'โควิด' ติดทางอากาศ น่าเป็นห่วงกว่าระบาดรอบสอง
เปิดข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์โลก 'โควิด-19' น่าจะถ่ายทอดกันทางอากาศได้ พร้อมคำแนะนำในการป้องกันที่ต้องรัดกุมและครอบคลุมยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นการระบาดระลอกสองอาจหนักหนาสาหัสกว่าที่คิด
ขณะที่คนไทยและคนอีกจำนวนมากทั่วโลกกำลังห่วงเรื่องการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ว่าจะรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตมากน้อยเพียงใด และจะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ วันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีจดหมายเปิดผนึกจากนักวิทยาศาสตร์มากถึง 239 คน ตีพิมพ์ลงในวารสาร Clinical Infectious Diseases (โรคติดต่อทางคลินิก) (doi.org/10.1093/cid/ciaa939) ที่ระบุว่า โควิด-19 น่าจะถ่ายทอดกันทางอากาศ (airborne transmission) ได้
นึกภาพง่ายๆ คือ กระจายได้ โดยลอยไปกับลม และเราก็ติดมันง่ายๆ เหมือนติดหวัด!
ก่อนจะเล่ารายละเอียดลงลึกต่อไป ต้องขยายความคำศัพท์สัก 2-3 คำ ถ้าบอกว่าไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อจากอากาศ (airborne infection) ได้ ก็แปลว่าไวรัสนั้นจะต้องยังคงสภาพ “มีชีวิตอยู่ได้” ในอากาศนานพอที่จะแพร่จากผู้ป่วยติดไปยังคนอื่นได้โดยตรงผ่านทางอากาศที่เราหายใจเข้าไป
ปกติเวลาคนเราหายใจ พูดคุย ร้องเพลง ไอ หรือจาม จะมีละอองฝอยต่างๆ ลอยออกมาจากจมูกและปากได้ ถ้ามีขนาดใหญ่หน่อย คือใหญ่กว่า 5 ไมครอนก็จะเรียกว่า droplet (ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติให้ใช้คำว่า “ละอองเสมหะ” แทน, ศัพท์แพทยศาสตร์ ฉบับ ส.ค. 2544) แต่ถ้าเล็กกว่านี้ ก็ให้เรียกว่า aerosol ที่ราชบัณฑิตยสภาให้ว่า “ละอองลอย”
ละอองเสมหะในแบบแรกนั้น มีขนาดใหญ่และมักจะตกลงพื้นหรือพื้นผิวสิ่งต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว การติดเชื้อจึงเกิดจากการเอามือไปจับพื้นผิวสิ่งต่างๆ แล้วมาโดนตา จมูก หรือปาก ขณะที่ละอองลอยอย่างหลังนั้น มีขนาดเล็กกว่า และลอยเท้งเต้งอยู่ในอากาศได้เป็นนานสองนาน หากไวรัสรอดชีวิตอยู่ในละอองลอยแบบนี้ได้นานๆ ก็จะถือว่าเป็นวิธีการแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพมาก
เวลาพูดถึงหน่วยเล็กๆ อย่างไมครอนหรือไมโครเมตร (หนึ่งในล้านของเมตร) ก็อาจจะนึกภาพตามลำบาก ทั้งละอองเสมหะและละอองลอยต่างก็เล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาทั้งคู่ เพื่อการเปรียบเทียบว่าพวกมันเล็กขนาดไหน เส้นผมของเรามีความกว้างประมาณ 50 ไมครอน และเม็ดเลือดแดงก็เล็กว่านั้นลงไปอีก 10 เท่าคือ 5 ไมครอน ฉะนั้น ขนาดที่ใช้แยก droplet กับ aerosol ออกจากกันก็เล็กกว่าความกว้างเส้นผม 10 เท่าหรือเท่าๆ กับขนาดของเม็ดเลือดแดงนั่นเอง
สำหรับไวรัสต่างๆ นั้น บางชนิดก็ไม่แพร่กระจายผ่านทางอากาศ เพราะตัวใหญ่ หรือหนัก หรือไม่ก็ทนสภาพนอกร่างกายไม่ดี เช่น HIV ที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ ขณะที่บางชนิดก็กระจายไปทางอากาศได้ดี เช่น ไวรัสหัด ที่ลอยละล่องอยู่ในอากาศได้สบายๆ นาน 2 ชั่วโมง ซ้ำยังทำให้ป่วยร้ายแรง จึงถือว่าเป็นไวรัสที่อันตรายมาก
สำหรับไวรัสในกลุ่มโคโรนาไวรัส มีการทดลองที่แสดงว่าสามารถอยู่รอดชีวิตในละอองนอกร่างกายได้ราว 3 ชั่วโมง แม้ว่าจะยังไม่มีการทดลองแบบนี้กับไวรัสก่อโรคโควิด-19 โดยตรงก็ตาม แต่การที่ละอองลอยมีขนาดเล็ก ก็จะทำให้มีจำนวนไวรัสอยู่น้อยลงไปด้วย และการที่เราจะป่วยนั้นจะต้องมีไวรัลโหลด (viral load) หรือจำนวนไวรัสที่รับเข้าร่างกายไปในจำนวนมากพอที่ร่างกายจะกำจัดไม่หมด หรือไม่ทันในเวลาสั้นๆ จึงทำให้มันเพิ่มจำนวนมากขึ้นและทำให้เราป่วยในที่สุด
