกว่า 350 ล้านวิวจากคอนเทนต์ในหมวดหมู่นี้ และบรรดาคู่จิ้นของทั้ง 3 เรื่อง คือ วิน-ไบร์ท หยิ่น-วอร์ และ เซ้นต์-ซี ก็ล้วนติดเทรนด์ทวิตเตอร์โลกมาแล้วทั้งนั้น

ความสำเร็จของ "ซีรีส์วาย" นั้น ไม่ใช่แค่สร้างรายได้จากตัวโฆษณาเพียงอย่างเดียว แต่เหล่าผู้จัดสามารถทำเงินจากซีรีส์วายได้อีกหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการขายแพ็คคู่ในงานโฆษณา อีเว้นท์ หรือกลยุทย์การเปิดขายบัตรงานแฟนมีตติ้งที่ราคาบัตรสูงเทียบเท่าคอนเสิร์ตของศิลปินดัง

ที่ผ่านมาซีรีส์วายเกือบทุกเรื่องเมื่อจบซีซั่นจะมีการจัดงานแฟนมีตติ้ง เพื่อให้แฟนคลับมาพบปะ พูดคุย และเล่นเกมกับนักแสดงที่พวกเขาชื่นชอบ หากเป็นเมื่อก่อนงานแฟนมีตติ้งเหล่านี้จะฟรี! แต่ปัจจุบันนั้นมีราคาค่าเข้างานตั้งแต่ราคา 1,000 บาท ไปจนถึงบัตรวีไอพีราคา 5,000 บาท 

ราคานี้เป็นราคาที่เปิดขายให้ทั้งแฟนคลับชาวไทยและแฟนคลับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน เวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ที่ลงทุนบินข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมาร่วมงานแฟนมีตติ้งนี้ และถึงแม้ว่าจะเปิดขายบัตรในราคาแพงมากขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้บางครั้งผู้จัดต้องจัดงานขึ้น 2 รอบในวันเดียว และยังสามารถต่อยอดนำภาพหรือวิดีโอภายในงานไปทำเป็น Box set ขายได้อีกด้วย 

นอกจากการจัดงานแฟนมีตติ้งในประเทศแล้ว ด้วยความนิยมที่ลุกลามไปไกล ทำให้สามารถขายอีเว้นท์นี้ได้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งก่อนหน้านี้คู่จิ้น “คริส-สิงโต” มีการจัดงานมีตติ้งมากถึง 6 ครั้งแล้ว ส่วนคู่จิ้น “ออฟ-กัน” ก็ดังไม่แพ้กัน ล่าสุดคู่นี้เพิ่งไปจัดงานแฟนมีตติ้งที่ประเทศเกาหลีได้สำเร็จ 

ทั้งที่ปกติแล้วตลาดเกาหลีนั้นเป็นตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง และส่วนมากจะมีเพียงแค่ศิลปินเค-ป๊อปที่มาจัดงานคอนเสิร์ตหรือแฟนมีตติ้งที่บ้านเรา แต่การที่คู่จิ้น “ออฟ-กัน”  ได้ไปเปิดตลาดที่นั่น (แม้จะเป็นกลุ่มเล็ก) ก็ถือเป็นก้าวแรกที่ทำได้ดีเกินคาด 

159194876976

159194878163

กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย ได้บอกเล่าถึงปัจจัยที่ทำให้ ซีรีส์วายกลายเป็นกระแสหลัก และสามารถขยายฐานผู้ชมได้ใหญ่ขึ้น จนกลายเป็น Mass Audience อย่างทุกวันนี้ ประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลักคือ

1. “นักแสดงนำซึ่งตามคอนเทนต์แนววายจะเรียกว่า พระเอกกับ นายเอกผู้ผลิตคัดเลือกนักแสดงบุคลิกหน้าตาดี โดดเด่น และที่สำคัญเคมีทั้งคู่ต้องเข้ากัน จนสามารถจุดติดกระแส คู่จิ้น” ประกอบกับเวลาไปออกกิจกรรม นักแสดงทั้งคู่ได้เซอร์วิสแฟนคลับ ยิ่งโหมกระแสคู่จิ้นและทำให้ซีรีส์เรื่องนั้นๆ ถูกพูดถึงมากขึ้น

2. “โครงเรื่องเล่าเรื่องผ่านชีวิตนักเรียน-นักศึกษา ทำให้เชื่อมโยงกับฐานคนดูในวัยเดียวกัน ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของคอนเทนต์ประเภทนี้

3. “เนื้อเรื่องแนวโรแมนติก เติมเต็มจินตนาการของผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มคนดูหลักให้ชวนจิ้นไปตามๆ กัน

4. “ต่อยอดการตลาดไม่ได้หยุดอยู่แค่ในจอ เช่น กิจกรรมการตลาด สร้างสรรค์เป็นคอนเทนต์รูปแบบอื่นที่นอกเหนือจากซีรีส์ เพื่อเข้าถึง และขยายฐานแฟนคลับให้หลากหลาย และกว้างขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ

5. “แพลตฟอร์มออนไลน์และการเกิดบทสนทนาบน “Social Media” สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคคอนเทนต์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมดูคอนเทนต์ต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่ง “ซีรีส์วาย” ก็เช่นกัน

ขณะเดียวกันในระหว่างรับชม คนดูจะเกาะติดกระแสซีรีส์วายและนักแสดงเรื่องนั้นๆ บน Social Media ทำให้เกิดกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ตามมา ไม่ว่าจะเป็น hashtag และ conversation ที่คนดูได้ร่วมกันแชร์ความรู้สึกการดูซีรีส์วายเรื่องนั้นๆ

ทั้งนี้พฤติกรรมคนดูซีรีส์วายไม่ใช่แค่ดูอย่างเดียว แต่ในระหว่างที่ดูรวมไปถึงหลังดูจบ พวกเขาจะมีโมเมนต์ของการเข้าไปมีส่วนรวม หรือ Engage บนโซเชียลมีเดียกับผู้ชมคนอื่นๆ ที่เป็นแฟนคลับและติดตามเรื่องนั้นๆ ไปด้วยกัน เห็นได้จาก Hashtag ที่ขึ้นอันดับ 1 บนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Twitter ที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนดูซีรีส์วาย ไม่ได้แค่ต้องการสนุกกับคอนเทนต์ซีรีส์เท่านั้น แต่ยังต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม หรือแสดงความรู้สึกในคอนเทนต์ด้วย

ดังนั้นคุณลักษณะพิเศษของ “ซีรีส์วาย” คือ มีกลุ่มคนดูที่เป็นแฟนคลับ (Advocate) และบางคนอยู่ในระดับสาวก (Evangelist) และรวมถึงการสนับสนุนคู่จิ้นของเหล่าบรรดาแฟนคลับ (เพื่อความฟิน) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สะท้อนถึงการเติบโตของคอนเทนต์ลักษณะนี้ได้ชัดเจนที่สุด