จากดราม่า 'ฌอน บูรณะหิรัญ' สู่คำถาม ‘ไลฟ์โค้ช’ มีดีตรงไหน ถึงมีรายได้เป็นล้าน!?
"ฌอน บูรณะหิรัญ" กับดราม่า "ปลูกป่ากับท่านประวิตร" เป็นอีกกรณีที่นำมาสู่การตั้งคำถามถึง "ไลฟ์โค้ช" ในบ้านเรา เมื่อจริงๆ แล้ว หน้าที่ของไลฟ์โค้ชไม่ได้ทำหน้าที่เป็นนักบำบัด ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงไม่ได้ให้คำแนะนำ แต่สามารถทำเงินได้ปีละล้าน!!
ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา "ไลฟ์โค้ช" (life coach) กลายเป็นอาชีพที่รู้จักในวงกว้างและมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นหากเปรียบเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนที่จะรู้จักกันแต่ภายในเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
แต่ต้องยอมรับว่ากระแสของไลฟ์โค้ชในปี 2020 นี้ มาแรงจนถือเป็นยุคทองของไลฟ์โค้ชบนโลกโซเชียล ที่มักมีไวรัลให้ติดตามอาทิตย์เว้นอาทิตย์
ประเด็นล่าสุดคือดราม่า ฌอน บูรณะหิรัญ ไลฟ์โค้ชชื่อดังของไทยกับการทำคลิป “ผมได้ปลูกป่ากับท่านประวิตร” ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาว่า เราสามารถตัดสินบุคคลสาธารณะ (โดยเฉพาะคนที่มีบทบาททางการเมือง) โดยการพบเจอตัวจริงเขาได้เพียงครั้งเดียว และลืมเรื่องราวที่เคยเป็นข่าวเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าวได้จริงไหม?
โดยก่อนหน้านี้ภายในเดือนมิถุนายนเดือนเดียวกันไวรัลไลฟ์โค้ช ผู้กองเบนซ์ ที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องศาสนาก็ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายเช่นเดียวกัน
ถึงแม้กระแสของไลฟ์โค้ชที่เกิดขึ้นมีทั้งบวกและลบ แต่ก็ทำให้เห็นว่าอาชีพไลฟ์โค้ชมีการแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงชวนไปเจาะลึกอาชีพไลฟ์โค้ชว่ามีที่มาอย่างไร กว่าจะเป็นไลฟ์โค้ชต้องทำอย่างไร และมีรายได้เท่าไร พร้อมทั้งตอบคำถามว่า จำเป็นไหมที่เราต้องฟังไลฟ์โค้ช
- ไลฟ์โค้ชคืออะไร?
แม้เราจะรู้จักไลฟ์โค้ชชื่อดังผ่านกระแสโซเชียลทั้งหลาย และคงเข้าใจว่าไลฟ์โค้ชคืออาชีพที่ทำหน้าที่พูดให้กำลังใจคนโดยใช้เรื่องราวรอบตัวมากระตุ้นผู้ฟัง แต่จริงๆ แล้วอาชีพไลฟ์โค้ชนั้น เว็บไซต์ careerexplorer นิยามไว้ว่า ไลฟ์โค้ชคือผู้ช่วยให้ชีวิตปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ ส่วนสำคัญคือการผลักดันสู่เป้าหมายในเชิงบวก นอกจากนี้อีกนัยหนึ่งคือการเป็นผู้ทำหน้าที่ให้แรงบันดาลใจ สนับสนุน และให้คำปรึกษาเพื่อเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงชีวิต
หน้าที่ของไลฟ์โค้ชไม่ได้ทำหน้าที่เป็นนักบำบัด ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงไม่ได้ให้คำแนะนำ แต่อาชีพนี้จะทำหน้าที่เป็นผู้ฟังและคู่สนทนาที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจเพื่อให้ผู้คนมองมุมใหม่ๆ
ทั้งนี้หน้าที่ของไลฟ์โค้ชไม่ได้ทำหน้าที่เป็นนักบำบัด ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงไม่ได้ให้คำแนะนำ แต่อาชีพนี้จะทำหน้าที่เป็นผู้ฟังและคู่สนทนาที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจเพื่อให้ผู้คนมองมุมใหม่ๆ พร้อมทั้งติดตามผลว่าผลที่เกิดขึ้นกับตัวบุคคลเป็นเช่นไร
จากข้อมูลของ Coaches Training Institute สถาบันสอนไลฟ์โค้ชอเมริกา ระบุว่า ไลฟ์โค้ช มีหน้าที่หลักๆ 4 ข้อ คือ
- ช่วยหาคำตอบ ไม่ได้ชี้คำตอบ
- มุ่งเน้นไปที่ตัวปัญหารายบุคคลมากกว่าปัจจัยแวดล้อม
- ช่วยให้ลูกค้าไปสู่เป้าหมายโดยไม่สับสน และราบรื่น
- ทั้งนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวลูกค้า
ปัญหาส่วนใหญ่ที่นิยมจ้างไลฟ์โค้ชได้แก่
- ความก้าวหน้าหรือวางแผนทางธุรกิจ
- การหย่าร้าง
- ดูแลสุขภาพ
- ความมั่นคงทางการเงิน
- การหาเป้าหมายแก่ชีวิต