ในจดหมายเปิดผนึกข้างต้น ระบุการทดลองต่างๆ ในไวรัสหลายชนิดที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ระหว่างการหายใจ พูดคุย และไอ จะมีละอองขนาดจิ๋วๆ แขวนลอยอยู่ในอากาศ ทำให้เสี่ยงที่ผู้ที่อยู่ในระยะห่าง 1-2 เมตรจากผู้ป่วย อาจจะมีโอกาสได้รับเข้าสู่ร่างกายได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในสภาวะความเร็วลมที่หมุนวนอยู่ในห้องแอร์ปิด ละอองขนาด 5 ไมครอนก็อาจลอยละล่องไปได้ระยะทางนับสิบเมตร จึงนับว่าไกลสำหรับห้องออฟฟิศทั่วไปทีเดียว
เมื่อรวมกับการตรวจสอบย้อนหลังในกรณีของการป่วยโควิด-19 ก็มีบันทึกภาพจากภัตตาคารจีนแห่งหนึ่ง ที่ไม่มีการสัมผัสทั้งทางตรงหรือทางอ้อมระหว่างผู้ป่วยกับบุคคลอื่นที่ต่อมาพบว่าติดเชื้อ จึงสามารถใช้เป็นหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะ “ติดต่อกันโดยตรงทางอากาศ” ที่หายใจเข้าไป
ส่วนไวรัสที่ออกมากับการหายใจอย่างเดียว ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ ก็มีหลักฐานจากงานวิจัยในไวรัสหลายชนิด เช่น respiratory syncytia virus (RSV), MERS-CoV และไข้หวัดใหญ่
นอกจากนี้ ยังเคยพบไวรัสชนิด RNA ในละอองขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน และพวกมันยังก่อโรคได้อีกด้วย จึงไม่อาจตัดโอกาสที่ซาร์ส-โควี-2 ต้นเหตุโควิด-19 จะทำแบบเดียวกันได้ทิ้งไป
ภายใต้ความกังวลใจเรื่องอาจติดต่อโรคโควิด-19 ด้วยการหายใจ เราทำอะไรได้บ้าง?
คำแนะนำก็คือ นอกเหนือไปจากการสวมหน้ากาก, การล้างมือบ่อยๆ และการเพิ่มระยะห่างทางกายภาพแล้ว ยังน่าจะต้องเพิ่มมาตรการอีกบางอย่าง หากการติดเชื้อเกิดขึ้นผ่านทางอากาศจริง มาตรการเหล่านี้ได้แก่ สำหรับสถานที่ซึ่งไปอยู่รวมกันมากๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน โรงเรียน โรงพยาบาล หรือบ้านพักคนชรา ฯลฯ ควรจะต้องหาทางทำให้เกิดการไหลผ่านของอากาศสะอาดจากภายนอกให้เข้ามามากขึ้น เปิดประตูและหน้าต่างให้ลมเข้าและออกตลอดเวลาในกรณีที่ทำได้ และหลีกเลี่ยงการหมุนเวียนอากาศภายในสถานที่นั้นๆ
หากทำได้อาจเปลี่ยนตัวกรองอากาศเป็นรุ่นที่ประสิทธิภาพดีขึ้น และใช้แสงยูวีในการฆ่าเชื้อเพิ่มขึ้นมาด้วย แต่แสงยูวีนี่ใช้ฆ่าเชื้อตอนไม่มีคนอยู่ หรือไม่ก็ต้องจำกัดบริเวณเป็นจุดๆ และมีการป้องกัน เพราะทำอันตรายกับร่างกายได้ นอกจากนั้น ยังควรหลีกเลี่ยงสถานที่คนคับคั่ง เช่น ยวดยานขนส่งสาธารณะทั้งหลาย หรือตึกที่ทำการต่างๆ ที่สาธารณชนเข้าไปทำกิจธุระ
มาตรการอื่นๆ ที่อาจทำได้อีกก็คือ การลดเวลาอยู่ในสถานที่ปิดซึ่งอากาศไม่ถ่ายเทกับคนที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวให้เหลือน้อยที่สุด ส่วนบุคลากรการแพทย์ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องใช้หน้ากากแบบ N95 หรือรุ่นที่กรองได้เหนือกว่าเพื่อป้องกันตัวเอง
เรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเป็นห่วงกันก็คือ องค์การอนามัยโลกจะปรับตัวทัน และทำงานได้ไวกว่าหลายๆ กรณีที่ผ่านมา เช่น คำแนะนำเรื่องหน้ากากที่กว่าจะประกาศออกมาให้เป็นมาตรการแนะนำ โรคก็ระบาดไปมากแล้ว เพราะมัวแต่เชื่อตามมาตรฐานตำราระบาดวิทยาเก่าๆ ที่ระบุให้เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้นที่ต้องใส่หน้ากาก)
หากไม่เช่นนั้นแล้ว สถานการณ์เรื่องการระบาดระลอกที่สองที่ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะยิ่งหนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก เพราะมาตรการที่ใช้ไม่เหมาะกับสถานการณ์จริง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ คงต้องรอลุ้นกันต่อไปครับว่า
หลักฐานใหม่ๆ จะสนับสนุนความคิดเห็นนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เพียงใด