ไม่รวย ก็ 'หรู' ได้! เปิดไลฟ์สไตล์ 'เช่า' ของหรู พร้อมตอบคำถาม.. คุ้มกว่าซื้อจริงไหม !?
ส่อง 3 ธุรกิจหรู เช่ารถ มือถือ กระเป๋าแบรนด์เนม ที่โตรับความต้องใช้สินค้าแบบไม่ต้องการครอบครอง ช่วยเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการใช้ หรือต้องการโชว์ ได้ใช้สินค้าที่ชอบแบบไม่ต้องควักเงินก้อนโต
#ของมันต้องมี กลายเป็นข้ออ้างตลกร้ายที่ใครๆ หลายคนหยิบขึ้นมาใช้เมื่ออยากได้ของบางอย่างที่ไม่จำเป็นตามกระแสทุนนิยม โชว์ความหรูหราบนโลกโซเชียลที่สะท้อนว่า "ชีวิตดี" จนน่าอิจฉา
ไลฟ์สไตล์ใช้ของหรู อยู่สบาย มีไลฟ์สไตล์คล้ายเซเลบ กลายเป็นกระแสนิยมที่มีส่วนทำให้ "หนี้เสีย" ของสินเชื่อส่วนบุคคล หรือ NPL ที่เกี่ยวเนื่องไปถึง "หนี้ครัวเรือน" ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แต่หากมองในมุมธุรกิจ พฤติกรรมลักษณะนี้พลิกกลายเป็นมูลค่าของธุรกิจได้ โดยเฉพาะ ธุรกิจเช่าสินค้าหรู ที่ตอบโจทย์คนขี้เบื่อ อยากเปลี่ยนของใช้บ่อย ออกงานถี่ หรือมีความจำเป็นต้องใช้เป็นครั้งคราว
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" หยิบกลุ่มธุรกิจให้บริการเช่าของหรู 3 ประเภทให้เห็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับการเช่า ที่อาจมาแรงในยุคที่ใครๆ ก็ต้องรัดเข็มขัด ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว และได้รับผลกระทบจากวิกฤติ "โควิด-19" ที่ยากจะประเมินความเสียหาย
- ธุรกิจเช่ารถ และรถหรู
ธุรกิจเช่ารถ เป็นธุรกิจที่ทำกันอย่างแพร่หลายในบ้านเรามาหลายสิบปี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้รถในสถานการณ์ต่างๆ แบบไม่ต้องมีภาระผูกพันในระยะยาวเหมือนกับการซื้อรถใช้เอง เช่น ผู้บริหารที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย การเช่ารถเที่ยวในต่างจังหวัด ฯลฯ
การเช่ารถมีตั้งแต่รถจักรยานยนต์ รถยนต์รุ่นต่างๆ สารพัดแบรนด์ โดยมีค่าบริการเฉลี่ยรายวันตั้งแต่หลักพันบาท ไปจนถึงราว 10,000 บาทต่อวัน หรือมีการเช่ารายเดือนตั้งแต่ 10,000 บาทไปถึงราว 100,000 บาทต่อเดือน
โดยนอกจากการเช่ารถยนต์แล้ว สำหรับคนที่ขับรถไม่เป็น หรือคนที่ต้องการคนขับรถ ปัจจุบันยังมีบริการให้เช่ารถพร้อมคนขับทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะมีอัตราค่าบริการที่เพิ่มขึ้น แต่ได้รับความสะดวกสบายระดับผู้บริหาร
สิ่งที่น่าสนใจคือ "รถหรู" และ "รถสปอร์ต เป็นประเภทรถที่ได้รับความนิยมในการ "เช่าขับ" แม้จะมีราคาค่าเช่าเฉลี่ยที่ค่อนข้างสูง โดยจุดประสงค์ของผู้เช่า คือ การสร้างภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ
นอกจากสภาพทางเศรษฐกิจแล้ว ปัจจุบันยังมีสถานการณ์ของการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนเริ่มรู้สึกวิตกกังวลต่อการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้คนมองหาการเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และไม่เป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายมากเกินไปในยุคที่ยากจะคาดเดาเช่นนี้
สร้างรายได้จากการให้เช่ารถส่วนตัว
ศิลป์รัฐ สุขวัฒนศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดร์ฟเมท จำกัด มองว่าในสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยจากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้คนต้องการลดภาระค่าใช้จ่าย แต่ยังมีความต้องการในการใช้งานรถยนต์อยู่ "รถเช่า" จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีเงินดาวน์ ไม่ต้องผ่อนชำระระยะยาว ไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องเสียภาษีรถยนต์ รวมทั้ง ไม่ต้องจ่ายค่าประกันรถยนต์ และค่าใช้จ่ายการดูแลบำรุงรักษาเป็นภาระผูกพัน
“ในทางกลับกัน สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถที่ไม่ค่อยได้นำใช้งานก็ยังสามารถนำรถมาสร้างรายได้ ด้วยการลงทะเบียนเป็นรถเช่ากับทางไดร์ฟเมท จากการศึกษาเราพบว่า ผู้มีรถยนต์จะใช้รถเฉลี่ยวันละเพียง 5 ชั่วโมง อีก 19 ชั่วโมงถูกจอดทิ้งไว้ จึงสามารถนำรถยนต์มาสร้างรายได้แทนที่จะถูกจอดทิ้งไว้เฉยๆ โดยเรามีเงื่อนไขเพียงเป็นรถที่ต้องมีอายุไม่เกิน 7 ปี มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน”
"เช่ารถ" คุ้มกว่าซื้อ?
