จ่าย 'เหรียญ' ต้องรู้! ใช้แค่ไหน ถึงไม่ผิดกฎหมาย
เปิดข้อกำหนดของการจ่ายหนี้ด้วย 'เหรียญ' ชนิดต่างๆ ตามกฎหมายที่ผู้ใช้เหรียญต้องรู้!
ช่วงวิกฤติ "โควิด-19" ทำให้ใครหลายๆ คนที่ได้รับผลกระทบหลายมิติ งานชะลอ เงินเดือนถูกลด หรือยิ่งไปกว่านั้นคือ หลายคน "ตกงาน" ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่บางคนอาจจำต้อง "ทุบกระปุก" นำเงินออมที่มีอยู่ออกมาใช้ จ่ายเพื่อเสริมสภาพคล่อง และประหยัดที่สุดเท่าที่จะทำได้
"เหรียญกษาปณ์" หรือ "เหรียญ" ชนิดต่างๆ ที่หลายคนเก็บสะสมไว้จากการใช้จ่าย ผันตัวเองจาก "เศษเงิน" มาเป็น "ตัวช่วย" แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในระยะนี้ได้
ทว่าการจ่ายหนี้ หรือชำระค่าสินค้าต่างๆ ด้วยเหรียญ มีข้อกำหนดทางกฎหมายไว้อย่างชัดเจน ว่าเหรียญชนิดใด สามารถรวมกันเพื่อจ่ายได้ไม่เกินเท่าไรบ้าง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ธปท. เผยค่ารับฝากเหรียญแบงก์พาณิชย์
- 'หวย' กับดักความมั่งคั่ง เปิด 2 ทางเลือกเปลี่ยน 'ค่าหวย' เป็น 'เงินออม'
- รัฐเตรียมแจกเงิน 3,000 รีบโหลด 'เป๋าตัง' พร้อมเช็คฟีเจอร์เด่น
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมข้อมูลจาก "กรมธนารักษ์" ชัดๆ ว่าปัจจุบัน กฎหมายกำหนดให้เราสามารถใช้เหรียญได้ไม่เกินเท่าไรบ้าง โดยข้อมูลจากกรมธนารักษ์ ณ วันที่ 9 ก.ค.63 ระบุว่า ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เราสามารถชำระหนี้ด้วยเหรียญได้ตามกฎหมาย แต่มีข้อกำหนดที่สำคัญ ประกอบด้วย
- เหรียญ 25, 50 สตางค์
เหรียญ 25 หรือเหรียญ 50 สตางค์ ชำระหนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 10 บาท (เหรียญ 25 สตางค์ล้วนจำนวนไม่เกิน 40 เหรียญ และเหรียญ 50 สตางค์ล้วนจำนวนไม่เกิน 20 เหรียญ)
- เหรียญ 1 บาท
เหรียญ 1 บาท ชำระหนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 500 บาท (เหรียญ 1 บาทล้วน จำนวนไม่เกิน 500 เหรียญ)
- เหรียญ 5 บาท
เหรียญ 5 บาท ชำระหนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 500 บาท (เหรียญ 5 บาทล้วน จำนวนไม่เกิน 100 เหรียญ)
- เหรียญ 10 บาท
เหรียญ 10 บาท ชำระหนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท (เหรียญ 10 บาทล้วน จำนวนไม่เกิน 100 เหรียญ)
ทั้งนี้ จุดประสงค์ของการกำหนดจำนวนเหรียญที่ใช้ชำระแต่ละครั้งตามข้างต้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกลั่นแกล้งกัน เช่น กรณีที่มักมีข่าวคราวออกมาให้เห็นบ่อยๆ ว่ามีการขนเหรียญจำนวนมากเพื่อจ่ายค่าปรับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำให้จ่ายเจ้าหนี้ ฯลฯ จนมีข้อถกเถียงขึ้นมาบ่อยครั้งเมื่อถูกปฏิเสธการรับ ซึ่งหากมีการใช้เหรียญชำระหนี้ต่างๆ ในจำนวนที่เกินจากที่กฎหมายกำหนด ผู้รับมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย
มีเหรียญเยอะมาก ทำอย่างไรดี?
