ชมภาพปรากฏการณ์ 'สุริยุปราคา' เหนือน่านฟ้าเมืองไทย
ชมภาพปรากฏการณ์ "สุริยุปราคา" เหนือน่านฟ้าเมืองไทย
วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2563 เกิดปรากฏการณ์ "สุริยุปราคา" ดวงจันทร์อยู่ห่างโลกจนมีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ บังดวงอาทิตย์ไม่มิด มีลักษณะปรากฏคล้ายวงแหวน เป็น "สุริยุปราคาวงแหวน" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
โดยในประเทศไทยเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ในช่วงเวลาประมาณ 13:00 - 16:10 น. ตามเวลาประเทศไทย ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน เว้าแหว่งมากที่สุดเวลาประมาณ 14:49 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภูมิภาคจะมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งแตกต่างกันไป ดวงอาทิตย์ถูกบดบังมากที่สุดบริเวณภาคเหนือที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณร้อยละ 63 ส่วนภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ดวงอาทิตย์ถูกบดบังน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 16 และ กรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์ถูกบดบังประมาณร้อยละ 40
หลังจากครั้งนี้ "สุริยุปราคา" ที่เห็นได้ในประเทศไทยครั้งถัดไปเป็นสุริยุปราคาในวันที่ 20 เมษายน 2566 โดยเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน มีเพียงส่วนน้อยของประเทศที่เห็นได้ เช่น ภาคใต้ตอนล่าง บางส่วนของตราด และด้านตะวันออกเฉียงใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพฯ และส่วนใหญ่ของประเทศไม่สามารถเห็นได้) และดวงอาทิตย์แหว่งไม่มาก หลังจากนั้นต้องรออีก 4 ปี คนไทยทั่วประเทศจึงจะมีโอกาสเห็นสุริยุปราคาอีกครั้งในวันที่ 2 สิงหาคม 2570 จากข้อมูลนี้ แสดงว่าสุริยุปราคาในวันที่ 21 มิถุนายน 2563 จะเป็นโอกาสสุดท้ายในรอบหลายปีสำหรับคนในกรุงเทพฯ และคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะหลังจากนั้นต้องรอนานถึง 7 ปี จึงจะมีโอกาสสังเกตสุริยุปราคาได้อีกครั้ง
- สุริยุปราคา ที่สงขลา เมื่อเมฆเปิดทางให้ชมแค่อึดใจเดียว
ปรากฎการณ์สุริยุปราคาวงแหวน กลางลานวัดวังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลา มองเห็นแนวคราดขณะดวงจันทร์พาดผ่านได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ท่ามกลางกลุ่มเมฆฝนเคลื่อนเข้ามาบดบัง ซึ่งการเกิดสุริยุปราคาในครั้งนี้ ยังตรงกับวันครีษมายัน เป็นวันที่เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ซึ่งประเทศไทยดวงอาทิตย์จะปรากฎอยู่บนท้องฟ้า เป็นเวลานานถึง 12.56 ชั่วโมง โดยจะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด