หายนะจริง...บนแผ่นฟิล์ม (1)

หายนะจริง...บนแผ่นฟิล์ม (1)

Disaster film ที่สร้างจากเหตุการณ์จริงมีหลายระดับ หมายถึงระดับความเสียหายโดยเฉพาะกับชีวิตผู้คน ถ้าตึกถล่มทรัพย์สินพังก็ช่างมันเถอะ แต่ถ้าส่งผลเสียถึงชีวิตมนุษย์และระบบนิเวศก็นับว่าเป็นภัยพิบัติที่ใหญ่หลวงนัก

 เช่น Deepwater Horizon หนังปี 2016 ความเสียหายจากคราบน้ำมันที่รั่วไหล ส่งผลถึงระบบนิเวศและสัตว์ทะเล แม้เหตุการณ์จะผ่านไป 5 ปี น้ำมันก็ยังปนเปื้อนอยู่ในทะเล คนตายไม่เยอะ แต่สังเวยด้วยชีวิตสัตว์ทะเลและทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อฟื้นฟู

159268343859

     น้ำมันรั่วไหลลงทะเลส่งผลกระทบถึงสัตว์ทะเล เช่น นกพิลิแกน (ภาพ Encyclopedia Britannica)        

 เรื่องจริงเกี่ยวกับภัยพิบัติเป็นแรงบันดาลใจให้นักสร้างหนังอยู่เสมอ แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือคือบท ความสมจริง การแสดง และเอฟเฟคต์ต่าง ๆ เพราะมีพล็อตอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากเปลี่ยนเรื่องจริงที่เกิดขึ้นได้ และถึงจะรู้ว่าเรื่องจริงเกิดไปแล้วแต่คนก็อยากดูหนังประเภทนี้ ซึ่งหลายเรื่องก็ทำได้ดี ทำรายได้เกินคาด

159268356290

    Chernobyl: The Final Warning (ภาพ TNT)         

เช่นเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่เชอร์โนบิล ก็มีผู้สร้างหนังทำกันหลายสูตร แม้เหตุการณ์ผ่านไปนานมากก็ยังมีซีรีส์ Chernobyl ของค่าย HBO มินิซีรีส์ 5 ตอนที่ได้รับคำชมพอสมควร เห็นมั้ย...เรื่องภัยพิบัติก็เล่าได้เล่าอีก ก็ไม่มีใครเบื่อดูนี่นะ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีหนังฉายทางทีวีช่อง TNT เรื่อง Chernobyl: The Final Warning หนังปี 1991 (เหตุการณ์เกิดปี 1986) นำแสดงโดยดาราดังอย่าง Jon Voight, Jason Robards, Sammi Davis

159268362214

     โปสเตอร์หนัง Aftershock (ภาพ Huayi Brothers)          

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แตก ผลเสียหายไม่เพียงแค่ชีวิตมนุษย์ นับศพคนตายตอนเกิดเหตุและยังต้องนับต่อไปอีกหลายปี จากโรคมะเร็งผลที่ได้รับกัมมันตรังสีสะสม นี่คือหายนะภัยพิบัติ ซึ่งหากจัดอันดับหนังภัยพิบัติที่สร้างความหายนะมาก ๆ (ต่อชีวิตมนุษย์) หนีไม่พ้นเหตุแผ่นดินไหว อาฟเตอร์ช็อค และสึนามิ ที่สร้างความเสียหายในทุกพื้นที่ที่เกิด เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Aftershock (2010) ชื่อนี้นำมาสร้างหนังกันหลายเวอร์ชั่น เพราะแผ่นดินไหวที่โน่นที่นี่ ปีนั้นปีโน้น ต่างกรรมต่างรายละเอียด