ในกรณีของการเช่ารถยนต์รวมถึงการเช่ารถหรูใช้ในบางครั้งคราว สำหรับคนที่ต้องการขอสินเชื่อรถยนต์ที่ราคาสูงจำเป็นต้อง เครดิตทางการเงินที่สูงตามไปด้วย
เปรียบเทียบการเช่ารถยนต์ TOYOTA YARIS ใช้ประมาณเดือนละ 20,000 บาทต่อเดือน มีค่ามัดจำประมาณ 5,000 บาทในขณะที่การผ่อนชำระรถยนต์รุ่นเดียวกัน รุ่นต่ำสุดมีราคา 539,000 เลือกเวลาเช่าซื้อเป็นระยะเวลา 48 เดือน มีดอกเบี้ย 5% วางเงินดาวน์ 20% (คิดเป็น 107,800) ต่อปี
เท่ากับว่า ในแต่ละเดือนคนที่ซื้อรถเองจะต้องจะต้องผ่อนค่างวดต่อเดือน (รวม VAT แล้ว) เป็นจำนวน 10,780 บาทต่อเดือน โดยยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าประกันภัยรถยนต์ ค่าน้ำมัน ฯลฯ และต้องจ่ายต่อเนื่องทุกเดือนจนครบ 48 ปี
จากตัวเลขข้างต้นจะเห็นได้ว่าการเช่ารถและซื้อรถมี ข้อดี คือไม่ต้องบำรุงรักษาของด้วยตัวเอง ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากซื้อสินค้านั้นๆ เต็มมูลค่า มีโอกาสกระทบสุขภาพทางการเงินน้อยกว่าในระยะยาว
ขณะเดียวกันข้อด้อย คือต้องใช้ระมัดระวังอย่างสูง เพราะจะต้องรับผิดชอบ ในกรณีชำรุด เสียหาย ตามที่ผู้ให้บริการกำหนด
และเสียเงินไป โดยไม่ได้ของชิ้นนั้นๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง
ดังนั้น จึงไม่มีคำตอบที่ตายตัวว่า การเช่ารถใช้ ประหยัดกว่าการซื้อรถเสมอไป เนื่องจากขึ้นอยู่กับความสะดวก และเป้าหมายในการใช้งานและการวางแผนการเงินของแต่ละคน
- ธุรกิจเช่ากระเป๋าแบรนด์เนม
ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน "กระเป๋าแบรนด์เนม" สินค้าเฉพาะกลุ่ม High Society เงินหนา แต่ปัจจุบันกระเป๋าหรูแบรนด์ดังราคา 6 หลัก กลายเป็นเป้าหมายการให้รางวัลชีวิต ของสาวๆ วัยทำงานทั่วไปเสียแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากคุณภาพของสินค้าแบรนด์เนมที่สร้างความเชื่อมั่นว่า สามารถใช้งานได้นาน ยังมีภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ทำให้ผู้ใช้ดูเป็นคนมีระดับ หรือดู "รวย" ในสายตาคนที่พบเห็น จนทำให้มูลค่าของกระเป๋าต่างๆ กลายเป็นคุณค่าที่หลายคนอยากเป็นเจ้าของ
แต่กระเป๋าราคาหลักแสน ไม่ใช่เงินที่ทุกคนจะสามารถจับจ่ายกันได้ง่ายๆ สวนทางกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ "ให้เช่ากระเป๋าแบรนด์เนม" ที่เจาะตลาดคนที่ต้องการใช้กระเป๋าแบรนด์เนมเพื่อจุดประสงค์บางอย่างได้แบบไม่ต้องลงทุนซื้อเอง
อรรณฌลีธ์ พงษ์สุขถาวร เจ้าของเว็บไซต์แบ็กทูบอร์โรว์ (bagtoborrow.com) ผู้ให้บริการเช่ากระเป๋าแบรนด์หรูรายหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ในบทความของโพสต์ทูเดย์ มีใจความตอนหนึ่งว่า
