จาก 'ลิงเก็บมะพร้าว' ชวนส่องสัตว์ทักษะสูง ที่ถูกฝึกมาช่วยงานมนุษย์
เมื่อมะพร้าวไทยถูกแบนเพราะใช้แรงงาน "ลิงเก็บมะพร้าว" แต่รู้หรือไม่? นอกจากลิงเก็บมะพร้าว โลกเรายังมี หมูดมเห็ดทรัฟเฟิล นกหาปลา และ “หนู” ดมระเบิด!!
เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าบรรดาซูเปอร์มาเก็ตในสหราชอาณาจักรสั่งแบนน้ำมะพร้าวและน้ำมันมะพร้าวและนำออกจากชั้นวาง หลังพบว่าแหล่งที่มาของมะพร้าวนั้นมาจากการใช้แรงงาน "ลิงเก็บมะพร้าว" โดยลิงเหล่านั้นถูกจับมาจากป่าและนำมาฝึกฝนเพื่อเก็บมะพร้าววันละถึง 1,000 ลูก
องค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (PETA) ระบุว่าลิงกังในประเทศไทยได้รับการปฏิบัติเหมือน “เครื่องเก็บมะพร้าว” และเรียกร้องไม่สนับสนุนการใช้แรงงานลิงด้วยการไม่ซื้อผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย
ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ออกโรงชี้แจงถึงวิถีชีวิตชาวบ้านของคนไทยและสังคมไทยต่อ "ลิงเก็บมะพร้าว" ทั้งนี้ประเทศไทยมีกฎหมายมาตรา 381 และ382 ที่ครอบคลุมถึงการใช้งานและทารุณสัตว์เช่นกัน
มาตรา 381 ผู้ใดกระทำทารุณต่อสัตว์ หรือฆ่าสัตว์โดยได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับมาตรา 382 ผู้ใดใช้ให้สัตว์ทำงานจนเกินสมควร หรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นป่วย เจ็บ ชรา หรืออ่อนอายุ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ถึงอย่างนั้นดราม่า “ลิงเก็บมะพร้าว” ก็ยังคงลุกลามเป็นที่วิพากวิจารณ์กันในโลกโซเชียลอย่างต่อเนื่อง และมีหลายฝ่ายต่างออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างล้นหลามพร้อมยกตัวอย่างการใช้ความสามารถสัตว์ในประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจไม่น้อย เพราะเมื่อลองพิจารณาดูดีๆ ไม่ใช่แค่ไทยที่มีการใช้ความสามารถเฉพาะตัวของสัตว์มาช่วยเอื้ออำนวยการเก็บเกี่ยวผลผลิตบางอย่าง แต่ต้องยอมรับว่าในต่างประเทศก็มีลักษณะแบบนี้อยู่มากมายทั่วโลก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมสัตว์ 5 ชนิดที่ถูกใช้ความสามารถเพื่อประโยชน์ของมนุษย์โดยสามารถสร้างรายได้ไม่แพ้ “ลิงเก็บมะพร้าว” ของไทยเลย
- หมูเก็บเห็ดทรัฟเฟิล
เห็ดทรัฟเฟิล หนึ่งในสุดยอดวัตถุดิบอาหารที่ทั่วโลกต่างยอมรับ มีต้นกำเนิดจากประเทศอิตาลี นอกจากรสชาติอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและราคาที่แสนแพงแล้ว วิธีการเก็บเห็ดทรัฟเฟิลนั้นมีความพิเศษมาก นั่นคือ การอาศัยจมูกของ "หมูตัวเมีย" ในการดมหาเห็ดทรัฟเฟิลจากใต้ดิน สาเหตุที่ต้องเป็นหมูตัวเมียก็เพราะว่าในทรัฟเฟิลมีสารเคมีที่เรียกว่า ฟีโรโมน ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดเดียวกับฮอร์โมนของหมูเพศผู้
การใช้หมูหาเห็ดทรัฟเฟิล เป็นวิธีการที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ในจักรวรรดิโรมัน ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนมาใช้แรงงานของสุนัขแทน แต่ไม่ว่าอย่างไรการจะใช้หมูหรือสุนัขก็ต้องล้วนฝึกฝนเพื่อภารกิจตามหาเห็ดทรัฟเฟิลไม่ต่างกัน
ทั้งนี้ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวในประเทศไทย ทำให้อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ได้แสดงความคิดเห็นเชิงเปรียบเทียบว่า ลิงไทยเก็บมะพร้าว และหมูฝรั่งเก็บเห็ดทรัฟเฟิลเป็นวิถีทางวัฒนธรรมที่ควรเคารพ ไม่ควรเหยียดวัฒนธรรมกัน
- หมาลากเลื่อนขั้วโลกเหนือ
เอกลักษณ์ของการท่องเที่ยวขั้วโลกเหนือนอกจากการชมหิมะทอดยาวบนเทือกเขาแล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจก็คือการนั่งรถลากเลื่อนโดยใช้ "สุนัขไซบีเรียน ฮัสกี้ (Siberian Husky)"
