ย้อนดู ‘โรงหนัง’ สุดคลาสสิกในอดีตที่คอหนังรุ่นใหญ่ต้องรู้จัก!
โรงหนังควบ รถหนังขายยา หนังกลางแปลง หรือโรงหนังลอยน้ำ เป็น "โรงหนัง" ในอดีตของไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เด็กสมัยนี้อาจจะไม่รู้จัก แต่เชื่อเถอะว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่วัย 50+ ต้องคุ้นเคยแน่นอน
การปิดตัวลงของ สกาลา โรงภาพยนตร์แห่งสุดท้ายในตำนานย่านสยามสแควร์ เจ้าของฉายา 'ราชาโรงหนังแห่งสยาม' สร้างแรงกระเพื่อมต่อคนในวงการหนังและผู้ที่ชื่นชอบในการดูหนังไม่น้อย ทำให้เห็นว่าการปิดตัวลงของ "โรงหนัง" คลาสสิกแห่งสุดท้ายนี้ ส่งผลให้ทางเลือกในการดูหนังในโรงภาพยนตร์ Stand Alone น้อยลงไปเรื่อยๆ ผู้คนปรับพฤติกรรมไปดูหนังดิจิทัลที่บ้านอย่างเต็มตัว แต่ทั้งนี้ผลพวงล้วนมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไร้ขีดจำกัดขึ้นเรื่อยๆ
รู้หรือไม่? ก่อนจะมีโรงหนังลิโด้ ศาลาเฉลิมไทย หรือสกาลา (ที่ในวันนี้ปิดตัวไปหมดแล้ว) ในอดีตยังมี "โรงหนัง" รูปแบบที่เก่าแก่กว่านั้นไปอีก ซึ่งก็หมดยุคสมัยไปแล้วเช่นกัน แต่ก็พอจะมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้างประปราย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนย้อนดูโรงหนังสุดแปลกแหวกแนวที่เคยมีในประเทศไทย ถ้าใครเกิดทันโรงหนังเหล่านี้คงไม่ต้องถามอายุให้เสียเวลา!?
- โรงหนังขายยา / รถหนังขายยา
เริ่มต้นด้วยรถหนังขายยา หรือเรียกอีกชื่อว่า "หนังเร่" โดยโรงหนังขายยานั้นมีการฉายภาพยนตร์ให้ดูฟรี แต่เอกลักษณ์คือการหยุดฉายช่วงใดช่วงหนึ่ง เพื่อให้โฆษกได้ประกาศขายยาตามยี่ห้อของตน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเลือกหยุดในช่วงที่หนังกำลังถึงจุดพีคหรือฉากตื่นเต้นเร้าใจ
วิธีการไปฉายหนังขายยาโดยส่วนใหญ่มักจะใช้รถยนต์เป็นพาหนะ แต่ก็มีบางแห่งที่ใช้เรือหรือเกวียน ถ้าเป็นรถยนต์ก็จะมีการตกแต่งรถโดยใช้สินค้าของตัวเองเขียนหรือวาดติดกับตัวรถเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าพอรถวิ่งผ่านไปที่ไหน ผู้คนก็จะมองเห็นโฆษณาสินค้าที่ตัวรถได้ทันที
รถหนังขายยาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ รถหนังขายยาสตรีเพ็ญภาค ตราพระยานาค นับเป็นรถหนังขายยาที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดคันหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันรถหนังขายยาคันนี้ถูกนำมาจัดแสดงอยู่ที่ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย
- หนังกลางแปลง
หนังกลางแปลงนั้น ถือเป็น "โรงหนัง" กลางแจ้งที่เดินทางมาจัดฉายภาพยนตร์ให้ประชาชนชมฟรี โดยจะมีเจ้าภาพติดต่อจ้างหนังกลางแปลงไปฉายในงานประเพณีต่างๆ ตั้งแต่งานบวช งานแต่งงาน งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ งานวัด งานชุมชน บางงานอาจมีการจ้างหนังกลางแปลงมาฉายมากกว่า 1 จอ ซึ่งจำนวนจอหนังที่นำมาแสดงนั้น นอกจากจะยิ่งสร้างความครึกครื้นให้กับงานแล้ว ยังถือเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความมีหน้ามีตาของเจ้าภาพ ปัจจุบันโรงหนังกลางแปลงยังมีให้เห็นบ้างตามพื้นที่ชนบทหรืองานมหรสพในหมู่บ้านต่างๆ
- โรงหนังควบ
โดยปกติพฤติกรรมการเข้าชมภาพยนตร์ใน "โรงหนัง" ทั่วไปจะมีการขายตั๋วแบบ 1 ตั๋วต่อหนัง 1 เรื่อง และภาพยนตร์ที่ถูกเลือกเข้ามาฉายในโรงหนังสมัยใหม่ก็มักจะเป็นเรื่องมาใหม่ล่าสุด หรือเป็นหนังที่มาแรงอยู่ในกระแส ณ ช่วงเวลานั้นๆ ขณะเดียวกันหนังที่ตกกระแสไปแล้วมักจะไปแฝงอยู่ตามโรงหนังควบ
โรงหนังควบมีระบบการขายตั๋วคือ เมื่อลูกค้าซื้อตั๋วราคา 60 บาท ก็สามารถเข้าไปดูหนังได้ไม่จำกัดเวลา หนังที่ฉายก็จะมีสองหรือสามเรื่อง ฉายวนไปตลอดเวลาทำการ 11.30 – 21.00 น. ทำให้การดูหนังที่โรงหนังควบนั้นมีราคาถูกกว่าโรงหนังทั่วไป และมีเอกลักษณ์ที่จดจำ ในขณะเดียวกันโรงหนังควบบางแห่งก็ถือเป็นแหล่งพบปะของบรรดากลุ่ม LGBT ไปโดยปริยาย โดยโรงหนังควบที่ยังคงเปิดฉายในปัจจุบันมีไม่กี่แห่ง หนึ่งในนั้นคือ ไชน่าทาวน์รามา
- โรงหนังกลางทะเล เกาะยาวน้อย
โรงหนังลอยน้ำถูกจัดขึ้นในเทศกาล "Film on the Rocks” ที่เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา โดยสถาปนิกชาวเยอรมัน "โอเล่ ชีเรน" (Ole Scheeren) ซึ่งเป็นเทศกาลที่เน้นในเรื่องของภาพยนตร์และศิลปะโดยเฉพาะ
โดยรูปแบบของการฉายหนังจะมีลักษณะเหมือนการจัดแสดงหนังกลางแปลง โดยมีจอหนังที่ตั้งตระหง่านอยู่ระหว่างหินผาสูง ตามด้วยการจัดพื้นที่โซนที่นั่งคนดูในลักษณะที่เป็นแพไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งบนแพจะมีเบาะโฟมให้ผู้ชมได้เอนหลังนอนชมภาพยนตร์ได้อย่างสบายตัว ที่สำคัญคือ จะมีการฉายภาพยนตร์เฉพาะในตอนกลางคืนเท่านั้น