ส่อง 3 ข้อ 'SCALA' ในความทรงจำ ก่อนจากลาตลอดไป
การจากลาของ "SCALA" ถือเป็นเรื่องเศร้าสำหรับคนวงการภาพยนตร์ทั้งหลาย เพราะ "สกาลา" ถือเป็นตำนานโรงหนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นความบันเทิงที่อยู่คู่สยามสแควร์มานานเกือบ 70 ปี
ปิดตำนานโรงหนังสุดคลาสสิกของไทยอย่าง สกาลา (SCALA) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบให้กับกิจการต่างๆ มากมาย ไม่เว้นแม้แต่โรงภาพยนตร์เก่าแก่ระดับตำนานแห่งนี้
โรงภาพยนตร์ "สกาลา" ที่เพิ่งกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.63 แต่จากนั้นจู่ๆ ก็มีการประกาศยุติกิจการถาวรจากเจ้าของกิจการ โดยทางโรงภาพยนตร์จะจัดงานรำลึกเล็กๆ โดยการเปิดไฟทุกดวง เพื่อให้คอหนังและนักท่องเที่ยวมาเก็บภาพความสวยงามสง่า และบรรยากาศอันทรงเสน่ห์ พร้อมฉายภาพยนตร์สั่งลาในวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2563 นี้
การจากลาของ "สกาลา" ถือเป็นเรื่องเศร้าสำหรับคนวงการภาพยนตร์ทั้งหลาย เพราะสกาลาถือเป็นตำนานโรงหนังที่มีเอกลักษณ์และเป็นความบันเทิงอยู่คู่กับสยามสแควร์มานานเกือบ 70 ปี
- "สกาลา" ราชาโรงหนังแห่งสยาม
“โรงหนังในกรุงเทพฯ แห่งแรกที่เราเข้าไปดูหนัง จำได้ว่าเรื่อง paradise เสียดายที่ต้องปิดตัวลงไป เชื่อว่าที่นี่คือความทรงจำของคนชอบดูหนังหลายๆ คน ก็คงจะมีความประทับใจและความผูกพันมากมายที่โรงหนังแห่งนี้” นี่คือความรู้สึกของคอหนังคนหนึ่งที่ผูกพันกับโรงหนังแห่งนี้มานาน
โรงภาพยนตร์ "สกาลา" เป็นโรงภาพยนตร์ขนาด 904 ที่นั่ง เปิดฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2512 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง สองสิงห์ตะลุยศึก ถือเป็นโรงภาพยนตร์ซีเนรามาที่สมบูรณ์ขั้นมาตรฐานโลกแห่งที่ 3 และยังคงความคลาสสิกเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์
มีจอขนาดใหญ่และเวทีอยู่บริเวณหน้าจอภาพยนตร์ ด้านหลังมีบันไดเชื่อมต่อออกไปยังห้องรับรอง ห้องแต่งตัว และห้องน้ำ ส่วนเวทีขนาดใหญ่นั้นสามารถใช้ในการแสดงละคร แฟชั่นโชว์ คอนเสิร์ต จัดประชุม เปิดตัวสินค้า หรือใช้จัดนิทรรศการต่างๆ ได้ นอกจากภายในโรงภาพยนตร์แล้ว บริเวณห้องโถงชั้นหนึ่งและชั้นสอง ยังสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการจัดงานได้อีกด้วย
โรงภาพยนตร์ "สกาลา" บริหารงานโดยกลุ่มโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ ที่มีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 4 แห่ง เกือบทั้งหมดตั้งอยู่ในย่านสยามสแควร์ ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย โรงภาพยนตร์สยาม โรงภาพยนตร์ลิโด และโรงภาพยนตร์สกาลา จดทะเบียนธุรกิจในนาม ‘สยามมหรสพ’
- เสน่ห์แห่ง "สกาลา"
ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ทั้ง 4 แห่งนั้น ได้ปิดตัวไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ซึ่งถูกทุบทิ้งในปี พ.ศ. 2532 โรงภาพยนตร์สยาม ถูกวางเพลิงจนเสียหายหมดทั้งอาคาร จากการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2553 และโรงภาพยนตร์ลิโด ที่ปิดตัวเพราะหมดสัญญาเช่ากับทางจุฬาฯ ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 คงเหลือแต่โรงภาพยนตร์สกาลาเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ยังคงเปิดตัวอยู่
โรงภาพยนตร์ "สกาลา" ออกแบบโดยจิระ ศิลป์กนก ตั้งชื่อตามโรงอุปรากร Teatro alla Scala แห่งเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี คำว่า Scala มีความหมายว่า บันได ในภาษาอิตาลี โรงภาพยนตร์ออกแบบในศิลปะอาร์ตเดโค ภายในมีเสาคอนกรีตโค้ง มีการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก และมีโคมระย้าทรงหยดนํ้าค้างแข็ง 5 ชั้นขนาดยักษ์ที่สั่งตรงจากอิตาลี
ในปี พ.ศ. 2555 "สกาลา" ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ได้รับประกาศว่าเป็นสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโคอันโดดเด่น เป็นโรงภาพยนตร์พาณิชย์แบบโรงเดี่ยวแห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ ที่ยังเปิดบริการอยู่จนถึงปัจจุบัน
ไพวงค์ ภูบัตรตะ เจ้าหน้าที่นำบัตรผู้สวมสูททักซิโดสีเหลืองเอกลักษณ์ประจำโรงหนังสกาลา และทำงานนี้มา 24 ปี กล่าวว่าในอดีต เทศกาลหนังนานาชาติก็ถูกจัดขึ้นที่นี่ การจัดงานประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ก็จัดที่นี่เช่นกัน เขายอมรับว่าที่นี่หรูหรา และเป็นโรงหนังอันดับหนึ่งในใจเขาเสมอ
"พูดไปแล้วก็คิดว่าคงเหงา ถ้าเราไม่ได้ยืนทำหน้าที่ต้อนรับในที่แห่งนี้อีกต่อไป ถ้ามันยังคงเปิดอยู่ ผมก็คิดว่าจะทำงานอยู่ที่นี่ไปจนอายุ 70-80 ปี" ไพวงค์บอก
- อำลา "สกาลา"
“เสียดายโรงหนังในดวงใจสมัยสาวๆ เลย ไปดูหนังต่างประเทศที่นี่บ่อยมาก”
“ใจหายติดต่อกัน หลังจากไฟไหม้โรงหนังสยาม ต่อมาพฤษภา 61 โรงหนังลิโดปิดตัว และวันนี้โรงหนังสกาลาก็ตามไปติดๆ”
“ผมดูหนังทั้งสามโรงมาอย่างยาวนานตั้งแต่เด็ก และเป็นที่แรกเสมอที่จะดูหนัง”
“ใจหายมาก กับบรรยากาศที่อบอุ่นทุกครั้งเวลามาที่นี่ ซึ่งหาไม่ได้จากโรงมัลติเพล็กซ์ครับ”
เสียงส่วนหนึ่งที่แสดงความรู้สึกต่อ "สกาลา" นอกจากนี้ยังมีเสียงบางส่วนเรียกร้องให้มีการอนุรักษ์โรงภาพยนตร์แห่งตำนานนี้ไว้ แต่ถึงอย่างนั้นด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็บีบให้ราชาโรงหนังแห่งสยามต้องปิดตัวลง อย่างไรก็ตามที่นี่ก็ยังคงอยู่ในใจของผู้ที่เคยเข้าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์แห่งนี้ตลอดกาล
“สกาลา จะเหลืออยู่แค่ในความทรงจำ ผมดูหนังที่สกาลาครั้งแรกคือเรื่อง Dances with Wolves เป็นหนังที่ตราตรึงใจมาก ภาพสวยสุดๆ ในยุคสมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์กราฟิก แต่ละสถานที่ที่ถ่ายออกมามันอลังการ หนัง 3 ชั่วโมง มีพัก 15 นาที ให้ลุกไปเข้าห้องน้ำด้วยครับ ตอนนั้นคนเยอะมาก
อีกเรื่องที่ดูคือ Jurassic Park ถือว่าดังมากตอนที่เข้ามาฉายใหม่ๆ ผมไปต่อคิวซื้อตั๋วเลยนะ เพราะอ่านนิยายของไครช์ตันมาก่อนแล้ว สำหรับผมโรงหนังสกาลาสวยเหมือนวังในยุโรปเลย ถ้าไปรอบค่ำจะเห็นไฟระย้าสวยมาก และสกาลาจะหายไปตลอดกาล” เจ้าของเพจอายุรศาสตร์ง่ายนิดเดียว กล่าวความรู้สึกถึง "สกาลา" ทิ้งท้ายไว้ในความทรงจำ