- ช่วยให้ก้าวผ่านความกลัว
- บาลานซ์ระหว่างชีวิตและธุรกิจ
- คำแนะนำในการเลื่อนขั้นที่ทำงาน
- เข้าสังคม
- การประสบความสำเร็จในชีวิต
- เติมเต็มชีวิต
- จัดระเบียบบ้าน
- ค้นหาความต้องการ
- ความเป็นมาของไลฟ์โค้ช
แรกเริ่มไลฟ์โค้ชยังไม่ได้เป็นอาชีพอย่างเป็นทางการ แต่ในปี 1980 โทมัส ลีโอนาร์ด (Thomas Leonard) นักวางแผนการเงินชาวอเมริกันผู้โด่งดังและได้รับการยอมรับอย่างล้นหลามได้พัฒนาการฝึกสอนในฐานะอาชีพขึ้นครั้งแรก พร้อมทั้งเขียนหนังสือการฝึกเป็นไลฟ์โค้ชชื่อ The Coach Coach
หลังจากนั้นเป็นต้นมาโทมัส ลีโอนาร์ด จึงผันตัวเองจากนักวางแผนการเงินเป็นนักวางแผนชีวิต หรือไลฟ์โค้ช และพัฒนาหลักสูตร เทคนิคการสอนอย่างเต็มตัว
ปัจจุบันสถาบันการสอนเป็นไลฟ์โค้ชของโทมัส ลีโอนาร์ด ถือเป็นสถาบันที่โด่งดังชั้นนำและมีชื่อเสียงที่สุดในโลก เพียงไม่นานก็มีสถาบันสอนเป็นไลฟ์โค้ชอีกหลายแห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังมีการเปิดหลักสูตรการสอนเป็นไลฟ์โค้ชอีกด้วย
- รายได้ของไลฟ์โค้ช
สำหรับต่างประเทศอาชีพไลฟ์โค้ชได้รับความนิยมไม่ต่ำกว่า 20 ปี มีสถานะเทียบเท่ากับจิตบำบัดหรือจิตแพทย์
ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาอัตราชั่วโมงสำหรับจ้างไลฟ์โค้ชมีราคามาตรฐานอยู่ที่ 190 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6,650 บาท และรายได้เฉลี่ยต่อปีตก 62,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 2,170,000 บาท
จากข้อมูล the International Coach Federation ปี 2016 ระบุว่า เงินรายได้รวมของไลฟ์โค้ชมีความระหว่าง 11,000 และ 114,500 ดอลลาร์สหรัฐ
สรุปง่ายๆ ว่า ไลฟ์โค้ชในสหรัฐอเมริกาสามารถทำเงินโดยเฉลี่ย 27.16 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง 3,714 ดอลลาร์ต่อเดือนและประมาณ 31,099 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (เฉลี่ย 1,080,000 บาท)
- จำเป็นไหมที่เราต้องฟังไลฟ์โค้ช?
คำถามที่คาใจใครหลายคนว่าในชีวิตเราจำเป็นต้องมีไลฟ์โค้ชหรือไม่ ข้อมูลเว็บไซต์ TONY ROBBINS สถาบันไลฟ์โค้ชชื่อดัง ระบุว่า ผู้คนเลือกที่จะจ้างไลฟ์โค้ชเพราะพวกเขาต้องการไปถึงเป้าหมายในเรื่องต่างๆ ของชีวิต และต้องการผู้ช่วยที่พาไปถึงจุดนั้น นอกจากนี้ในเชิงจิตวิทยาคือการหาเพื่อนรับฟังในชีวิตจริง
ทั้งนี้ พญ.วินิทรา แก้วพิลา อาจารย์ประจำสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ผู้เชี่ยวชาญจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทของไลฟ์โค้ชในบทความเว็บไซต์ the 101 world กล่าวว่า ไลฟ์โค้ช มีลักษณะการให้คำปรึกษาก็จริง แต่ไม่ได้ต่อยอดจากสายสุขภาพจิตจากบุคลากรด้านสาธารณสุขโดยตรง กล่าวคือ แยกออกจากการทำจิตบำบัด หรือ counselling ที่มีหลักสูตร กระบวนการฝึกอย่างเป็นระบบ และมีระบบการประเมินรับรองการศึกษาอย่างชัดเจน
กลุ่มไลฟ์โค้ชหรือคอร์สพัฒนาตัวเองอาจดำเนินกิจกรรมให้คำปรึกษาในหลากหลายด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพ เรื่องเป้าหมายในอนาคต เรื่องส่วนตัว โดยเน้นการบรรลุเป้าหมาย
โดยไลฟ์โค้ชมีหลากหลายมาก หลายกลุ่มอาจมีการฝึกฝน และวิทยากรที่ผ่านการศึกษาอย่างมีระบบ แต่ก็มีหลายกลุ่มที่ไม่มีระบบที่ชัดเจนว่า ผู้นำกลุ่มหรือวิทยากรต้องผ่านการเรียน หรือได้ใบรับรองด้านไหนมา
ปัญหาเรื่องความจำเป็นของไลฟ์โค้ชยังคงถูกถกเถียงกันในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีวิจัยจากทีมวิจัย University of Waterlooประเทศแคนาดา โดยผลระบุว่าคนที่เชื่อไลฟ์โค้ช อาจจะอยู่ในภาวะ less intelligent ที่แปลไทยได้ประมาณว่า ฉลาดน้อยลง
แต่สิ่งสำคัญที่สุดการจะปรึกษากับไลฟ์โค้ชคนไหนควรที่จะดูความน่าเชื่อถือของไลฟ์โค้ชคนนั้นว่ามีใบรองรับหรือเปล่า