หมาลากเลื่อนจัดอยู่ในกลุ่มสปิตซ์ (Spitz-type) ที่มีลักษณะขนหนา หูสั้นตั้ง มีกล้ามเนื้อ หางฟูเป็นพวง ทั้งนี้การลากเลื่อนโดยสุนัขสามารถทำเงินให้เจ้าของขั้นต่ำเดือนละ 20,000 บาท ไม่ใช่แค่เฉพาะขั้วโลกเหนือเท่านั้นเพราะกิจกรรมลากเลื่อนโดยสุนัขก็ได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน
- หนูดมระเบิดในแอฟริกา
ประสาทการรับรู้ที่ฉับไวทำให้กองทหารในแอฟริกาฝึกหนูเพื่อดมหาระเบิด โดยหนูเหล่านี้สามารถสำรวจพื้นที่อันตรายได้ใน 20 นาที ขณะที่มนุษย์ต้องใช้กว่า 5 วัน
ปัจจุบันกองทหารมีการฝึกหนูเพื่อดมหาระเบิดในหลายประเทศเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดที่สุดคือประเทศกัมพูชาที่ฝึกกองทัพหนูให้ดมกลิ่นหากับดักระเบิดที่ยังหลงเหลือจากช่วงเกิดสงคราม สำนักข่าว FRANCE24 รายงานว่าเมื่อปี 2015 ทางการประเทศกัมพูชาได้นำเข้าหนูจากประเทศแทนซาเนีย ที่ตั้งอยู่ในแถบทวีปแอฟริกา มาฝึกในปฏิบัติการดมกลิ่นหาทุ่นระเบิดที่ยังหลงเหลือในพื้นที่เกิดสงครามแบ่งแยกดินแดน
ทีมดังกล่าวประกอบไปด้วยหนูที่นำเข้ามาทั้งสิ้น 15 ตัว มีน้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 1.2 กิโลกรัม ถูกส่งเข้ามาจากประเทศแทนซาเนียเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชนประเทศเบลเยียม ที่ช่วยฝึกกองทัพหนูให้มีทักษะการดมกลิ่นที่ดีเยี่ยม
โดยหนูพวกนี้ถูกอ้างว่าเคยประสบความสำเร็จในการดมหาระเบิดมาแล้ว อีกทั้งยังสามารถดมหาเชื้อวัณโรคได้ดีในบางประเทศของแถบแอฟริกาอย่าง แทนซาเนีย, โมซัมบิก และแองโกลา
- กราวด์ฮอกพยากรณ์อากาศ
ประเทศสหรัฐอเมริกามีประเพณีเก่าแก่ที่เรียกว่า “กราวด์ฮอกเดย์” จัดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำนายสภาพดินฟ้าอากาศด้วยการสังเกตพฤติกรรมของตัวกราวด์ฮอก
กราวด์ฮอก (Groundhog) เป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกับตัวตุ่น โดยการพยากรณ์อากาศจากความสามารถของเจ้าตัวนี้ก็คือให้ยึดหลักที่ว่าหากกราวด์ฮอกโผล่ออกจากโพรง และทิ้งโพรงไปในทันที ทำนายว่าฤดูหนาวใกล้จะสิ้นสุดและฤดูใบไม้ผลิกำลังจะมา แต่ถ้ามันโผล่ออกมาแล้วเห็นเงาตัวเองก็แปลว่าฤดูหนาวจะยาวนานต่อไปอีก 6 สัปดาห์ ทั้งนี้จากข้อมูลของ groundhog.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของงานประเพณีนี้ระบุว่า การทำนายของตัวตุ่นเชื่อถือได้และมีความแม่นยำถึง 100%
- จับปลาด้วยนกกาน้ำ
การเลี้ยงนกกาน้ำให้จับปลาเป็นหนึ่งในธรรมเนียมการจับปลาของญี่ปุ่น ซึ่งมีการจดบันทึกว่าการจับปลาแบบนี้มีมาประมาณ 1,500 ปีก่อน ชาวประมงที่ถูกเรียกว่า Ushou (อุโชว คนที่บังคับนกกาน้ำให้จับปลา) จะคอยควบคุมเชือกที่ผูกกับคอนกกาน้ำ 5-10 ตัว และที่คอของนกกาน้ำจะถูกเชือกพันไว้ ถึงแม้ว่านกจะอยากกลืนกินปลาสักแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถทำได้ถ้าปลาตัวนั้นใหญ่เกินกว่าความกว้างในลำคอที่ถูกกำหนดไว้
ปัจจุบันวิธีการทำประมงแบบนี้ลดน้อยลงไปตามกาลเวลา แต่ในญี่ปุ่นยังคงมีการอนุรักษ์ประเพณีนี้เอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น เมืองเซะกิ จังหวัดกิฟุ มีประเพณีการจับปลาอะยุที่แม่น้ำนะงะระ โดยเป็นประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 1,500 ปีแล้ว เรียกว่า “เทศกาลอุไก” จะมีในระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม-15 ตุลาคม ของทุกปี
เรื่องของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ศีลธรรม และธุรกิจถือเป็นเรื่องอ่อนไหว ยังมีมุมมองอีกหลายด้านที่ต้องศึกษารายละเอียดในทุกมิติให้ดี ดังนั้นการออกกฎหมายหรือการแบนสินค้าบางประเภทอาจจะต้องมีการลงความเห็นอย่างหลากหลายก่อนที่จะด่วนสรุปอะไรลงไป