 Aftershock  ที่ออกฉายเมื่อปี 2010 สร้างจากเหตุการณ์จริง แผ่นดินไหวที่จีน เมืองถังซาน มณฑลเหอเป่ย อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 7.6 แม็กนิจูด เมื่อเวลาตีสามกว่า ๆ ของวันที่ 28 กรกฎาคม ปี 1976 แรงสั่นสะเทือนทำให้ตึกถล่มแน่นอนอยู่แล้ว และคนจีนในยุคนั้น (ก็มีมากอยู่แล้ว) เสียชีวิตไปราว 242,000 คน บางคนบอกน่าจะมากกว่านี้สัก 3 เท่า เพราะยุคนั้นยังไม่มีอุปกรณ์มาวัดหรือเตือนภัยแผ่นดินไหว รวมถึงวัดจำนวนคนที่ตายไป แผ่นดินไหวว่าแย่แล้ว หลังไหวก็เกิดอาฟเตอร์ช็อคอีก ภาพยนตร์เรื่องนี้มาสร้างทีหลังพร้อมเทคนิค CG ที่พัฒนาขึ้น สร้างและกำกับโดยชาวจีน ทำรายได้ถึง 655 ล้านหยวน หรือ 108 ล้านยูเอส จากงบสร้าง 25 ล้านยูเอส และกลายเป็นหนังจีนเรื่องแรกที่ไปฉายในโรง IMAX นอกประเทศจีน

159268368818

     Aftershock 2010          

อีกสองปี Aftershock (2012) ชื่อเหมือนกันเพราะไม่รู้จะตั้งชื่อว่าอะไร เหตุแผ่นดินไหวในชิลี เป็นหนังร่วมทุนชิลีกับอเมริกา สร้างจากเรื่องจริงเหตุแผ่นดินไหวในชิลีครั้งใหญ่ หรือที่รู้จักกันว่า 2010 Chile Earthquake ความรุนแรง 8.8 อาฟเตอร์ช็อคก็แรงและนานคือระดับ 6.2 นาน 20 นาที และยังตามมาอีกสองครั้ง ชื่อหนังจึงต้องสื่อถึงความหายนะหลังแผ่นดินไหว ซึ่งผู้คนก็ยังไม่หายตกใจ

159268373674

     The 33 (ภาพ Turner Entertainment)    

ในชิลี ประเทศที่ตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟ หรือตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก ติดมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Ring of Fire) ซึ่งเจอทั้งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ ดินถล่ม หิมะถล่ม ติดอันดับ 1 แผ่นดินไหวรุนแรงที่สุด ระดับ 9.5 เมื่อปี 1960 และติดอันดับท็อปเทนแผ่นดินไหว ใครไปเที่ยวชิลีต้องมีคู่มือดูแลตัวเอง ศึกษาเอาชีวิตรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ใครชอบสร้างหนังแนวภัยพิบัติไปดูงานที่ประเทศนี้ได้เลย

159268379081

         

และทั้ง ๆ ที่แผ่นดินไหวบ่อยแต่ก็ทำเหมืองเยอะ เมื่อคนงานเหมืองติดอยู่ใต้ดินนาน 69 วัน เรื่องนี้จึงต้องสร้าง The 33 ภาพยนตร์ปี 2015 สร้างจากเรื่องจริงเมื่อปี 2010 เมื่อคนงานเหมืองทองและทองแดงโกเปียโก ในซานโฮเซ่ ประเทศชิลี เหมืองถล่มในขณะกำลังทำงาน ทำให้คนงาน 33 คน ติดอยู่ใต้ดินลึก 700 เมตร เท่ากับตึก 200 ชั้น ติดอยู่ในนั้น 69 วัน เรื่องจริงบนแผ่นฟิล์มจึงเกิดขึ้น พระเอกเคยหล่อ Antonio Bandaras รับบทเป็นหัวหน้าคนงานจิตแข็งที่ต้องทำให้ทุกคนอยู่รอด จำได้ว่าขณะเกิดเหตุการณ์อยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม และข่าวต่างประเทศก็รายงานแทบจะทุกวัน คนดูที่อยู่คนละทวีปก็เอาใจช่วย ดูข่าวไปก็ลุ้นระทึกไป (กว่าในหนังเสียอีกเพราะรู้ตอนจบ) น่าเสียดายหนังขาดทุนไปนิดหน่อย

ยังมีหนังภัยพิบัติที่สร้างเรื่องจริง เป็นหนังทำเงินประจำปี และสร้างภาพจำไว้ไม่ลืม ดูไปน้ำตาลไหลไป..