'เก็บขยะให้เป็น' แบบ New Normal ช่วยเรา ช่วยโลก
ช่วง 'อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ' หลายคนพึ่งบริการอาหารเดลิเวอรี สั่งเร็วส่งด่วน ทันใจ ถูกใจผู้บริโภค สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ ทว่าผลลัพธ์คือ 'ขยะบรรจุภัณฑ์อาหาร' มากล้นกองเป็นภูเขา กำจัดอย่างไรไม่หมด
นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นจนถึงวันนี้ ปริมาณขยะกล่องอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น 15% ต่อวัน หรือจาก 5,500 ตัน ต่อวัน เป็น 6,300 ตัน ต่อวัน โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เพิ่มมากขึ้น จากมาตรการด้านความปลอดภัย แม้กระทั่งถึงช่วงผ่อนคลาย ร้านค้าก็ยังต้องห่อภาชนะทุกอย่างใส่ถุงพลาสติก
พลาสติก ไม่ใช่ผู้ร้ายแต่เราก็กำจัดมันไม่สิ้นซาก ทุกวันนี้พลาสติกและกระดาษที่ใช้แล้ว เก็บส่งโรงงานรีไซเคิลเพื่อนำไปผลิตใหม่มีปริมาณราว 20% เท่านั้น ที่เหลือก็คือของเสียอยู่รอบตัวเรา
ไม่มีใครอยากสร้างขยะล้นเกิน... แต่ก็มีทางเลือกโดยเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ทำจาก กระดาษ และ พลาสติก PLA ที่ย่อยสลายได้ ผู้ก่อตั้ง Goodwill นำเสนออีโคโพรดักต์ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เพื่อแทนที่พลาสติกจากปิโตรเลียมที่ไม่มีวันย่อยสลาย (และส่งคืนรีไซเคิลน้อย) โดยใช้กล่องอาหาร-แก้วเครื่องดื่ม จากกระดาษและพลาสติกไบโอชีวภาพหรือ PLA (Polylactic acid หรือ Bioplastic ผลิตจากพืช เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย)
ผู้ก่อตั้ง Goodwill วุฒินันท์ แก้วสอาด เล่าว่า
“แรกเริ่มบริษัทเราทำเซรามิกส่งออกเมื่อปี 2004 มีโรงงานอยู่ลำปาง จากนั้นเราก็เริ่มทำโปรดักต์อื่น ๆ มองหาวัตถุดิบที่ไม่ใช่เซรามิก เมื่อมีฐานลูกค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์อาหาร เราก็ต่อยอดโดยเพิ่มวัตถุดิบตัวอื่น แต่เป็นรูปแบบการนำเข้าและเป็นดิสทริบิวเตอร์”
บรรจุภัณฑ์อาหาร ตอบสนองความต้องการไลฟ์สไตล์คนเมือง ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดปริมาณขยะมากขึ้น
“เราจึงมองหาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังคงตอบโจทย์การใช้งาน เราจึงรวบรวมอีโค-โปรดักต์ ทั้งกล่องอาหาร แก้วเครื่องดื่ม เช่นลูกค้าจะเปิดธุรกิจแล้วไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง มาปรึกษากับเราตั้งแต่งานออกแบบ การนำบรรจุภัณฑ์มาใช้ ดูแลด้านแพคเกจจิ้งครบวงจร”
วุฒินันท์ บอกว่า ช่วงโควิด-19 ถือเป็นเวลาพิเศษที่ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายแห่ง เริ่มมองหาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
“เราไม่ได้เน้นพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียม แต่พยายามเพิ่มสัดส่วนของกระดาษเพราะมันย่อยสลายได้ เราคุยกับลูกค้าว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทันทีทันใด ไม่ต้องถึง 100% เช่น กล่องกระดาษแต่ฝายังเป็นพลาสติกใส เพราะต้องการมองเห็นตัวสินค้า เราทำได้แค่ไหนก็แค่นั้นก่อน ค่อย ๆ ขยับ เช่นเปลี่ยนเป็นกระดาษก็คือเปลี่ยนได้ 70-80% แล้ว ดีที่เลิกใช้พลาสติก แต่มีอีกตัวคือไบโอพลาสติก หรือ PLA แต่ราคาค่อนข้างสูงหน่อย
ช่วงแรกจะป่วน แต่พอผ่านไปสักพักก็เริ่มมีเวลาคิด เช่น เราส่งพลาสติกไปให้ลูกค้า ๆ กินไม่เกินชั่วโมง อีกสองชั่วโมงกลายเป็นขยะแล้ว กินคนละกล่อง ๆ ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงก็กลายเป็นขยะ ตัวลูกค้าปลายทางก็บ่นเสียดาย พอลูกค้าปลายทางพูดแบบนี้เรื่อย ๆ ผู้ประกอบเขาก็อยากลดขยะ ช่วงโควิดจึงเป็นช่วงที่กล่องกระดาษขายดีมาก”
ผู้ดูแลกล่องอาหารรักษ์โลกอธิบาย
“ยังมีการเสริมฟังก์ชั่นใช้งานคือ กล่องเข้าฟรีซเซอร์ได้ เข้าไมโครเวฟได้ กันน้ำได้ดีกว่าปกติ เราก็ทำไลเนอร์หรือผิวเคลือบที่เป็น PP (Polypropylene) เวลาทิ้งลอกเฉพาะฟิล์มข้างหน้าไปทิ้ง ที่เหลือเป็นรีไซเคิล เราจะแนะนำลูกค้าว่านำไปใช้งานลักษณะไหน ต้องเก็บข้ามคืน แช่แข็ง ฯลฯ”
โลกเปลี่ยน ลูกค้าก็เปลี่ยน ขอเป็นจุดเปลี่ยนเพื่อดูแลโลก คนนำเสนอบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ให้ข้อมูลว่า
“กลุ่มลูกค้าที่คำนึงถึงภาพพจน์แบรนด์จะเปลี่ยน เขาจะมองหาบรรจุภัณฑ์ที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ต้องดูต้นทุนว่าสูงขึ้นเยอะมั้ย และฟังก์ชั่นการใช้งานว่าเขายังใช้งานได้ดีเหมือนเดิมมั้ย
เช่นแต่เดิมเราใช้หลอดพลาสติกดูดน้ำ พอเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษ บางคนบอกมันนิ่มเวลาแช่น้ำ หรือดูดไปจะติดริมฝีปาก แต่นิสัยคนไทยเท่าที่สำรวจพบว่าเราชอบกัดหลอดเล่น บางทีก็ดีดเล่น บางคนก็ชอบใช้หลอดกระแทกแรง ๆ บนน้ำแข็ง หลอดกระดาษก็จะไม่ทนทานพอ ผมคิดว่าเมื่อเราจะเป็น New Normal แล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างด้วย
ตามโรงแรมใหญ่ ๆ ใช้หลอดกระดาษหมดแล้ว ช่วงสองปีนี้เปลี่ยนไปเยอะครับ ในห้างและร้านเซเว่น ก็งดให้ถุงพลาสติก ถือว่าประสบความสำเร็จ ผมว่าตั้งแต่มีข่าวผลกระทบขยะที่เกิดกับสัตว์ทะเล ทำให้กระแสเกิดขึ้นเร็ว โดยเฉพาะรีสอร์ทที่อยู่ตามเกาะอยู่ติดทะเล เขาจะวิ่งหาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเลย เพราะลูกค้าถามหา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ”
เมื่อนำเสนอบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกพร้อมเทรนด์ดูแลโลก ทำให้ลูกค้าหลายรายเริ่มตระหนักพร้อมปรับเปลี่ยน
“จากที่เรามีฐานลูกค้าตอนที่ทำเซรามิก เราก็ทำแก้วเอสเพรสโซ่ให้กับลูกค้าหลายแบรนด์ เช่น แบล็คแคนยอน, แก้วกระดาษน้ำดื่มร้าน After You, กาแฟดอยช้าง, ดาว คอฟฟี่, กาแฟ วาวี และกล่องอาหารอีกหลายแบรนด์
เรานำเสนอลูกค้าให้เป็นทางเลือกว่า ถ้าเปลี่ยนจากพลาสติกไปจะใช้อะไร มีสองทางคือ ไบโอพลาสติก เช่น แก้วน้ำ ทำจากข้าวโพด หน้าตาเหมือนพลาสติกเป๊ะเลย ลูกค้าที่แต่เดิมใช้พลาสติกอยู่ก็มองว่า เป็นทางเลือกที่ดี อย่างดอยช้าง เลือกไบโอพลาสติกทั้งหมด
ส่วนอีกตัวเป็นกระดาษ มีสองทางเลือกด้วยคือ กระดาษเคลือบพลาสติกธรรมดา กับเคลือบ PLA ที่ย่อยสลายได้ 100% ลูกค้าเรา กาแฟดอยช้าง ก็ใช้แบบนี้ บางรายไม่ใช่ลูกค้าเราเขาก็ใช้ เช่น อินทนิล แต่การเปลี่ยนนี้ถ้าเป็นแบรนด์เล็ก ๆ อาจต้องคิดหน่อยเพราะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น”
ทุกวันนี้ ร้านกาแฟหลายแห่งขึ้นป้ายว่าใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก PLA ที่ย่อยสลายได้หมด ลูกค้าที่รัก...ถ้าคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มองหาป้ายเหล่านี้ที่มักจะติดอยู่ตามเคาน์เตอร์แล้วเลือกบริโภคสิ่งที่ดีต่อโลก
“แม้มีป้าย PLA ติดไว้ แต่ลูกค้าก็มีภาระต้องไปบอกลูกค้าของเขาอีกที ซึ่งตอนนี้กรุงเทพเปลี่ยนเยอะมาก แต่มีปัญหาคือ PLA ปัจจุบัน PLA ส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตในอเมริกา Naturework-USA กว่า 90% ดังนั้นไม่ว่าโรงงานบรรจุภัณฑ์จะอยู่ในไทยหรือจีน หรือที่อื่น ๆ ก็มักใช้วัตถุดิบ PLA resin จากแหล่งเดียวกัน รัฐบาลไทยเองมีแผนสนับสนุนโครงการเศรษฐกิจชีวภาพ และ ปตท.ก็กำลังสรุปว่าจะลงทุนเรื่องนี้หรือไม่ แต่ขณะนี้ไทยเรายังไม่ถึงเฟสที่มี PLA resin ของตัวเอง"
PLA เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง หน้าตาเหมือนเม็ดพลาสติกจากปิโตรเคมี แต่ย่อยสลายได้ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
“สิ่งของที่ทำจากพลาสติกทุกชนิด PLA ก็ทำได้หมด เมื่อแหล่งผลิตมีจำกัดแต่ความต้องการขยายไปแล้วทั่วโลก ทำให้ราคา PLA ขยับเร็ว ปัญหาคือเมื่อเราผลิตเองไม่ได้ และยังคงใช้พลาสติกต่อไปเราก็ต้องหาหนทางกำจัดขยะ
เมื่อกระแสรักษ์โลกมาแรง คนบอกฉันไม่อยากใช้พลาสติกแล้วแต่มีอะไรแทนได้บ้าง โดยราคาอยู่ในระดับที่รับได้และฟังก์ชั่นใช้งานเหมือนเดิม ถ้าเราเลี่ยงอาหารเดลิเวอรี่ไม่ได้ ก็ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนกิจกรรมใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด”
เข้าใจแล้วให้ลงมือทำ ให้เป็น New Normal
“เป็นโจทย์น่าคิดต่อคือ เดลิเวอรี่มีของทิ้งเยอะมาก จะจัดการยังไง เราพยายามคิดให้ยาวว่าท้ายสุดเมื่อสั่งอาหารมา มีเศษอาหารเหลือเราก็เอาไปทิ้งปนกับขยะดี ๆ พวกกระดาษ พลาสติกสะอาด ก็จะโดนเศษอาหารไปด้วย ถามว่าเมื่อ กทม.มาเก็บขยะมันก็ปนเปื้อนไปหมด ที่จริงกระบวนการแยกขยะสำคัญตั้งแต่ต้นทางคือที่บ้าน คำถามตามมาอีกว่าแล้วจะให้เอาเศษอาหารไปทิ้งที่ไหน”
อยากเป็นคนรักษ์โลกต้องไม่ขี้เกียจ ทางเลือกยังมี
“เรารณรงค์ชวนลูกค้าแยกเศษอาหารออกจากบรรจุภัณฑ์อื่น โดยออกแบบถุงที่ใช้ใส่เศษอาหารที่ย่อยสลายได้ทั้งหมด ภายในเวลา 6 เดือน ถ้าทิ้งกับรถ กทม.ไปกับรถขยะ ผ่านไป 6 เดือนมันจะกลายเป็นดิน ทั้งเศษอาหารและถุง เราจะชวนลูกค้าว่าพลาสติกแบบนี้ไว้ใส่เศษอาหาร ถ้ามีขยะกระดาษแยกใส่ถุงหนึ่ง พลาสติกแยกอีกถุง เราชวนลูกค้าล้างพลาสติก ตากแห้งไว้ จากนั้นรวมใส่ถุงแยกประเภทขยะ กทม.มาขยะพอเห็นว่าเราแยกแล้วเขาก็ยิ้มเอาไปขายได้ ไปรีไซเคิลได้ ขยะก็เป็นขยะสะอาด ส่วนที่เป็นเศษอาหารก็ย่อยสลายเป็นปุ๋ยไป
ส่วนตัวผมทำเองที่บ้านโดยฝังไว้ในดิน อีก 5 เดือนไปขุดมาดูไม่เหลือแล้ว เป็นดินหมดและปลูกต้นไม้ขึ้นด้วย คนอยู่คอนโดไม่สะดวกก็ส่งรถขยะไป เป็นการดูแลตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง”
Goodwill กำลังจะนำเสนอ ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ หรือ Home Composting ใช้ใส่ขยะอินทรีย์ สามารถฝังกลบที่บ้านหรือทิ้งไปกับรถขยะ เพื่อช่วยให้เปอร์เซ็นการนำพลาสติก กระดาษ ที่ใช้แล้วไปรีไซเคิลได้มากขึ้น ลดภาระโลก ลดมลพิษ
“ยังไม่วางขายอย่างเป็นทางการ ผมคิดว่าถ้าสิ่งเหล่านี้เราช่วยกันทำได้ ไม่ยากเกินไป ขยะ 100% จาก กทม.ที่ต้องจัดการจะหายไปเยอะมาก ถ้าขยะสะอาดแล้วมันก็รีไซเคิลได้ พอมีทางไปได้ถ้าเราช่วยกัน
นักสิ่งแวดล้อม Anne Marie Bonneau พูดไว้ว่า... เขาไม่คาดหวังให้คนทำอะไรที่เพอร์เฟ็คต์ ไม่ต้องทำให้ขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) แต่คาดหวังให้คนจำนวนมาก ๆ ทำอะไรที่ไม่เพอร์เฟ็คต์ คือขอทำแค่บางส่วนแต่เป็นจำนวนคนเยอะ ๆ ทำกันคนละนิดละหน่อยก็ช่วยรักษ์โลกได้”
มีทางออกที่สวยงามเพื่อดูแลโลกของเรา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะลงมือทำหรือไม่...
“ค่อย ๆ ทำเท่าที่ทำได้ และไม่ทำให้มันเครียด ทำให้มันสนุก คนละแค่ 20% บ้านเราก็เรียบร้อยขึ้น...”
ผู้ก่อตั้ง Goodwill กล่าวทิ้งท้าย...
ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม :
แก้วไบโอพลาสติกใส PLA, แก้วกระดาษเคลือบ PLA/PBS, ถ้วยไอศกรีม/ถ้วยซุปกระดาษเคลือบ PLA/PBS, กล่องอาหารกระดาษเคลือบ PLA, กล่องอาหารเยื่อกระดาษสำหรับอาหารแช่แข็ง, กล่องอาหารชานอ้อย, หลอดกระดาษ/ หลอด PLA, ชุดช้อนส้อมมีด PLA/ ชุดช้อนส้อมมีดไม้, ที่หิ้วแก้วทำจากกระดาษรีไซเคิล
หมายเหตุ : Goodwill โชว์รูมถนนคลองลำเจียก ซอยนวลจันทร์ โทร.02 943 8528-9, www.thaigoodwill.com, FB: GWretail