"ลูกค้าบางคนเราแปลกใจว่าเขาเงินเดือนเยอะแต่ทำไมมาเช่า ลูกค้าให้เหตุผลว่า เขาเป็นคนขี้เบื่อ ซื้อมาหนึ่งใบต้องทนใช้ไปนาน แต่ถ้าเช่า สามารถเปลี่ยนได้หลายๆ ใบ อย่างลูกค้าบางคน มาเช่ากระเป๋าเพื่อให้เข้ากับชุดเวลาไปร่วมงานแต่งงาน หรืองานปาร์ตี้
แต่สำหรับลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่มีรายได้จำกัด แต่นิยมถือกระเป๋าแบรนด์เนมแท้ ก็มาขอต่อรองราคามัดจำ เช่น มัดจำ 4 หมื่น แต่ขอต่อรองขอมัดจำครึ่งหนึ่งของกระเป๋า เพราะวงเงินบัตรของเขามีจำกัด ส่วนใหญ่ลูกค้าที่มีรายได้ดีกับรายได้จำกัดจะมีจำนวนครึ่งต่อครึ่ง เช่น พนักงานบริษัท หรือนักศึกษา เป็นต้น"
เช่ากระเป๋าคุ้มกว่าซื้อ?
หากจะเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการเช่ากระเป๋าแบรนด์เนมเป็นครั้งคราวกับการจ่ายเงินแสนซื้อกระเป๋า 1 ใบ แน่นอนว่าเราจะเสียเงินน้อยกว่ากันเกือบ 10 เท่าตัว เช่น เช่ากระเป๋าคลัชท์สำหรับออกงาน แบ่งเป็นเช่า 3-5 วัน ราคา 1,000-2,500 บาท เช่า 1 เดือน ราคา 5,000-10,000 บาท ขึ้นอยู่กับรุ่นของกระเป๋า แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือสภาพคล่องของตัวเอง เนื่องจากส่วนใหญ่ จะต้องมัดจำเงินไว้กับทางร้านเท่ากับราคากระเป๋า
เว็บไซต์ reviewchiangmai ได้ยกตัวอย่างวิธีการเช่ากระเป๋าจากร้านเช่ากระเป๋าแบรนด์เนมแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ คือการใช้บัตรประชาชนตัวจริงและเงินค่าประกันกระเป๋าเท่ากับราคากระเป๋าจริง โดยทางร้านจะหักเงินค่าเช่าจากเงินประกัน แล้วจ่ายส่วนที่เหลือให้ตอนคืนกระเป๋า ซึ่งจะมีสัญญาเรื่องข้อตกลงต่างๆ ทั้งเรื่องการดูแลรักษาความสะอาดกระเป๋า ฯลฯ ให้เซ็นก่อนทำการเช่าด้วย
หมายความว่า หากต้องการเช่ากระเป๋าแบรนด์เนม จะต้องมีเงินเท่ากับราคากระเป๋าแบรนด์เนมใบนั้นๆ เพียงแต่เงินก้อนนั้นจะหายไปเฉพาะค่าเช่า และได้รับเงินส่วนอื่นคืนกลับมา
เมื่อพูดถึงความประหยัดแน่นอนว่าการเช่ากระเป๋าเสียเงินน้อยกว่าซื้อ แต่สิ่งที่แตกต่างคือความรู้สึกที่ได้รับ เพราะสายแฟ ผู้หลงใหลในกระเป๋าแบรนด์เนมต่างก็อยากที่จะมีกระเป๋าเป็นสมบัติส่วนตัว ซึ่งเป็น ความสุขทางใจ มากกว่าการใช้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว หรือมากไปกว่านั้นคือกระเป๋าแบรนด์เนมบางรุ่น บางแบรนด์ เมื่อเวลาผ่านไปอาจกลายเป็นแรร์ไอเทม ที่มีมูลค่าที่สูงขึ้น ซึ่งคล้ายกับการลงทุนในของสะสมที่มีทั้งมูลค่าและคุณค่า(ทางใจ) ในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากความชอบ และความสุขทางใจแล้วสิ่งที่ควรคำนึงถึง ณ เวลาที่ต้องการซื้อกระเป๋าหรือเช่ากระเป๋าหรูสักใบ คือ "กำลังทรัพย์" และ "สภาพคล่อง" ของตัวเองเพื่อไม่ให้ความสุขกลายเป็นความทุกข์ในภายหลัง
- ธุรกิจเช่ามือถือ