ในกรณีที่ออมเงินไว้เป็นเงินเหรียญจำนวนมาก สามารถ "ฝากเงิน" ที่ธนาคารต่างๆ ก่อนถอนออกมาชำระหนี้ หรือชำระหนี้กับธนาคารได้โดยตรง โดยอาจมีค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละธนาคาร เนื่องจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาตให้ธนาคารสามารถคิดค่าบริการการฝากเงินเหรียญได้ เนื่องจากการบริการเหล่านี้มีต้นทุนในการปฏิบัติงาน และใช้เวลาในการนับเหรียญ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีการประกาศให้ลูกค้ารับทราบโดยชัดเจน
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวมตัวอย่างค่าธรรมเนียมการฝากเรียนแบงก์ใหญ่ 6 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ก.ค.63) ดังนี้
1. เพื่อแลกเป็นธนบัตร รวมถึงการฝากเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม 1% ของจำนวนเงิน เศษของร้อยไม่คิด ทั้งนี้ ต้องไม่ต่ำกว่า 10 บาท
2. เพื่อฝากเงินเข้าบัญชี ไม่เกิน 3,000 บาท ไม่คิดค่าธรรมเนียม ส่วนที่เกินกว่า 3,000 บาท คิด 1% ของจำนวนเงินส่วนที่เกิน เศษของร้อยไม่คิด ทั้งนี้ ต้องไม่ต่ำกว่า 10 บาท
- ธนาคารกสิกรไทย
- กรณีนำฝากเหรียญเข้าบัญชีบุคคลธรรมดาทั่วไป หากทำการฝากผ่านสาขาที่อยู่ในเขตเดียวกันกับสาขาที่เปิดบัญชี
นำฝากไม่เกิน 500 เหรียญไม่มีค่าธรรมเนียมการฝาก หากนำฝากตั้งแต่ 501 เหรียญขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียม 1% ของมูลค่ารวม ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 20 บาท หรือตามแต่ที่ได้มีการทำสัญญากับธนาคารไว้ โดยแนะนำให้คัดแยกประเภทเหรียญเพื่อความรวดเร็วในการรับบริการ เช่น เหรียญ 1 บาทถุงละ 100 , เหรียญ 5 บาทถุงละ 100 เป็นต้น
- กรณีนำฝากเหรียญข้ามเขตสำนักหักบัญชี
จะคิดค่าธรรมเนียมฝากเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารโดยมีค่าธรรมเนียม 0.10% ของจำนวนเงินฝาก ต่ำสุด 10 บาท และมีค่าบริการ 20 บาท/รายการ และหากนำฝากตั้งแต่ 501 เหรียญขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียมการนับเหรียญ 1% ของมูลค่ารวม ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 20 บาท หรือตามแต่ที่ได้มีการทำสัญญากับธนาคารไว้
- ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน ยังคงเปิดให้บริการ "เครื่องฝากเหรียญ" อัตโนมัติ เฉพาะวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 9.00 น.-17.00 น. หยุดวันเสาร์ , วันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ สำหรับเครื่องรับฝากสามารถใช้งานได้สูงสุด วันละ 5,000 บาท/ครั้ง/วัน เท่านั้น หากต้องการฝากมากกว่า 5,000 บาท จะต้องใช้บริการที่สาขา ซึ่งการฝากเงินตั้งแต่ 200 เหรียญขึ้นไป อัตราค่าบริการ 2% ของจำนวนรวมมูลค่าเหรียญ
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
กรณีที่การฝากหรือแลกเงินแต่ละครั้งมีจำนวน 100 เหรียญขึ้นไป จะมีค่าบริการ 2% ของมูลค่าที่ฝากหรือแลก ถ้าจำนวนเหรียญไม่เกิน 100 เหรียญ จะไม่มีค่าธรรมเนียม โดยสามารถติดต่อทำรายการได้ทุกสาขา
- ธนาคารกรุงไทย
ค่าธรรมเนียมการรับฝากเหรียญคิด 1% ของมูลค่าเหรียญที่นำฝาก โดยเรียกเก็บเมื่อนำฝากเข้าเลขที่บัญชีเดียวกันภายในคราวเดียวกัน หรือในหนึ่งวันรวมกันเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ฝากเหรียญไม่เกิน 2,000 บาท ไม่คิดค่าธรรมเนียม เกิน 2,000 บาท คิดค่าธรรมเนียม 1%
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการฝากเหรียญ หรือแลกเหรียญควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากธนาคารผู้ให้บริการโดยตรง เนื่องจากข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
นอกการฝากเงินด้วยเหรียญ หรือชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ธนาคารแล้ว ยังมีช่องทางของ "กรมธนารักษ์" ในกรณีที่มีเหรียญจำนวนมาก สามารถติดต่อขอแลกเหรียญได้ที่ สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์ โทร. 0 2273 0899 ต่อ 903
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมหรือพบธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธรับฝากเหรียญ สามารถสอบถามรายละเอียดและร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทรหมายเลข 1213 และ อีเมล [email protected] พร้อมระบุรายละเอียดประกอบการร้องเรียน ประกอบด้วย
- ชื่อ-นามสกุลจริง ของผู้ร้องเรียน
- ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ ที่สามารถติดต่อได้
- สำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
- รายละเอียดในการร้องเรียน
- เอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ที่มา: money.kapook กรมธนารักษ์ ilaw