ส่องความหมาย ‘Travel Bubble’ เมื่อไทยจ่อ ‘เปิดประเทศ’
ทำความรู้จักแนวคิด “Travel Bubble” หลังศบค.เห็นชอบในหลักการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด วันนี้ (12 มิ.ย.)
แนวคิด Travel Bubble กำลังได้รับความสนใจจากนักเดินทางชาวไทย เมื่อรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผยว่า มีแผนเปิดระเบียงท่องเที่ยว หรือ Travel Bubble ผ่านข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศอื่น ๆ ตามรอยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และบางประเทศในยุโรป
วันนี้ (12 มิ.ย.) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) แถลงมติ ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน โดยที่ประชุมเห็นชอบในการหลักการในการเปิดประเทศเพื่อท่องเที่ยวอย่างจำกัดตามที่การท่องเที่ยวเสนอ เป็น “ทราเวล บับเบิล”
ทั้งนี้ นายแพทย์ทวีศิลป์ เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว แต่รายละเอียดต้องมีกรรมการชุดย่อยทำออกมาเพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนทั่วไปต้องเข้าใจและได้รับประโยชน์ด้วย
- Travel Bubble คืออะไร
Travel Bubble คือ การเปิดท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทางเฉพาะประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเช่น ในเดือนที่แล้ว ออสเตรเลียทำข้อตกลงจับคู่เดินทางกับนิวซีแลนด์ ที่ประชากรของทั้งสองประเทศสามารถเดินทางไปมาหากันได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน หรืออาจมีเงื่อนไขอื่นขึ้นอยู่กับข้อตกลง เช่น ต้องมีใบรับรองผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นลบมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในสนามบินปลายทาง เป็นต้น
ส่วนประเทศหรือพื้นที่อื่นที่ไม่ได้ทำข้อตกลงด้วยก็ยังห้ามเดินทางเข้าออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ตามเดิม หรือจนกว่าจะมีประกาศหรือข้อตกลงอื่น ๆ เพิ่มเติม
แผนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งประเทศที่จับคู่เดินทางกันในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจการค้า รวมถึงด้านการขนส่งอย่างน้อยก็ช่วยฟื้นการท่องเที่ยวท้องถิ่นได้บ้าง ในขณะที่นักเดินทางจากชาติอื่น ๆ ยังไม่กล้าไปเที่ยวในต่างแดนช่วงที่ไวรัสระบาดอยู่
อย่างไรก็ตาม Travel Bubble ไม่ใช่ศัพท์ใหม่ ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวจะรู้จักกับคำว่า “ระเบียงท่องเที่ยว” บางคนอาจได้ยินคำว่า Green Zones, Air Bridges หรือGreen Lanesและล่าสุดคือคำว่า Fast Lane หรือ “ช่องทางด่วน” ที่ใช้กันระหว่างสิงคโปร์กับบางเมืองของจีน
ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา พลเมืองจากสิงคโปร์ และเทศบาลนครและมณฑล 6 แห่งของจีน ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ เทศบาลนครเทียนจิน เทศบาลนครฉงชิ่ง และมณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู และมณฑลเจ้อเจียง สามารถเดินทางไป “ทำธุรกิจที่จำเป็น” หรือเดินทาง “ไปราชการ” ได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกักตัว 14 วัน ส่วนนักท่องเที่ยวทั่วไปยังคงห้ามเดินทาง
- Travel Bubble ของไทยเป็นยังไง
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวถึงแผน Travel Bubble ของไทยว่า หลักการคือทำข้อตกลงเปิดประเทศกับประเทศในภูมิภาคที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ค่อนข้างต่ำในขณะนี้ โดยข้อมูลของศบค.ระบุว่า กลุ่มประเทศ/ดินแดนเป้าหมายรวมไปถึง จีน (รวมฮ่องกง มาเก๊า) ไต้หวัน เวียดนาม เกาหลีใต้ ลาว เมียนมา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น
สิ่งที่เริ่มต้น คือ เลือกเป้าหมายในการควบคุมการระบาดให้ได้คนเดินทางระหว่างกันต้องตรวจเข้มงวดก่อนออกประเทศ ตรวจซ้ำ ซื้อประกันเพื่อลดภาระในการเจ็บป่วย แต่ที่สำคัญ คือ ต้องการกักตัวหรือไม่นั้น ต้องมาทลายข้อนี้ออกไป ต้องมั่นใจก่อนมาด้วยความมั่นใจ อาทิ นักธุรกิจ นักท่องเที่ยวในบางเรื่อง เช่น เล่นกอล์ฟ ในสนามกอล์ฟก็มีบริเวณแค่ตรงนั้น เมื่อเสร็จแล้วก็กลับไป รวมทั้งคนในสนามก็สามารถติดตามได้ด้วยระบบแทร็กแอนด์เฟซ
นายแพทย์ทวีศิลป์ เสริมว่า ขณะนี้มีการพูดคุยหลากหลาย อาจจะจัดการในบางพื้นที่ หรือ ซีลแอเรีย (ปิดพื้นที่) ที่ต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงท่องเที่ยวฯ ก่อน นักธุรกิจที่มีการวางแผนการเข้ามา มีระบบติดตาม และกลุ่มที่มารับบริการทางแพทย์ หรือ เมดิคัลทัวร์ลิสต์ ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวและมีความจำเป็นต้องเข้ามา จึงจะเปิดให้เข้ามา
รัฐบาลไทยสั่งปิดพรมแดนมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีลูกจ้างหลายล้านคนตกงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่จำนวนผู้ป่วยโควิดสะสมในไทยนับถึงวันที่ 12 มิ.ย. อยู่ที่ 3,129 คน และเสียชีวิต 58 คน
สัปดาห์นี้ สถาบันเอชเอสบีซี โกลบอล รีเสิร์ช (HSBC Global Research) คาดการณ์ว่า ไทยจะสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวมากถึง 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.45 ล้านล้านบาทในปีนี้ โดยอิงจากยอดผู้เดินทางเข้าประเทศที่ลดลงเหลือ 14 ล้านคน จาก 40 ล้านคนในปีที่แล้ว