ในวันที่ "สมาร์ทโฟน" สำคัญกับชีวิตประจำวันของมนุษย์จนกลายเป็นอวัยวะหนึ่งของคนเราไปแล้ว แถมยังมีส่วนช่วยต่อยอดธุรกิจได้ในมิติต่างๆ ความต้องการใช้โทรศัพท์มือถือรูปแบบนี้จึงขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
"ธุรกิจเช่ามือถือ" จึงงอกขึ้นมารองรับความต้องการเหล่านี้ เพื่ออุดเพนพ้อยต์ของคนที่ไม่สามารถซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่มักจะอัพเดทซอฟต์แวร์ใหม่ จนเครื่องรุ่นเก่าไม่ได้ไปต่อ บางคนอาจมีความจำเป็นต้องใช้แค่ในระยะสั้นๆ หรือแม้แต่คนที่อยากเปลี่ยนรุ่นโทรศัพท์บ่อยๆ แบบไม่มีพันธะ ก็สามารถใช้บริการเหล่านี้ได้เช่นกัน ซึ่งการให้เช่ามือถือมีทั้งแบบระยะสั้น ระยะยาวหรือมีแพคเกจอินเทอร์เน็ตต่างๆ ติดมาช่วยอำนวยความสะดวกไว้ในคราวเดียว
ตัวอย่างบริการให้ยืมมือถือของ บริษัท ยืมมั้ย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการยืม โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับองค์กร และบุคคลทั่วไป จะมีลักษณะการเป็นการชำระค่าใช้จ่ายรายปี คิดราคาต่อเดือนขึ้นอยู่ราคากับสินค้า โดยแบ่งเป็นค่าบริการ และค่ามัดจำ ซึ่งค่ามัดจำจะมีส่วนของประกันที่ครอบคลุมกรณีจอแตก ตกน้ำ เครื่องเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ โดยมีสัญญา 12 เดือน ไม่สามารถยกเลิกได้ก่อนได้
เช่ามือถือ คุ้มกว่าซื้อจริงไหม?
Money Buffalo คำนวณค่าบริการแอพพลิเคชั่น "ยืมมั้ย" สำหรับบุคคลทั่วไป โดยทดลองคำนวณจาก iPhone XS Max ความจุ 64 GB (ก.ย.62) ถ้าเราซื้อเครื่องเปล่าจาก AIS จะตกเครื่องละ 40,900 บาท ผ่อน 0% 10 เดือนก็จะตกเดือนละ 4,090 บาท ต่อเดือน แต่หากยืมกับ "ยืมมั้ย" 1 ปี จะต้องจ่าย 38,880 บาท (รวมค่ามัดจํา) แต่เมื่อใช้งานครบ 1 ปี จะได้เงินมัดจํา 15,000 บาทคืน หมายความว่าการยืม iPhone XS Max ความจุ 64 GB จะใช้เสียเงินไป 23,880 ต่อปี
ถึงแม้จะราคาต่ำกว่าราคาเครื่อง แต่เราจะมีโอกาสอยู่กับมือถือเครื่องเดิมเพียง 1 ปี และไม่ได้โทรศัพท์เครื่องนั้นมาเป็นของตัวเอง และต้องโอนย้ายข้อมูลบ่อยๆ ฉะนั้นจึงเหมาะกับคนที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่ทุกๆ ปี หรือต้องการใช้ชั่วคราวมากกว่า
การเช่าโทรศัพท์มือถือจึงตอบโจทย์สำหรับคนขี้เบื่อตัวจริง และองค์กรต่างๆ มากกว่าการใช้เป็นของส่วนตัว ซึ่งปัจจุบันมีบริการเช่าโทรศัพท์สำหรับองค์กร ที่เอาไว้ใช้สำหรับออกงานอีเวนท์ นำเสนองานกับลูกค้า เป็นมือถือประจำตำแหน่งของผู้บริหารหรือพนักงาน เทสเกมส์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับองค์กรที่สามารถบริหารจัดการได้โดยไม่ต้องดูแลรักษาเอง ตรวจสอบง่าย และสามารถเปลี่ยนเครื่องได้เมื่อใช้ครบตามกำหนดสัญญาด้วย
อ้างอิง: Money Buffalo prachachat mgronline ibusiness posttoday reviewchiangmai ยืมมั้ย